backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

สายตายาวตามวัย (Presbyopia)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

สายตายาวตามวัย (Presbyopia)

สายตายาวตามวัย (Presbyopia) คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อดวงตาสูญเสียความสามารถในการมองเห็นสิ่งของระยะใกล้ นี่คือสิ่งที่น่าหงุดหงิดสำหรับการมีอายุที่มากขึ้น

คำจำกัดความ

สายตายาวตามวัย คืออะไร

สายตายาวตามวัย (Presbyopia) คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อดวงตาสูญเสียความสามารถในการมองเห็นสิ่งของระยะใกล้ นี่คือสิ่งที่น่าหงุดหงิดสำหรับการมีอายุที่มากขึ้น ภาวะสายตายาวตามวัยโดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงต้นอายุ 40 และการมองเห็นจะแย่ลงอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 65 ปี

หลายท่านอาจทราบถึงการมีภาวะสายตายาวตามวัย เมื่อต้องเริ่มถือหนังสือหรืออ่านหนังสือพิมพ์ในระยะสุดปลายแขน การตรวจสอบดวงตาขั้นพื้นฐานสามารถยืนยันถึงการมีภาวะสายตายาวตามวัยได้ คุณสามารถรักษาภาวะนี้ได้ด้วยการสวมใส่แว่นตาหรือคอนแท็คเลนส์ รวมถึงอาจพิจารณาการผ่าตัดได้เช่นกัน

สายตายาวตามวัย พบได้บ่อยเพียงใด

ผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปีมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาสู่ภาวะสายตายาวตามวัย และเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ทุกคนก็จะเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดภาวะนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของสายตายาวตามวัย

ภาวะสายตายาวตามวัยไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน คุณอาจสัมผัสอาการเหล่านี้ได้เป็นครั้งแรก หลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป

  • ต้องอ่านหนังสือในระยะไกลกว่าปกติถึงจะมองเห็นตัวอักษรได้ชัด
  • มองเห็นไม่ชัดเจนในระยะอ่านหนังสือปกติ
  • ปวดตาหรือปวดศีรษะหลังอ่านหนังสือหรือทำงานที่ต้องใช้สายตา

อาการเหล่านี้อาจแย่ลงเมื่อมีอาการเหนื่อยล้า ดื่มแอลกอฮอล์ หรืออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ

ควรไปพบหมอเมื่อใด

ควรไปพบหมอถ้าสายตาเป็นอุปสรรคต่อการอ่านหนังสือ ส่งผลต่อการทำงานที่ต้องใช้สายตา และกระทบต่อกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต คุณหมอสามารถตรวจได้ว่าผู้เกิดอาการมีภาวะสายตายาวสูงอายุหรือไม่ และจะแนะนำทางเลือก รวมถึงค้นหาวิธีการรักษาโดยทันที ถ้าผู้เข้ารับการตรวจมีอาการดังต่อไปนี้

  • สูญเสียการมองเห็นในดวงตาข้างหนึ่งอย่างกะทันหัน
  • เกิดอาการสายตาพร่ามัวอย่างกะทันหัน
  • เห็นแสงสว่างวาบ เห็นจุดดำ หรือเห็นรัศมีรอบแสงไฟ

สาเหตุ

สาเหตุของสายตายาวตามวัย

กระบวนการรับภาพของคนเรานั้น ดวงตาต้องอาศัยกระจกตา ซึ่งมีรูปทรงคล้ายโดมใสที่อยู่บนพื้นผิวด้านหน้าของดวงตา และเลนส์ดวงตา ซึ่งมีลักษณะใส ทำหน้าที่รับแสงที่สะท้อนมาจากวัตถุต่างๆ ทั้งสองส่วนนี้จะช่วยหักเหแสงที่เข้ามาผ่านดวงตาไปยังเรตินา ซึ่งตั้งอยู่บนผนังด้านหลังดวงตาของเรา และทำให้เราเห็นเป็นภาพต่างๆ

เลนส์ดวงตานั้นไม่เหมือนกับกระจกตา เลนส์ดวงตามีความยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ โดยอาศัยกล้ามเนื้อวงแหวนที่อยู่บริเวณโดยรอบ เมื่อคนเรามองวัตถุในระยะไกล กล้ามเนื้อวงแหวนส่วนนี้จะคลายตัว ในทางกลับกัน เมื่อคนเรามองวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้ กล้ามเนื้อนี้จะหดตัว เพื่อช่วยปรับระดับความโค้งงอของเลนส์ดวงตา และปรับระดับความชัดเจนในการมองเห็นสิ่งต่างๆ

สายตายาวตามวัย เกิดขึ้นจากการที่เลนส์ดวงตามีความแข็งตัวมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เมื่อเลนส์ดวงตาของคนเรายืดหยุ่นน้อยลง จึงไม่สามารถเปลี่ยนรูปทรงเพื่อรับภาพในระยะใกล้ได้อีกแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ เราจะเห็นสิ่งที่อยู่ในระยะใกล้เป็นภาพพร่ามัวนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะสายตายาวตามวัย

คุณอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะสายตาตามวัยมากขึ้น จากปัจจัยดังต่อไปนี้

อายุ

อายุคือปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับภาวะสายตายาวตามวัย เกือบทุกคนต้องมีภาวะนี้บ้างไม่มากก็น้อย เมื่อมีอายุ 40 ปี

ภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

ถ้าคนสายตายาวหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคหัวใจ ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการมีภาวะสายตายาวก่อนวัยอันควร ซึ่งหมายถึงการเกิดภาวะสายตายาวในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี

การรับประทานยา

การรับประทานยาเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะสายตายาวก่อนวัยอันควร ยาเหล่านั้นประกอบด้วย ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคซึมเศร้า และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะสายตายาวตามวัย

ถ้าคุณหมอสงสัยว่าผู้เข้ารับการตรวจเสี่ยงเกิดภาวะนี้ คุณหมอก็จะสั่งตรวจดวงตาอย่างละเอียดในหลายขั้นตอน โดยคุณหมออาจใช้ยาหยอดตาเพื่อขยายลูกตาดำ ซึ่งจะทำให้ดวงตาไวต่อการรับแสงเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังการตรวจ ซึ่งการขยายดวงตานั้น จะช่วยให้คุณหมอสามารถประเมินสภาวะภายในดวงตาของคนไข้ได้ง่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ คุณหมออาจใช้อุปกรณ์หลายชนิด เช่น การเล็งแสงไฟใส่ดวงตา และให้คนไข้มองผ่านเลนส์หลายชนิดเพื่อทดสอบการมองเห็นในระยะใกล้และไกล โดยการทดสอบแต่ละอย่างนี้จะช่วยให้คุณหมอประเมินลักษณะต่างๆ ของการมองเห็นได้สะดวกมากขึ้น

คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจบ่อยมากขึ้นถ้ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา หรือไม่เช่นนั้น ก็จำเป็นต้องใส่แว่นหรือคอนแท็คเลนส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การรักษาภาวะสายตายาวตามวัย

มีการรักษาหลายวิธีที่คุณหมออาจแนะนำดังต่อไปนี้

สวมแว่นตา

การสวมแว่นตาเป็นวิธีที่เรียบง่ายและปลอดภัยที่สุด สำหรับแก้ปัญหาทางสายตาจากภาวะสายตายาวตามวัย

ใส่คอนแท็คเลนส์

ผู้ที่ไม่อยากสวมแว่นตามักนิยมใส่คอนแทคเลนส์เพื่อแก้ปัญหาด้านสายตาจากภาวะสายตายาว นี่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเปลือกตา ท่อน้ำตา และพื้นผิวของดวงตา

การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Surgery)

การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติจะทำเพื่อเปลี่ยนรูปทรงกระจกตา สำหรับผู้ที่มีภาวะสายตายาวตามวัย การรักษาชนิดนี้จะช่วยแก้ไขการมองเห็นระยะใกล้ในดวงตาข้างที่ไม่ถนัด เปรียบเสมือนการใส่คอนแท็คเลนส์แบบ โมโนวิชั่น (monovision) แม้ว่าหลังจากผ่าตัดแล้ว คนไข้อาจจำเป็นต้องใช้แว่นตาในการทำงานที่ต้องใช้สายตาเพ่งมองก็ตาม

การฝังเลนส์ดวงตาเทียม

จักษุแพทย์บางท่านจะใช้วิธีการนี้เปลี่ยนเลนส์ดวงตาแท้ของตาแต่ละข้างด้วยเลนส์ดวงตาเทียม วิธีการนี้เรียกว่า การฝังเลนส์ดวงตาเทียม คนไข้บางรายเลือกรักษาด้วยวิธีนี้ แม้ว่าจะทำการผ่าตัดเลสิกมาแล้วหลายปีก็ตาม เพราะว่าจะได้ไม่ต้องสวมใส่แว่นตาอีกต่อไป

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับภาวะสายตายาวตามวัย

เคล็ดลับดังต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณป้องกันภาวะสายตายาวตามอายุได้

พันธุกรรม

องค์กร Online Mendelian Inheritance in Man (OMIM) สหรัฐอเมริกา ได้ทำบันทึกรายชื่อโรคทางพันธุกรรม 261 ชนิดออกมา ซึ่งสายตายาวคือหนึ่งในอาการของโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเหล่านั้นด้วย

สภาพแวดล้อม

ในการศึกษาเรื่องกรรมพันธุ์ต่อภาวะสายตาผิดปกติ พบว่าสภาพแวดล้อมก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะสายตายาวได้เช่นกัน

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา