backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กระดูกคอหัก (Cervical fracture)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

กระดูกคอหัก (Cervical fracture)

กระดูกคอหัก คือการหักหรือการแตกที่กระดูกคอชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับไขสันหลังบริเวณกระดูกคอ จนทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตทั่วร่างกาย นับจากบริเวณคอลงมา

คำจำกัดความ

กระดูกคอหัก คืออะไร

กระดูกคอประกอบด้วยกระดูกต่างๆ ทั้งหมด 7 ชิ้น ทำหน้าที่พยุงศีรษะ และเชื่อมระหว่างศีรษะกับไหล่และร่างกาย การหักหรือการแตกที่กระดูกคอชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หรือกระดูกคอหัก (Cervical fracture) มักเรียกว่าคอหัก (broken neck)

อาการบาดเจ็บใดๆ ที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง สามารถส่งผลรุนแรง เนื่องจากไขสันหลังเป็นจุดเชื่อมต่อของระบบประสาทส่วนกลาง ระหว่างสมองและร่างกาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไขสันหลัง อาจทำให้เกิดอาการอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ โดยอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับไขสันหลังบริเวณกระดูกคอ เกิดอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตทั่วร่างกาย นับจากบริเวณคอลงมา

กระดูกคอหักพบบ่อยเพียงใด

กระดูกคอหักพบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการกระดูกคอหัก

เมื่อกระดูกคอหัก มักเกิดอาการเบื้องต้น คือ อาการปวดคอ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับอาการทางประสาท หรืออาการอ่อนแรงหากเส้นประสาทไว โดยอาการกระดูกคอหักนี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องระวังระวังเป็นอย่างมาก ไม่ควรให้เกิดขึ้นเนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บอื่นๆ กับกระดูกสันหลังหรืออวัยวะอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วยก็ได้

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากคอได้รับบาดเจ็บ คุณไม่ควรเคลื่อนไหวคอหรืออวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้อง จนกว่าจะมีการตรวจเอ็กซเรย์ หากผู้ป่วยหมดสติ แพทย์จะเป็นผู้สันนิษฐานว่า ผู้ป่วยที่หมดสติมีอาการบาดเจ็บที่คอหรือไม่ แล้วค่อยดำเนินการรักษาตามสถานการณ์ต่อไป

สาเหตุ

สาเหตุของ กระดูกคอหัก

กระดูกคอหักมักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง จนทำให้กระดูกสันหลังส่วนคอได้รับบาดเจ็บ เช่น

  • ตกจากที่สูง
  • อุบัติเหตุทางรถยนต์ เช่น รถชน รถคว่ำ
  • นักฟุตบอลพุ่งปะทะนักฟุตบอลคู่แข่ง
  • ผู้เล่นฮ็อกกี้น้ำแข็งถูกกระแทก จนชนกับสิ่งกีดขวางอย่างจัง
  • นักยิมนาสติกหลุดจากบาร์โหน แล้วตกลงมา
  • นักกระโดดน้ำกระแทกกับก้นสระว่ายน้ำที่ตื้นเกินไป

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกคอหัก

  • อายุที่มากขึ้น
  • กระดูกพรุน
  • ป่วยเป็นโรคหรือมีภาวะที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก หรือแร่ธาตุ เช่น วัยหมดประจำเดือน
  • เล่นกีฬาที่เสี่ยงกระดูกคอหัก เช่น ฟุตบอล รักบี้

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย กระดูกคอหัก

ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่คอแบบเฉียบพลัน และยังคงรู้สึกตัว อาจมีปวดคอรุนแรง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดที่ลุกลามจากคอไปยังไหล่หรือแขน ซึ่งเกิดจากกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท และอาจมีแผลฟกช้ำและอาการบวมบริเวณด้านหลังคอ โดยแพทย์จะทำการตรวจทางประสาทวิทยาโดยละเอียดเพื่อประเมินการทำงานของเส้นประสาท และอาจให้มีการตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการตรวจซีทีสแกน (CT scan) เพิ่มเติม เพื่อตรวจหาความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ

การรักษากระดูกคอหัก

การรักษากระดูกคอหักขึ้นอยู่กับว่า กระดูกคอชิ้นใดได้รับความเสียหาย และเกิดการหักในรูปแบบใด หากเกิดจากการกดทับที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาได้โดยใช้การดามคอ โดยผู้ป่วยต้องสวมใส่เฝือกอ่อนดามคอเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ หรือจนกว่ากระดูกจะหายดี แต่หากรูปแบบการหักมีความซับซ้อน และอยู่ในบริเวณกว้างมาก อาจต้องใช้การดึง การผ่าตัด หรือเข้าเฝือกแข็งเป็นเวลา 2-3 เดือน หรืออาจต้องใช้วิธีการรักษาต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับกระดูกคอหัก

สำหรับนักกีฬา การพัฒนาอุปกรณ์กีฬาและการเปลี่ยนแปลงกฏกติกาของกีฬาต่างๆ ช่วยลดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกคอหักตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สำหรับบุคคลทั่วไป มีวิธีการป้องกันตนเองและคนในครอบครัวไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจนกระดูกคอหักได้ดังนี้

  • ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอเมื่อขับรถ
  • ห้ามกระโดดลงสระว่ายน้ำที่ตื้น และควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเมื่อต้องว่ายน้ำหรือกระโดดน้ำ
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมสำหรับการเล่นกีฬาและปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น การให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายและอุปกรณ์กันกระแทก เป็นต้น

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา