backup og meta

ทำความรู้จัก ยาที่อันตรายต่อไต กินผิดอาจไตพัง ไตมีปัญหา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ทำความรู้จัก ยาที่อันตรายต่อไต กินผิดอาจไตพัง ไตมีปัญหา

    เมื่อคุณรับประทานยา ไม่ว่าจะเป็นยาประเภทไหน ตัวยาจะผ่านเข้าสู่ไตของคุณ ดังนั้น หากคุณไม่รับประทานยาอย่างเหมาะสม หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือหากตัวยาเป็นยาผิดกฏหมาย ไตของคุณอาจได้รับผลกระทบได้ในระดับเบาจนถึงรุนแรง และนี่คือสารพัด ยาที่อันตรายต่อไต ที่อาจทำให้ไตของคุณเสียหายหรือไตพังได้

    ยาที่อันตรายต่อไต

    ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์

    ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยาอะเซตามิโนเฟน รวมถึงชนิดที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ถือเป็นยาที่ไม่ควรใช้เป็นประจำทุกวัน ใช้บ่อยเกินไป หรือใช้ยาเกินขนาด เพราะสามารถทำให้ไตมีปัญหาได้ จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมากกว่า 5% เกิดจากการกินยาแก้ปวดเกินขนาด

    ยาปฏิชีวนะ

    ยาปฏิชีวนะสามารถสร้างความเสียหายกับไตได้มากมายขึ้นอยู่กับชนิดของยา เช่น ทำให้ปัสสาวะติดขัด ทำลายเซลล์ไต หรือบางคนอาจมีปฏิกริยาแพ้ยาปฏิชีวนะที่ส่งผลกระทบต่อไตได้ และหากคุณกินยาปฏิชีวนะผิดวิธีหรือกินพร่ำเพรื่อก็จะยิ่งทำให้ไตของคุณเสียหายมากขึ้นไปอีก ทั้งผู้ที่เป็นโรคไตและผู้ที่สุขภาพไตแข็งแรงดีไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะเอง การใช้ยาปฏิชีวนะควรอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น

    ยาขับปัสสาวะ

    ยาขับปัสสาวะเป็นยาในกลุ่มยาขับน้ำ (Water Pills) แพทย์มักสั่งจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยเพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง อาการบวมน้ำ เป็นต้น ยาขับปัสสาวะจะช่วยกำจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งส่งผลเสียต่อไตของคุณได้

    ยาระบายที่สั่งจ่ายโดยแพทย์

    ว่ากันตามหลักการทั่วไป ยาระบายที่ซื้อตามร้านขายยามีความปลอดภัยสำหรับหลายๆ คน อย่างไรก็ตาม ยาระบายบางชนิดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ เช่น ยาระบายเพื่อล้างลำไส้ ในกรณีที่ต้องทำการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจเป็นอันตรายต่อไตได้

    ยาในกลุ่ม PPIs

    ยาในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors หรือ PPIs เป็นยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่ใช้เพื่อโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะ เช่น กรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็ก มีงานศึกษาวิจัยที่พบว่า การกินยาในกลุ่ม PPIs ติดต่อกันเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพไตที่อาจนำไปสู่โรคไตวายได้

    ยาเสพติด

    ยาเสพติด เช่น ยาอี (ecstasy) เฮโรอีน (heroin) โคเคน (cocaine) แอมเฟตามีนหรือยาบ้า สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และทำให้ไตเสียหายได้ด้วย การใช้ยาเสพติดเพียงแค่ครั้งเดียวก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้น คุณจึงไม่ควรคิดลองใช้ยาเสพติดเป็นอันขาด

    สารสีทึบรังสี

    สารสีทึบรังสี (contrast dye) ใช้ในเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคบางชนิด เช่น เครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT Scan) ซึ่งสารสีทึบรังสีนี้ก็สามารถส่งผลเสียต่อไตได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคไต

    อาหารเสริม

    การใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิดอาจทำให้ไตของคุณมีปัญหาได้ แม้ว่าคุณจะสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม ฉะนั้น ก่อนใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรใดๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ดี และปรึกษาแพทย์ก่อนดีที่สุด

    ไม่อยากไตพัง ควรกินยาอย่างไรดี

    • ใช้ยา ทั้งยารักษาโรค สารเสพติดที่ใช้ทางการแพทย์ เป็นต้น ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
    • อย่ารับประทานยาที่ได้จากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนใกล้ชิดก็ตาม
    • หากใช้ยาใดแล้วรู้สึกไม่สบาย ควรติดต่อแพทย์ทันที
    • หากคุณเป็นโรคไตหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคไต ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) หรือตรวจทางรังสีวิทยาทุกครั้ง

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา