backup og meta

คอเลสเตอรอลกับผู้หญิง มาดูสิว่าเกี่ยวข้องกันยังไงบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 28/05/2021

    คอเลสเตอรอลกับผู้หญิง มาดูสิว่าเกี่ยวข้องกันยังไงบ้าง

    คอเลสเตอรอลเป็นสารที่พบในเลือดและเซลล์ของมนุษย์ หากปล่อยให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินกว่าระดับปกติ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษาให้ทันท่วงที อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ ภาวะคอเลสเตอรอลสูงส่งผลต่อทุกเพศทุกวัย และหากคุณเป็นผู้หญิง ลองมาดูสิว่า คอเลสเตอรอลกับผู้หญิง เกี่ยวข้องกันอย่างไร คอเลสเตอรอล หรือไขมัน สามารถส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิงได้อย่างไรบ้าง

    คุณประโยชน์ของ คอเลสเตอรอลกับผู้หญิง

    ร่างกายของเราใช้คอเลสเตอรอลในการสร้างปลอกประสาทที่หุ้มล้อมรอบเส้นประสาท อีกทั้งคอเลสเตอรอลยังช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตวิตามินดี และการผลิตน้ำดีซึ่งทำหน้าที่ย่อยอาหารได้ด้วย นอกจากนี้ คอเลสเตอรอลยังจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงฮอร์โมนเพศ อย่างเอสโตรเจน โปรเจสเทอโรน และเทสโทสเทอโรน หากระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ จะทำให้เซลล์สร้างกระดูกได้น้อยลง ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง และเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

    ความเสี่ยงสำหรับระดับคอเลสเตอรอลสูง

    คอเลสเตอรอลคือไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในเซลล์ทุกเซลล์ของร่างกาย คอเลสเตอรอลไม่สามารถละลายน้ำได้และจะเกาะติดกับโปรตีนชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า ไลโปโปรตีน เมื่อส่งผ่านไปยังระบบไหลเวียนเลือด คอเลสเตอรอลจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • คอเลสเตอรอล LDL (ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ) จัดเป็นคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือไขมันเลว ที่จะไปเกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น และตีบตัน
  • คอเลสเตอรอล HDL (ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง) จัดเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือไขมันดี ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอล LDL เกาะตามผนังหลอดเลือด หลอดเลือดจึงไม่ตีบตัน
  • โดยปกติ คอเลสเตอรอลถูกผลิตในตับของเราเกือบ 1000 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกอีกแหล่งหนึ่งของคอเลสเตอรอล นั่นก็คือสิ่งเรากินเข้าไป การได้รับคอเลสเตอรอลจำนวนมาก สามารถส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพระยะยาวในภายหลังได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต หัวใจวาย ตาบอด

    ยิ่งผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ภาวะความดันโลหิตสูงผิดปกติที่ปรากฎขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หากมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสูง ก็เสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ รวมไปถึงประวัติครอบครัว การสูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย อายุที่มากขึ้น โรคอ้วน และอาการทางการแพทย์อื่น ๆ

    คอเลสเตอรอลกับผู้หญิง จัดการอย่างไรดี

    อ้างอิงจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Health) ผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจคอเลอเตอรอลตั้งแต่วัย 20 ปี โดยหมอจะระบุว่าคุณควรเข้ามาเช็คระดับคอเลสเตอรอลของคุณบ่อยแค่ไหน โดยดูจากหัวข้อต่อไปนี้

  • ประวัติการสูบบุหรี่
  • พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์
  • ประวัติครอบครัวของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคอ้วน
  • ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงน้อยอาจเข้ารับการตรวจวัดคอเลสเตอรอลทุก ๆ 3-5 ปี ส่วนผู้ที่บริโภคยาลดระดับคอเลสเตอรอล จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจบ่อย ๆ จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อย ควรรักษาระดับคอเลสเตอรอลไว้ให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรมีระดับของคอเลสเตอรอล LDL ต่ำกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และควรมีคอเลสเตอรอล HDL อย่างน้อย 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างต่อโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหัวใจ ควรรักษาระดับคอเลสเตอรอล LDL ให้ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

    ผู้หญิงสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลและอาการทางการแพทย์ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร การเลิกสูบบุหรี่ การรับประทานยารักษาโรค อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ได้คำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 28/05/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา