backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กรดไหลย้อน สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/11/2021

กรดไหลย้อน สาเหตุ อาการ และการรักษา

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease: GERD) หรือกรดไหลย้อนเรื้อรัง เป็นภาวะกรดในกระเพาะอาการไหลกลับเข้าหลอดอาหารอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร และอาจมีอาการแสบร้อนกลางอก กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ หรืออาเจียนของเหลวรสเปรี้ยวหรือขม หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารตีบ หลอดอาหารเป็นแผล หรืออาจร้ายแรงกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

คำจำกัดความ

กรดไหลย้อน คืออะไร

กรดไหลย้อน คือ ภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยจากกรดเกิน กรดไหลย้อนเกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าหลอดอาหารสู่ลำคอและปาก ทำให้รู้สึกมีรสเปรี้ยวในปาก

อาการกรดไหลย้อนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก อาจทำให้เกิดอาการเสียดท้อง เจ็บหน้าอก กลืนลำบาก หรืออาเจียนของเหลวรสเปรี้ยวหรือขม ในบางคนอาจมีอาการกรดไหลย้อนมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงขึ้น เช่น มะเร็งหลอดอาหาร หลอดอาหารตีบ หรือเป็นแผลในหลอดอาหาร

อาการ

อาการของกรดไหลย้อน

อาการของกรดไหลย้อนมีดังนี้

  • แสบร้อนกลางอกหรือลำคอหลังรับประทานอาหาร และอาจมีรสชาติเปรี้ยวในปาก ซึ่งอาการอาจรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน
  • กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียนอาหารเป็นกรดของเหลวรสเปรี้ยวหรือขม
  • รู้สึกมีก้อนในคอ หรือเหมือนมีอาหารติดในลำคอ
  • ไอแห้ง หายใจมีเสียงหวีด เสียงแหบ หรือเจ็บคอเรื้อรัง
  • ท้องอืด สะอึก และเรอ
  • อุจจาระเป็นสีดำหรือเป็นเลือด และอาจอาเจียนเป็นเลือด
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

หากมีอาการกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน อาจมีปัญหาเหล่านี้ร่วมด้วย

  • ไอเรื้อรัง
  • อาการกรดไหลย้อนอาจรบกวนการนอนหลับ
  • โรคกล่องเสียงอักเสบ
  • โรคหอบหืดอาจเกิดขึ้นใหม่หรือมีอาการแย่ลง

ควรไปพบหมอเมื่อใด

ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการและหาสาเหตุเพื่อรักษาในขั้นตอนต่อไป หากมีปัญหาเหล่านี้

  • หากมีอาการเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อาการกรดไหลย้อนรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดกรามหรือแขน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการหัวใจวาย

สาเหตุ

สาเหตุของกรดไหลย้อน

โดยปกติ เมื่อรับประทานอาหาร กล้ามเนื้อส่วนบนของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างจะคลายตัว เพื่อให้อาหารสามารถผ่านเข้าไปสู่กระเพาะอาหาร จากนั้นกล้ามเนื้อหูรูดจะปิดตัวลงเพื่อป้องกันการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร

สาเหตุของกรดไหลย้อนมาจากความผิดปกติของกระเพาะอาหาร หรือเรียกว่า ไส้เลื่อนกระบังลม เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อส่วนบนและกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อหลอดอาหารเสียหายและอักเสบได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของกรดไหลย้อน

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ดังนี้

  • การตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น กับแรงดันที่เกิดจากทารกในครรภ์ที่กำลังเติบโต อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน อาการอาจแย่ลงช่วงไตรมาสที่ 3 และอาการมักจะหายไปหลังคลอด
  • อาหารไม่ย่อย
  • โรคอ้วน
  • โรคไส้เลื่อนกระบังลม
  • ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma) ซึ่งเป็นภาวะที่ผิวหนังหนาและแข็งตัวขึ้น

ปัจจัยที่อาจทำให้กรดไหลย้อนรุนแรงขึ้น ดังนี้

  • การสูบบุหรี่ อาจทำลายเยื่อเมือกและทำให้การตอบสนองของกล้ามเนื้อในลำคอบกพร่อง ลดการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูด ลดการหลั่งน้ำลายและเพิ่มการหลั่งกรด นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารอีกด้วย
  • รับประทานอาหารมื้อใหญ รับประทานอาหารก่อนนอน หรือรับประทานอาหารแล้วนอนทันที เนื่องจากอาหารอาจย้อนกลับตามแรงโน้มถ้วงของโลกทำให้เป็นกรดไหลย้อนกลับได้
  • รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดที่กระตุ้นโรคกรดไหลย้อน เช่น ของทอด อาหารรสเผ็ด ช็อคโกแลต ผลไม้รสเปรี้ยว อาหารที่มีมะเขือเทศ กระเทียม หัวหอม สะระแหน่ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือกาแฟ
  • โรคบางชนิด เช่น โรคหอบหืด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด หรือยาลดความดันโลหิตบางชนิด

ภาวะแทรกซ้อน

กรดไหลย้อนอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • แผลที่หลอดอาหาร กรดในกระเพาะอาหารสามารถทำลายเนื้อเยื่ออของหลอดอาหาร และทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร อาจทำให้มีอาการ เจ็บคอ และกลืนลำบาก
  • หลอดอาหารตีบ กรดในกระเพาะอาหารอาจทำให้เกิดความเสียหายของหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้เกิดแผลที่เนื้อเยื่อทำให้หลอดอาหารแคบลง และเกิดปัญหาการกลืนอาหารได้
  • มะเร็งหลอดอาหาร กรดไหลย้อนทำให้เนื้อเยื้อหลอดอาหารเกิดความเสียหาย เมื่อเกิดขึ้นเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยกรดไหลย้อน

คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยวิธีตรวจดูอาการ ตรวจร่างกายและซักประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและหาสาเหตุ รวมถึงอาจใช้วิธีทดสอบอื่น ๆ ดังนี้

  • การส่องกล้อง คุณหมอจะสอดกล้องเข้าไปในลำคอเพื่อตรวจดูภายในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เพื่อดูการอักเสบของหลอดอาหารและความผิดปกติของกรดไหลย้อน หรืออาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อน
  • การตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร (Ambulatory acid (pH) probe test) ส่องกล่องเข้าไปในหลอดอาหาร โดยจอภาพแสดงผลในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเพื่อดูการไหลของกรดในกระเพาะอาหาร
  • ตรวจวัดการทำงานของทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophageal manometry) วัดการหดตัวของกล้ามเนื้อในหหลอดอาหารเมื่อกลืน
  • เอกซเรย์ระบบย่อยอาหารส่วนบน เพื่อตรวจความผิดปกติของหลอดอาหาร ตรวจอาการอักเสบหรือการตีบของหลอดอาหาร

การรักษากรดไหลย้อน

การรักษากรดไหลย้อนเบื้องต้นอาจสามารถซื้อยาตามร้านขายยาเพื่อรักษาอาการได้ ดังนี้

  • ยาลดกรด ทำให้กรดในกระเพาะอาหารเป็นกลาง เช่น ยามาล็อกซ์ (Maalox) ยาไมแลนตา (Mylanta) ยาเกลูซิล (Gelusil) ยากาวิสคอน (Gaviscon) ยาโรเลดส์ (Rolaids) และยาทัมส์ (Tums) ช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ยาลดกรดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาการอักเสบของหลอดอาหารได้ และการใช้ยาลดกรดบางชนิดมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการท้องร่วงหรือปัญหาไต
  • ยาลดการผลิตกรด (H-2-receptor blocker) ได้แก่ ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) เช่น ทากาเมต เอชบี (Tagamet HB) ยาฟาโมทิดีน (Famotidine) เช่น เป๊ปซิด เอซี (Pepcid AC) ยาไนซาทิดีน (Nizatidine) อย่างเอซิด เออาร์ (Axid AR) หรือยารานิทิดีน (Ranitidine) เช่น แซนแทค (Zantac) ออกฤทธิ์ช้ากว่ายาลดกรดแต่ช่วยบรรเทาอาการได้นานกว่า และอาจลดการผลิตกรดในกระเพาะได้นานถึง 12 ชั่วโมง
  • ยาที่ยับยั้งการผลิตกรดและรักษาหลอดอาหาร ได้แก่ ยาแลนโซปราโซล (Lansoprazole) เช่น พรีวาซิด 24 เอชอาร์ (Prevacid 24 HR) และยาโอมีพราโซล (omeprazole) เช่น พริโลเซ็ค (Prilosec) เซเจอริด (Zegerid)

หากมีอาการรุนแรงขึ้นอาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและอาจได้รับยาตามใบสั่งแพทย์ ดังนี้

  • ยาลดการผลิตกรดที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ฟาโมทิดีน (Famotidine) นิซาทิดีน (Nizatidine) ลดการผลิตกรดและบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเป็นระยะเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี 12 และกระดูกหัก
  • สารยับยั้งโปรตอน (Proton pump inhibitors : PPIs) เช่น อีโซเมพราโซล (Esomeprazole) แลนโซปราโซล (Lansoprazole) โอเมพราโซล (Omeprazole) แพนโทพราโซล (Pantoprazole) ราเบพราโซล (Rabeprazole) เด็กซ์แลนโซปราโซล (Dexlansoprazole) อาจมีผลข้างเคียงทำให้ท้องเสีย ปวดหัว คลื่นไส้ และขาดวิตามินบี 12 และการใช้เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกสะโพก
  • ยาเสริมสร้างกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เช่น บาโคลเฟน (Baclofen) บรรเทาอาการกรดไหลย้อนโดยลดความถี่การคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูด อาจมีผลข้างเคียง เช่น เหนื่อยล้า คลื่นไส้

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

  • การผ่าตัดด้วยวิธี Nissen Fundoplication การผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง เพื่อกระชับกล้ามเนื้อและป้องกันการไหลย้อน
  • ห่วงเหล็กรักษากรดไหลย้อน (LINX device) โดยวางวงแหวนแม่เหล็กรอบรอยต่อกระเพาะอาหารเพื่อลดปัญหากรดไหลย้อน
  • Transoral incisionless fundoplication (TIF) ช่วยกระชับกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างโดยการพันบางส่วนรอบหลอดอาหารส่วนล่างและยึดด้วยโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อจัดการกับกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนสามารถควบคุมได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการและการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน สามารถทำได้ดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจสร้างแรงกดที่หน้าท้อง ทำให้เกิดกรดไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่คับเกินไป เสื้อผ้าที่รัดรูปและคับแน่นอาจสร้างแรงกดที่หน้าท้องและกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างทำให้เกิดกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นอาการแสบร้อนกลางอกและทำให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น อาหารทอด ซอสมะเขือเทศ ช็อกโกแลต อาหารรสจัด หัวหอม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ให้รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร
  • นั่งตัวตรงขณะรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรนั่งหรือยืนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
  • ควรยกหัวเตียงหรือวางหมอนให้สูงประมาณ 6-8 นิ้ว เพื่อป้องกันการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจลดความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้ไม่สามารถปิดกั้นกรดในกระเพาะอาหารและส่งผลให้กรดไหลย้อนได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/11/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา