backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (colon polyp)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (colon polyp)

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เป็นการจับตัวเป็นกลุ่มเซลล์ขนาดเล็กของเซลล์บริเวณเยื่อลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย แต่ในบางครั้ง สามารถกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

คำจำกัดความ

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่คืออะไร

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (Colon polyp) เป็นการจับตัวเป็นกลุ่มเซลล์ขนาดเล็กของเซลล์บริเวณเยื่อลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย แต่ในบางครั้ง สามารถกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งมักเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเมื่อตรวจพบในระยะท้ายๆ

สาเหตุของการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่โดยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบชัดเจน ดังนั้น การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เนื่องจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่ตรวจพบในระยะเริ่มแรกมักผ่าตัดออกได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย การตรวจคัดกรองติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่เป็นประจำจึงถือเป็นการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่พบบ่อยเพียงใด

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่สามารถส่งผลได้ต่อคนทุกวัย แต่สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ก่อให้เกิดอาการดังนี้

  • มีเลือดออกทางทวารหนัก อาการนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ของทั้งติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือภาวะอื่นๆ ได้ เช่น ริดสีดวงทวาร และแผลขนาดเล็กที่ทวารหนัก
  • สีอุจจาระเปลี่ยน เนื่อจากมีเลือดปน โดยอาจสังเกตเห็นเป็นรอยสีแดงหรือดำในอุจจาระ อย่างไรก็ตาม สีอุจจาระที่เปลี่ยนไปอาจเกิดจากการกินอาหาร ยา หรืออาหารเสริมบางชนิดได้อีกด้วย
  • การขับถ่ายเปลี่ยนแปลง อาการท้องผูกหรือท้องร่วงเป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ขนาดใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนนิสัยการขับถ่ายได้เช่นกัน
  • อาการปวด คลื่นไส้ หรืออาเจียน ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ขนาดใหญ่สามารถอุดตันลำไส้เป็นบางส่วน ทำให้เกิดอาการปวดตะคริวที่หน้าท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนได้
  • ภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ภาวะเลือดออกจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ทีละน้อยโดยไม่มีเลือดที่สังเกตเห็นได้ในอุจจาระ ภาวะเลือดออกเรื้อรังทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็กซึ่งช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจนไปยังร่างกาย เมื่อขาดธาตุเหล็ก ก็ทำให้เกิดภาวะเลือดจางซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยและหายใจลำบาก

อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อใด

คุณควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้

  • ปวดท้อง
  • มีเลือดปนในอุจจาระ
  • การขับถ่ายเปลี่ยนไปเป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์

หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อคำถามใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

สาเหตุของการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่อาจเกิดจากการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อผิดปกติ โดยปกติ ร่างกายจะสร้างเซลล์ที่แข็งแรงขึ้นใหม่เป็นระยะเพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่เสียหายหรือไม่จำเป็นอีกต่อไป การเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ใหม่มักถูกควบคุมให้อยู่ในระดับเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี เซลล์ใหม่มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวก่อนเป็นที่ต้องการ ทำให้มีการเจริญเติบโตมากเกินไปทำให้เกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ขึ้น โดยสามารถเกิดขึ้นในบริเวณใดของลำไส้ใหญ่ก็ได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เช่น

  • มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน
  • มีประวัติครอบครัวมีติ่งเนื้อหรือเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เคยตรวจติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มาก่อน
  • เคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งมดลูกก่อนอายุ 50 ปี
  • มีภาวะติดเชื้อที่ส่งผลต่อลำไส้ใหญ่ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
  • เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ที่ไม่ได้รับการควบคุม
  • มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการลินช์ (Lynch syndrome) หรือกลุ่มอาการการ์ดเนอร์ (Gardner’s syndrome)
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • มีไลฟ์สไตล์ที่ไค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

แพทย์จะตรวจอาการต่างๆ ทางร่างกายเป็นสิ่งแรก หากสงสัยว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ อาจให้มีการทดสอบบางประการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ได้แก่

  • การตรวจอุจจาระ การตรวจ fecal immunochemical test (FIT) และการตรวจ fecal occult blood test (FOBT) นั้น เป็นการตรวจตัวอย่างอุจจาระเพื่อหาสิ่งบ่งชี้ของโรคมะเร็ง
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ในการทดสอบนี้ แพทย์จะใส่ท่อขนาดเล็กที่ติดตั้งกล้องเข้าไปในลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ หากพบก็สามารถกำจัดติ่งเนื้อได้เลยในคราวเดียว
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย การทดสอบนี้คล้ายกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ยกเว้นท่อติดตั้งกล้องที่ใช้ส่องจะสั้นกว่า แพทย์จึงสามารถตรวจลำไส้ใหญ่เฉพาะส่วนปลายได้เท่านั้น โดยแพทย์สามารถกำจัดติ่งเนื้อที่พบได้ในระหว่างการทดสอบนี้
  • การตรวจคัดกรองอื่นๆ ได้แก่ การตรวจดีเอ็นเอในอุจจาระ และการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

การรักษาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

แพทย์อาจกำจัดนำติ่งเนื้อทั้งหมดที่ตรวจพบในระหว่างการตรวจลำไส้ โดยมีทางเลือกในการกำจัดติ่งเนื้อ ได้แก่

  • การกำจัดติ่งเนื้อในระหว่างการตรวจคัดกรอง ติ่งเนื้อส่วนใหญ่สามารถกำจัดออกได้โดยปากคีบหรือห่วง โดยมีการฉีดของเหลวเข้าที่บริเวณใต้ติ่งเนื้อเพื่อดันขึ้นจากผนังลำไส้ และตัดออก หากติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 2 เซ็นติเมตร อาจต้องฉีดของเหลวข้างใต้ติ่งเนื้อเพื่อยกและแยกติ่งเนื้อจากเนื้อเยื่อโดยรอบเพื่อให้สามารถตัดออกได้
  • การผ่าตัดแบบแผลเล็ก ติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่เกินไปหรือไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัยในระหว่างการตรวจคัดกรองมักถูกตัดออกโดยใช้วิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก
  • การผ่าตัดลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง จะถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย เช่น กลุ่มอาการ FAP โดยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงออกไปทั้งหมด

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้

  • รับประทานผลไม้ ผัก และธัญพืชเต็มเมล็ด
  • ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดง และอาหารแปรรูป
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายและรักษาน้ำหนักให้เหมาะสม
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานแคลเซียม มีงานวิจัยเผยว่าการบริโภคแคลเซียมเพิ่มขึ้นอาจช่วยป้องกันการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าแคลเซียมมีประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่
  • การใช้ยาแอสไพริน การใช้ยาแอสไพรินเป็นประจำอาจลดความเสี่ยงในการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาแอสไพรินโดยละเอียด
  • ประวัติครอบครัว หากมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ให้พิจารณาการเข้ารับคำปรึกษาทางพันธุกรรม หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ จำเป็นต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นประจำตั้งแต่ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา