backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic Headache)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic Headache)

คำจำกัดความ

ปวดศีรษะเรื้อรังคืออะไร

หลายคนอาจมีอาการปวดหัว หรือปวดศีรษะอยู่เป็นประจำ แต่ถ้ามีอาการปวดติดต่อกันหลายวัน ก็เป็นไปได้ที่ผู้เกิดอาการอาจมีภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง

เนื่องจากอาการปวดศีรษะเรื้อรังมักเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถูกจัดอยู่ในประเภทอาการปวดศีรษะที่รุนแรงที่สุดชนิดหนึ่ง การเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการจัดการในระยะยาวอาจช่วยลดความเจ็บปวดจากอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้

ปวดศีรษะเรื้อรังพบได้บ่อยเพียงใด

อาการปวดศีรษะเรื้อรังพบได้ทั่วไป มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และเกิดขึ้นได้ในทุกวัย สามารถควบคุมได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการปวดศีรษะเรื้อรัง

อาการปวดศีรษะเรื้อรังตามคำจำกัดความ ก็คือ เกิดอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องนาน 15 วันหรือมากกว่าต่อเดือน และเกิดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน และภาวะปวดศีรษะปฐมภูมินั้นไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ

ภาวะปวดศีรษะเรื้อรังมีทั้งแบบที่เป็นในระยะสั้นและระยะยาว ภาวะระยะยาวนั้นอาจเกิดอาการปวดศีรษะต่อเนื่องมากกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งประกอบด้วยอาการปวดศีรษะประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ไมเกรนเรื้อรัง
  • ปวดศีรษะจากความเครียดเรื้อรัง
  • ปวดศีรษะแบบสม่ำเสมอ
  • ปวดศีรษะข้างเดียวแบบเป็นๆ หายๆ แต่ไม่เคยหายสนิท

1.ไมเกรนเรื้อรัง

ปกติแล้วอาการปวดศีรษะชนิดนี้ จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เคยมีประวัติปวดศีรษะไมเกรนมาก่อน ผู้เกิดอาการจะปวดศีรษะไมเกรนมากกว่า 8 วันต่อเดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน โดยอาการของไมเกรนมีดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • รู้สึกปวดศีรษะแบบตุบๆ
  • ปวดศีรษะระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง
  • อาการกำเริบแรงขึ้นเมื่อใช้ร่างกายทำกิจวัตรประจำวัน

ไมเกรน อาจก่อให้อาจอาการต่อไปนี้ร่วมด้วยได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือทั้งสองอย่าง
  • มีปฏิกิริยาอ่อนไหวต่อการรับแสงและได้ยินเสียง

2. ปวดศีรษะจากความเครียดเรื้อรัง

ปวดศีรษะจากความเครียดมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะทั้งสองข้าง
  • ปวดศีรษะระดับอ่อนๆ ถึงปานกลาง
  • รู้สึกปวดศีรษะแบบถูกกด ถูกบีบรัด ไม่ใช่ปวดแบบตุบๆ
  • อาการไม่กำเริบเมื่อใช้ร่างกายทำกิจวัตรประจำวัน
  • ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดตึงทั้งศีรษะ

3. ปวดศีรษะแบบสม่ำเสมอ

อาการปวดศีรษะชนิดนี้มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ปกติแล้วจะเกิดในกลุ่มคนที่ไม่เคยมีประวัติปวดศีรษะมาก่อน และจะเกิดอาการซ้ำขึ้นอีกครั้งภายใน 3 วันหลังจากปวดศีรษะครั้งแรก อาการของการปวดศีรษะแบบสม่ำเสมอจะมีอาการเฉพาะที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนอย่างน้อย 2 ประการจากอาการด้านล่างนี้

  • ปวดศีรษะทั้งสองข้าง
  • รู้สึกปวดศีรษะแบบถูกกด ถูกบีบรัด ไม่ใช่ปวดแบบตุบๆ
  • ปวดศีรษะระดับอ่อนๆ ถึงปานกลาง
  • อาการไม่กำเริบขณะทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ

4. ปวดศีรษะข้างเดียวแบบเป็นๆ หายๆ

อาการมีดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะข้างเดียว
  • ปวดศีรษะทุกวันอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยหายปวดสนิท
  • ปวดศีรษะระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง
  • ตอบสนองต่อยาแก้ปวดชนิดอินโดเมทาซิน (Indocin)
  • บางครั้งอาจปวดศีรษะระดับรุนแรง พร้อมกับมีอาการคล้ายไมเกรนร่วมด้วย

นอกจากนี้ ภาวะปวดศีรษะแบบเป็นๆ หายๆ มักเกี่ยวข้องกับหนึ่งในอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวดตา หรือตาแดงในข้างที่ปวดศีรษะ
  • คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
  • หนังตาตก หรือ รูม่านตาหดตัว
  • รู้สึกกระสับกระส่าย

อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์

ปวดศีรษะเรื้อรัง ควรไปพบหมอเมื่อใด

คุณควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้

  • ปวดศรีษะมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลาหลายวัน
  • ต้องใช้ยาแก้ปวดเกินกว่าขนาดที่เภสัชกรตามร้านขายยาแนะนำ
  • รูปแบบของอาการปวดศีรษะเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น หรือมีอาการปวดแย่ลง
  • อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ คุณควรรีบพบหมอทันทีหากมีอาการปวดศีรษะดังต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดศีรษะรุนแรงอย่างกะทันหัน
  • ปวดศีรษะ มีไข้ เมื่อยคอ สับสน ชัก เห็นภาพซ้อน อ่อนแรง มึนงง หรือ มีปัญหาในการพูด เป็นต้น
  • เกิดอาการปวดศีรษะหลังได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • อาการแย่ลงแม้จะได้พัก หรือรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง

สาเหตุของภาวะปวดศีรษะเรื้อรังยังไม่ทราบแน่ชัด อาการปวดศีรษะเรื้อรังแบบปฐมภูมิก็ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ และความเป็นไปได้ที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะปวดศีรษะเรื้อรังแบบทั่วไป ประกอบด้วย

  • หลอดเลือดเกิดการอักเสบหรือมีปัญหาอื่นๆ บริเวณในหรือรอบสมอง รวมถึงอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน
  • มีอาการติดเชื้อ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • มีระดับความดันผิดปกติ ซึ่งเป็นได้ทั้งความดันสูงเกินไปและต่ำเกินไป
  • ป่วยเป็นมะเร็งสมอง
  • ได้รับบาดเจ็บที่สมอง
  • โรคปวดศีรษะเพราะใช้ยาเกิน อาการปวดศีรษะชนิดนี้ปกติมักเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะแบบครั้งคราว ซึ่งหมายถึงไมเกรนและปวดศีรษะจากความเครียด ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเพราะรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป หากคุณใช้ยาแก้ปวด แม้จะเป็นยาที่เภสัชกรจากร้านขายยาแนะนำก็ตาม มากกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ (หรือ 9 วันต่อเดือน) คุณก็อาจเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคปวดศีรษะเพราะใช้ยาเกินได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดศีรษะเรื้อรัง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ประกอบไปด้วย

  • เพศ เพศหญิงอาจจะพบอาการนี้ได้ค่อนข้างง่าย
  • ความวิตกกังวล
  • ความซึมเศร้า 
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ
  • โรคอ้วน
  • นอนกรน
  • บริโภคคาเฟอีนมากเกินไป 
  • รับประทานยาแก้ปวดหัวมากเกินไป
  • มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดอื่นๆ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง

คุณหมออาจจะตรวจหาสัญญาณของอาการ เพื่อดูว่าเกิดปัญหาจากอาการป่วยหรือเป็นปัญหาทางระบบประสาท รวมถึงอาจมีการซักถามประวัติเรื่องอาการปวดศีรษะ

หากยังไม่ทราบสาเหตุของอาการปวดหัวอย่างแน่ชัด คุณหมออาจจะให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจซีที สแกน หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจดูว่าคุณมีโรคประจำตัวอะไรบ้างหรือไม่

การรักษาอาการ ปวดศีรษะเรื้อรัง

การรักษาโรคหรือภาวะสุขภาพที่มีอยู่ก่อนแล้วมักสามารถหยุดอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้ เมื่อไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน การรักษาก็จะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันความเจ็บปวด

วิธีการป้องกันอาการปวดศีรษะนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการปวดศีรษะของแต่ละคน รวมถึงต้องพิจารณาด้วยว่าอาการปวดศีษะที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการใช้ยาเกินหรือไม่

หากคุณใช้ยาแก้ปวดมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์อยู่แล้ว ขั้นแรกที่คุณต้องทำก็คือหยุดยาโดยทันที และรับคำปรึกษาจากแพทย์

เมื่อคุณพร้อมเข้าสู่กระบวนการรักษาเชิงป้องกัน คุณหมออาจมีข้อแนะนำให้ดังต่อไปนี้

  • ป้องกันด้วยยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) เช่น ยานอร์ทริปไทลีน (Pamelor) ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาภาวะปวดศีรษะเรื้อรังได้เช่นกัน นอกจากยาชนิดนี้จะสามารถรักษาโรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวลได้แล้ว ยังรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งบ่อยครั้งมักก่อให้เกิดปวดศีรษะเรื้อรังตามมาด้วย
  • ป้องกันด้วยยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มอื่น อย่างเช่น กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเฉพาะการดูดกลับ serotonin (SSRI) ยาฟลูออกซิทีน (Prozac, Sarafem, และอื่นๆ) แต่ไม่มีรายงานที่ระบุว่ายากลุ่มนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้ยาหลอกสำหรับคนไข้ปวดศีรษะแต่อย่างใด
  • ป้องกันด้วยยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) ปกติแล้วยาในกลุ่มนี้จะใช้รักษาคนไข้ความดันโลหิตสูง แต่ก็ยังช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนได้อีกด้วย ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์บางตัวประกอบด้วย ยาอะทีโนลอล (Tenormin) ยาเมโทโพรลอล (Lopressor, Toprol-XL) และยาโพรพราโนลอล (Inderal, Innopran XL) เป็นต้น
  • ป้องกันด้วยยากันชัก ยากันชักบางชนิดดูเหมือนจะสามารถป้องกันไมเกรนและอาจใช้ป้องกันภาวะปวดศีรษะเรื้อรังได้เช่นกัน ยาที่เป็นทางเลือกสำหรับคนไข้นั้นประกอบไปด้วย ยาโทพิราเมท (Topamax, Qudexy XR, และอื่นๆ) ยาไดวาลโปรเอ็กซ์ (Depakote) และยากาบาเพนติน (Neurontin, Gralise) เป็นต้น
  • ป้องกันด้วยกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ เช่น ยานาพรอกเซน (Anaprox, Naprelan) ก็อาจเป็นสิ่งที่ช่วยได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณหยุดยาแก้ปวดชนิดอื่น และอาจต้องรับประทานเป็นระยะๆ หากอาการปวดศีรษะนั้นรุนแรงมากขึ้น
  • ป้องกันด้วยการทำชีวพิษโบทูลินัม ชีวพิษโบทูลินัม รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า โบท็อกซ์ (Botox) ซึ่งเป็นการฉีดสารสกัดที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วยบางคน และอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ทนอาการปวดศีรษะเรื้อรังไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังบางรายยังคงมีอาการอยู่ แม้จะทำทุกวิธีตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้วก็ตาม

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยรับมือกับภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือกับภาวะปวดศีรษะเรื้อรังได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น

  • การฝังเข็ม เป็นศาสตร์การรักษาที่มีมาตั้งแต่โบราณ ว่าด้วยการนำเข็มมาปักบนส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นในการวิจัยบางส่วนเปิดเผยว่า วิธีฝังเข็มอาจช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะเรื้อรังลงได้จริง
  • คุณอาจสามารถควบคุมอาการปวดศีรษะได้ โดยการสังเกตความเปลี่ยนแปลงการตอบสนองของร่างกาย เช่น ความปวดตึงของกล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของผิว เป็นต้น
  • การนวดสามารถลดความเครียด คลายความเจ็บปวด และทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นการรักษาอาการปวดศีรษะโดยตรงก็ตาม แต่การนวดอาจจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการคลายความรู้สึกตึงแน่นบริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังศีรษะ ต้นคอและหัวไหล่ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะลงได้ในระดับหนึ่ง
  • การใช้สมุนไพร วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ โดยมีหลักฐานที่พิสูจน์แล้วว่าสมุนไพรอย่าง เฟเวอร์ฟิว (feverfew) และบัตเตอร์เบอร์ (butterbur) อาจช่วยป้องกันหรือลดความรุนแรงของไมเกรนลงได้จริง การทานไรโบเฟลวิน (วิตามินบี 2) มากๆ ก็อาจช่วยลดการเกิดไมเกรนได้เช่นกัน
  • โคเอนไซม์ คิวเท็น (Coenzyme Q10) การรับประทานอาหารเสริมอาจช่วยได้กับผู้ป่วยบางท่าน นอกจากนี้ อาหารเสริมที่ประกอบด้วยแมกนีเซียมซัลเฟต ก็อาจช่วยลดความถี่ของการเกิดภาวะปวดศีรษะได้ในบางคนเช่นกัน แม้จะยังไม่มีผลวิจัยรองรับเลยก็ตาม โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนว่าการรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะสมกับคุณหรือไม่ ข้อควรระวังคือ ห้ามทานไรโบเฟลวิน (วิตามินบี 2) เฟเวอร์ฟิวและบัตเตอร์เบอร์เด็ดขาดหากคุณตั้งครรภ์อยู่
  • การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าที่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอย โดยใช้วิธีผ่าตัดฝังอิเล็กโทรด (Electrodes) ที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ลงไปใกล้กับเส้นประสาทท้ายทอย ซึ่งอยู่บริเวณต้นคอ อิเล็กโทรดนี้จะส่งกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องไปที่เส้นประสาทเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด แต่วิธีการนี้เพิ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองเท่านั้น

ก่อนที่จะลองรักษาด้วยวิถีทางเลือก หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ โปรดปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นให้ดีเสียก่อน หากมีคำถามโปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับข้อมูลการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา