backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ปวดเต้านม (Mastodynia)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ปวดเต้านม (Mastodynia)

อาการ ปวดเต้านม เป็นอาการที่พบได้ในผู้หญิง แต่ผู้ชายก็มีอาการนี้ได้เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา มีข้อมูลดังต่อไปนี้ค่ะ

คำจำกัดความ

อาการปวดเต้านมคืออะไร

คำว่า Mastodynia เป็นภาษากรีกหมายถึงอาการเจ็บปวดเต้านม สามารถสื่อถึงอาการกดเจ็บที่เต้านมได้เช่นกัน อาการปวดเต้านมเป็นอาการที่เด่นชัด ที่สุดที่จะบ่งชี้ถึงการเป็นโรคนี้ ระดับของความปวดมีตั้งแต่ปวดเบาๆ ไปจนถึงปวดรุนแรง ขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุ อาการปวดเต้านมอาจจะอยู่นาน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

อาการปวดเต้านมพบได้บ่อยได้แค่ไหน

อาการปวดเต้านมพบมากในผู้หญิง แต่ผู้ชายก็อาจมีโอกาสเป็นได้เช่นกัน โอกาสที่ผู้ชายจะเป็นโรคนี้นั้นหายากมากๆ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการปวดเต้านมเป็นอย่างไร

อาการปวดเต้านมนั้นสามารถแบ่งได้เป็น อาการที่สัมพันธ์กับประจำเดือน (cyclical) หรือ อาการที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน (non-cyclical)

อาการของโรคที่สัมพันธ์กับประจำเดือนมีดังนี้

  • อาการปวดจะมาเป็นประจำ เช่นเดียวกับประจำเดือน
  • เต้านมอาจจะกดเจ็บ
  • ผู้ป่วijยอธิบายความรู้สึกปวดว่า หนักและปวดตื้อๆ บางคนบอกว่ามีรู้สึกเจ็บและรู้สึกหนักๆ ในขณะที่บางคนก็ว่ารู้สึกเหมือนกับ ถูกแทงหรือปวดแสบปวดร้อน
  • เต้านมอาจจะมีอาการบวมขึ้น
  • อาจมีก้อนหลายๆ ก้อนที่เต้านม (ไม่ใช่ก้อนแข็งๆ ก้อนเดียว)
  • สามารถเกิดได้ที่เต้านมทั้งสองข้าง โดยเฉพาะบริเวณด้านนอกส่วนบน
  • อาการปวดสามารถลามไปตรวบริเวณใต้วงแขนได้
  • อาการปวดจะเป็นหนักขึ้นเมื่อเริ่มมีประจำเดือน ในบางกรณีอาจมีอาการปวด ตั้งแต่ประมาณสองสัปดาห์ก่อนการมีประจำเดือน
  • มักมีอาการในกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อย สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจจะมีอาการปวดแบบเดียวกัน หากว่ามีการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อการบำบัด (Hormone replacement therapy)

อาการของโรคที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนมีดังนี้

  • อาการปวดจะเกิดที่เต้านมแค่ข้างเดียวเท่านั้น และมักจะเป็นแค่จุดเล็กๆ บนเต้านม แต่อาจจะมีการลุกลามไปจนทั่วหน้าอก
  • พบมากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • อาการปวดจะไม่เป็นๆ หายๆ เหมือนประจำเดือน
  • อาการปวดอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นนานๆ ครั้ง
  • อาการเต้านมอักเสบ – หากอาการปวดนั้นเกิดขึ้นการอักเสบที่เต้านม อาจทำให้มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย (malaise) เต้านมบางส่วนอาจจะมีอาการบวมและกดเจ็บ บริเวณที่ปวดอาจจะรู้สึกอุ่นๆ และบางครั้งอาจจะมีรอยปื้นแดง ความรู้สึกปวดมักจะเป็นอาการปวดแสบปวดร้อน สำหรับผู้ที่ให้นมบุตร จะยิ่งรู้สึกปวดหนักขึ้นขณะกำลังให้นม
  • อาการปวดภายนอก – อาการปวดที่รูสึกเหมือนมาจากหน้าอกแต่เกิดขึ้นที่บริเวณอื่นนั้น บางครั้งจะเรียกว่าอาการปวดต่างที่ อาจเกิดขึ้นที่บริเวณกล้ามเนื้อทรวงอก เช่น อาการอักเสบของกระดูกอ่อนในกรงซี่โครง (costochondritis)

อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ

ควรไปพบหมอเมื่อไร

ถ้าคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของอาการปวดเต้านม

อาการปวดเต้านมนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักบางประการ เนื่องจากโรคนี้จะพบมากในผู้หญิง การมีประจำเดือนจึงอาจจะเป็นสาเหตุได้ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย การให้นมบุตรก็อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน การเกิดก้อนเนื้อชนิดไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes) อาจทำให้เต้านมเกิดอาการกดเจ็บ

ผู้หญิงที่มีอาการเต้านมอักเสบ ก็มักจะบ่นเรื่องอาการปวด และกดเจ็บที่เต้านม กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome) ก็อาจเป็นสาเหตุได้ เนื่องจากโรคนี้มีอาการปวดที่หน้าอกเช่นกัน นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์ในปริมาณมาก ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดเบาๆ ที่เต้านมได้อีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดเต้านม

โปรดปรึกษากับคุณหมอเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการปวดเต้านม

สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยก่อนหมดประจำเดือน คุณหมอจะตรวจว่าเป็นอาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่

คุณหมออาจจะถามดังนี้

  • บริโภคคาเฟอีนมากแค่ไหน
  • รู้สึกปวดบริเวณไหนของเต้านม
  • เต้านมปวดทั้งสองข้างหรือไม่
  • สูบบุหรี่หรือไม่
  • รับประทานยาหรือยาคุมกำเนิดอยู่หรือเปล่า
  • ตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
  • มีอาการอย่างอื่น เช่น มีสารคัดหลั่งผิดปกติจากหัวนม (nipple discharge) หรือมีก้อนอะไรที่หน้าอกหรือไม่

คุณหมอจะฟังเสียงปอดและหัวใจ และตรวจสอบบริเวณหน้าอกและท้องเพื่อหาโอกาสในการเกิดอาการและโรคอื่นๆ

คุณหมออาจจะทำการการตรวจเต้านม เพื่อหาว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงบริเวณหัวนม หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติจากหัวนมหรือไม่ นอกจากนี้อาจจะต้องตรวจต่อมน้ำเหลือง บริเวณใต้คอหรือรักแร้ เพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือกดเจ็บหรือไม่

หากพบก้อนเนื้อ หรือส่วนที่นูนขึ้นมาผิดปกติที่เต้านม หรือมีส่วนไหนของเต้านมที่ปวดเป็นพิเศษ คุณหมออาจจะมีการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) – การตรวจเอ็กซเรย์บริเวณเต้านม
  • การตรวจอัลตราซาวนด์ – ใช้คลื่นเสียงเพื่อฉายภาพของเต้านม การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ มักจะพบสิ่งที่การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมจะไม่สามารถตรวจหาได้
  • การตัดชิ้นเนื้อเต้านมไปตรวจ (Breast biopsy) – หากตรวจพบอาการที่น่าสงสัยใดๆ คุณหมอจะทำการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่าง เพื่อส่งไปตรวจในห้องแล็บ

ผู้ป่วยอาจต้องต้องทำแบบทดสอบระดับความปวดที่เต้านม ซึ่งสามารถช่วยการวินิจฉัยโรค และช่วยการตัดสินใจของหมอได้

วิธีรักษาอาการ ปวดเต้านม

ในกรณีส่วนใหญ่ สามารถรักษาอาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือน ได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และสวมบราที่พอดีตัว อาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือน มักจะไม่สามารถคาดเดาได้ และอาจจะเป็นๆ หายๆ

ส่วนอาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์ประจำเดือนไม่ใช่อาการร้ายแรง และคนไข้ส่วนใหญ่มักจะยอมรับที่จะใช้ชีวิตร่วมกับมัน และผู้หญิงที่มีอาการปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน อาจจำเป็นต้องรับการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น คนที่ติดเชื้อเต้านมอักเสบจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาอาการดังนี้

  • ใช้ยาทาเฉพาะที่แก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น เจลไอบูโพรเฟน หรือเจลไดโคลฟีแนค นวดบริเวณที่ปวดโดยตรง อย่านวดยานี้บริเวณที่มีผิวหนังถลอก
  • กาแฟ คาเฟอีน และอาการปวดเต้านม – งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Nurse Practitioner พบว่า “การจำกัดสารคาเฟอีน คือวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับอาการปวดเต้านมชนิดไฟโบรซีสติค (fibrocystic disease)’
  • การสูบบุหรี่และอาการปวดเต้านม – หน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล และกลุ่มที่ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพทั้งหลาย แนะนำผู้หญิงที่มีอาการปวดเต้านมว่า ให้หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีข้อโต้แย้งกันว่า สารนิโคตินนั้นอาจจะส่งผลให้เส้นเลือดตีบตัน และการสูบบุหรี่นั้นจะทำให้เกิดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Climacteric (Journal of the International Mrnopause Society) พบว่า “การสูบบุหรี่ลดโอกาสการเกิดอาการกดเจ็บที่เต้านม ในผู้หญิงที่รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนผสมร่วมกับโปรเจสเตอโรน (estrogen-progestogen therapy)’

ยาตามใบสั่งยาสำหรับอาการปวดเต้านม

หากมีอาการปวดเต้านมอย่างรุนแรง และการรักษาที่กล่าวมาด้านบนนั้นไม่สามารถรักษาได้ คุณหมออาจจะสั่งยาให้รับประทาน โดยยาดังต่อไปนี้อาจจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านมได้

  • ดานาซอล (Danazol)สามารถรักษาอาการปวดเต้านมชนิดไฟโบรซีสติค (fibrocystic breast disease) อาการที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร้งในเต้านม
  • โบรโมคริปทีน (Bromocriptine) – สามารถรักษาอาการปวดเต้านมบางอาการ
  • ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) – เป็นยาที่อนุมัติใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนี้แพทย์ยังอาจสั่งยาทาม็อกซิเฟนเพื่อใช้รักษาอาการที่ไม่ได้ระบุอยู่ในฉลาก เพื่อรักษาอาการปวดเต้านมได้อีกด้วย
  • โกเซอรีลิน (Goserelin)สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนี้แพทย์ยังอาจสั่งยานี้เพื่อใช้รักษาอาการที่ไม่ได้ระบุอยู่ในฉลาก เช่น การรักษาอาการปวดเต้านมได้อีกด้วย
  • โทเรมิฟีน (Toremifene)อีกหนึ่งยารักษาโรคมะเร็งเต้านม ใช้รักษาอาการที่ไม่ได้ระบุอยู่ในฉลาก เช่น การรักษาอาการปวดเต้านมได้อีกด้วย

หากคุณกำลังรับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ คุณหมออาจจะสั่งให้มีการควบคุมหรือเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดตัวอื่นแทน และคุณหมออาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาที่ใช้ในฮอร์โมนทดแทนเพื่อการบำบัด (Hormone replacement therapy)

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยรักษาอาการ ปวดเต้านม

ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรักษาอาการของคุณได้

  • สวมใส่บราที่พอดีตัวในเวลากลางวัน
  • ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะไว้วางใจในน้ํามันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) แต่งานวิจัยของวารสารสูตินรีเวชอเมริกาพบว่า น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสนั้นไม่มีประโยชน์ในการรักษาอาการปวดเต้านม ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอาการของลมบ้าหมู ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส
  • รับประทานยาสามัญเช่น ยาจำพวกอะเซตามีโนเฟน (พาราเซตามอล หรือ ไทลินอล) หรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อลดอาการปวด
  • ใช้ซัพพอร์ตบราแบบนุ่มๆ เวลานอนหลับ
  • ใช้สปอร์ตบาร์ที่ดีมีคุณภาพเวลาออกกำลังกาย

หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา