backup og meta

อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เป็นมะเร็งเต้านม ควรกินอะไรเพิ่มดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/07/2020

    อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เป็นมะเร็งเต้านม ควรกินอะไรเพิ่มดี

    ถ้าหากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งเต้านม นอกจากการรับประทานอาหารปกติในชีวิตประจำวันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว คุณก็ควรเพิ่มอาหารเสริมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน สมุนไพร สารต้านอนุมูลอิสระ การรับประทาน อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ในช่วงที่คุณเป็นมะเร็งเต้านม จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของคุณให้แข็งแรง และช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่คุณกำลังรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้ด้วย อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ที่คุณควรรับประทานในช่วงเป็นมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

    อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เต้านม

    1. สารต้านอนุมูลอิสระ

    สารต้านอนุมูลอิสระ หรือแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) จำพวก วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และซีลีเนียม (Selenium) สามารถช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ในช่วงที่ทำเคมีบำบัดและฉายรังสีบำบัดได้ นอกจากนี้ วิตามินซี และวิตามินอี ยังช่วยลดอาการเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย

    แม้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระจะเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ แต่ในบางกรณี การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิดในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน

    คุณสามารถหาสารต้านอนุมูลอิสระได้จากผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ส้ม แอปเปิล แครอท พริก มัลเบอร์รี่หรือลูกหม่อน สับปะรด ทับทิม แคนตาลูป หรือสามารถหาซื้ออาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระได้ตามร้านขายยาหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แม้สารต้านอนุมูลอิสระจากผักผลไม้จะให้ผลที่ดีกว่า แต่ในกรณีจำเป็น คุณก็สามารถบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระที่มาในรูปแบบอาหารเสริมแทนได้ เพียงแต่ต้องควบคุมปริมาณให้ดี อย่าบริโภคอาหารเสริมเกินปริมาณที่กำหนดเป็นอันขาด

    2. ชาเขียว

    ชาเขียว คืออีกหนึ่งอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ช่วยให้คุณสามารถต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ เนื่องจากโรคมะเร็งเต้านมนั้น เกิดจากการที่เซลล์เต้านมเติบโตอย่างผิดปกติ และกลายเป็นเนื้อร้าย สารในชาเขียวจะสามารถช่วยชะลอ หรือป้องกันการเติบโตที่ผิดปกติของหลอดเลือดในเนื้องอกพวกนี้ได้ ปัจจุบันมีชาเขียวให้เลือกซื้อมาบริโภคมากมายหลายรูปแบบ ทั้งแบบใบชาอบแห้ง ผงชาเขียว สำหรับนำมาชงเป็นเครื่องดื่ม หรือปรุงในอาหารอื่นๆ รวมถึงชาเขียวในรูปแบบอาหารเสริมด้วย

    3. เห็ด

    ปัจจุบันสารสกัดจากเห็ดถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย สารบางอย่างในเห็ดสามารถช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงเซลล์มะเร็งเต้านมด้วย นอกจากนี้ ยังมีสารชนิดอื่น เช่น เลนทิแนน (lentinan) ที่สามารถยับยั้งเอ็นไซม์ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งได้ อีกทั้งสารเบต้ากลูแคนในเห็ด ก็ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเนื้อร้ายได้เช่นกัน เห็ดจึงจัดเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวด

    4. กระเทียม

    มีงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่า คนที่บริโภคกระเทียมเป็นจำนวนมาก เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งน้อยกว่าคนที่บริโภคกระเทียมน้อยกว่า หรือไม่บริโภคกระเทียมเลย กระเทียมสามารถช่วยในการรักษา และป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้ สารบางอย่างในกระเทียมยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้

    5. ขิง

    การรักษาโรคมะเร็งเต้านม อาจทำให้คุณมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเหนื่อยล้าได้ ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจนำไปสู่การขาดสารอาหาร และปัญหาน้ำหนักตัวลดลงอย่างฮวบฮาบ หรือน้ำหนักลดจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ คุณก็จะเริ่มอ่อนแอลง ทำให้ยิ่งต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ยากขึ้น การรับประทานขิง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของขิงสดที่ทำไปปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ขิงผงสำหรับชงดื่ม หรือขิงในรูปแบบอาหารเสริม ก็สามารถช่วยให้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้าดีขึ้นได้ โดยคุณสามารถรับประทานายารักษาอาการคลื่นไส้วิงเวียน และเสริมด้วยการบริโภคขิงก็ได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น

    อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเหล่านี้ ช่วยให้คุณรับมือกับโรคมะเร็งเต้านมได้ดีขึ้นก็จริง แต่คุณก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะรับประทานอาหารเหล่านี้ในรูปแบบอาหารเสริมหรือสารสกัด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการรักษา หรือเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ การบริโภคอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ตามคำแนะนำของแพทย์ และไม่บริโภคเกินขนาด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา