backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โรคหัวใจ มีกี่ประเภท อาการและสาเหตุของโรคหัวใจ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 09/08/2022

โรคหัวใจ มีกี่ประเภท อาการและสาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหัวใจ (Heart Disease) คือ กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือภาวะหัวใจวาย อาการและสาเหตุของโรคในกลุ่มโรคหัวใจแต่ละโรคจะแตกต่างกันไป แต่อาจมีอาการบางอย่างที่เหมือนกัน เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย และปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจส่วนใหญ่ก็คล้ายคลึงกัน เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ การลดปัจจัยเสี่ยงและดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้

โรคหัวใจ คืออะไร

โรคหัวใจ หมายถึง กลุ่มโรคและภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ

คำว่า “โรคหัวใจ” มักถูกนำมาใช้สลับกันบ่อยๆ กับคำว่า “โรคหัวใจและหลอดเลือด” โรคหัวใจและหลอดเลือดโดยทั่วไป หมายถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ที่สามารถนำไปสู่โรคหัวใจวาย เจ็บหน้าอก หรือหลอดเลือดในสมองแตก ปัญหาหัวใจอื่นๆ อย่างเช่น ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือชีพจรหัวใจ ถือว่าเป็นรูปแบบของโรคหัวใจรูปแบบหนึ่ง

ทำไมต้องกังวล

ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคหัวใจล้มเหลวประมาณ 17.1 ล้านคนต่อปี ในประเทศไทย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 ระบุว่า ในแต่ละปีที่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นกว่า 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คนหรือชั่วโมงละ 6 คน และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนไทย

โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกช่วงวัย ทุกเพศ ทุกอาชีพและทุกไลฟ์สไตล์ ยิ่งไปกว่านั้น โรคหัวใจไม่สามารถรักษาให้หายได้ โรคนี้จำเป็นต้องรักษาไปตลอดชีวิตและเฝ้าสังเกตอาการอย่างระมัดระวัง เมื่อวิธีรักษาเหล่านี้เกิดล้มเหลวคุณจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดที่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูงในการมีชีวิตอยู่ต่อไป

สาเหตุ

สาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นรูปแบบหลักของโรคหัวใจ งานวิจัยชี้ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ เริ่มเกิดขึ้นพร้อมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจ มีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความเสียหายนี้ ได้แก่

คราบพลัคอาจก่อตัวขึ้นบริเวณที่หลอดเลือดเกิดความเสียหาย การก่อตัวขึ้นของคราบพลัคในหลอดเลือดหัวใจอาจเริ่มขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก

เมื่อเวลาผ่านไป คราบพลัคจะแข็งขึ้นหรือแตกออก คราบพลัคที่แข็งตัว จะบีบหลอดเลือดและลดการไหลเวียนของเลือดที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังหัวใจ สิ่งนี้จะทำให้เกิดการเจ็บหรือรู้สึกไม่สบายที่หน้าอก เรียกว่าอาการปวดเค้นในหน้าอก (angina)

หากคราบพลัคแตกออก เศษของเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือด จะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีการบาดเจ็บ เกล็ดเลือดอาจจับตัวเป็นก้อน แล้วก็ก่อตัวเป็นลิ่มเลือด

ลิ่มเลือดสามารถบีบหลอดเลือดหัวใจให้ตีบลง และทำให้อาการเจ็บหน้าอกทรุดลง หากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่มากพอ มันจะสามารถอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจได้ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด และก่อให้เกิดหัวใจวาย

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้สำหรับการเกิดโรคหัวใจ มีดังต่อไปนี้

  • อายุที่มากขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายและการตีบตัวของหลอดเลือด และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังหรือแน่นขึ้น
  • โดยทั่วไป ผู้ชายมักจะมีความเสี่ยงมากขึ้นของโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงก็มีความเสี่ยงมากขึ้นหลังหมดวัยประจำเดือน
  • ประวัติครอบครัว ประวัติโรคหัวใจของสมาชิกในครอบครัว จะเพิ่มความเสี่ยงของคุณในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ปกครองเป็นโรคนี้ในช่วงที่อายุยังไม่มากนัก (ก่อนวัย 55 ปีสำหรับญาติผู้ชาย อย่างเช่น พี่ชายหรือพ่อของคุณ และก่อน 65 ปีสำหรับญาติผู้หญิง อย่างเช่น พี่สาวหรือแม่ของคุณ)

ปัจจัยเสี่ยงที่คุณสามารถควบคุมได้ ได้แก่

  • การสูบบุหรี่
  • อาหารไม่มีประโยชน์
  • ความดันโลหิตสูง
  • ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • เบาหวาน
  • โรคอ้วน
  • การไม่มีกิจกรรมทางร่างกาย
  • ความเครียด
  • สุขอนามัยที่ไม่ดี

อาการ

อาการของโรคหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบไม่แสดงอาการ

สัญญาณบ่งชี้และอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ อาจแตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ผู้หญิงบางคนที่เป็นโรคนี้ ไม่แสดงสัญญาณหรืออาการใดๆ สิ่งนี้เรียกว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบไม่แสดงอาการ (Silent coronary heart disease)

โรคนี้อาจวินิจฉัยไม่ได้จนกระทั่งผู้หญิงแสดงสัญญาณหรืออาการของโรคหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia)

ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดจะแสดงสัญญาณและอาการของโรคนี้

อาการปวดเค้นในหน้าอก

อาการที่พบบ่อยของโรคหัวใจก็คือ อาการปวดเค้นในหน้าอก (Angina) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจของคุณ ไม่ได้รับเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ

อาการปวดเค้นในหน้าอกในผู้ชายมักจะรู้สึกเหมือนมีแรงกดหรือถูกบีบในหน้าอก ความเจ็บอาจลุกลามไปที่แขน ผู้หญิงก็สามารถมีอาการปวดเค้นในหน้าอกได้เช่นกัน แต่ผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะบอกถึงอาการแสบร้อนหรือเจ็บแปล๊บในหน้าอก และยังมีโอกาสที่จะรู้สึกเจ็บในคอ กราม ช่องคอ ช่องท้อง หรือหลังมากกว่าผู้ชาย

อาการเจ็บหน้าอกมักทรุดลงในผู้ชายขณะทำกิจกรรมทางร่างกาย และอาการจะหายไปหลังพักผ่อน ผู้หญิงมีโอกาสเกิดอาการปวดเค้นในหน้าอกมากกว่าผู้ชายในขณะพักผ่อนหรือนอนหลับ

ในผู้หญิงที่เป็นโรค coronary microvacular disease (โรคหัวใจชนิดหนึ่งที่กระทบกับเส้นเลือดที่เล็กที่สุดของหลอดเลือดหัวใจ) อาการปวดเค้นหน้าอก มักเกิดขึ้นในระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน อย่างเช่น ซื้อของหรือทำกับข้าว มากกว่าในขณะออกกำลังกาย ความเครียดยังมักจะกระตุ้นอาการปวดเค้นในหน้าอกในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ความรุนแรงของอาการปวดเค้นในหน้าอก มีหลายรูปแบบ อาการอาจทรุดลงหรือเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม เนื่องจากการก่อตัวของคราบพลัคที่ไปทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบลงอย่างต่อเนื่อง

สัญญาณบ่งชี้ของอาการแทรกซ้อน

โรคหัวใจบางประเภท จะสามารถตรวจพบได้โดยไม่ต้องนัดตรวจ ตัวอย่างเช่น หากเด็กเกิดมาพร้อมกับโรคหัวใจพิการขั้นรุนแรง โรคนี้จะถูกตรวจพบในไม่ช้าหลังการคลอด ในอีกกรณีหนึ่ง โรคหัวใจของคุณอาจถูกวินิจฉัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างเช่น หัวใจวาย

แม้ว่าคุณอาจไม่แสดงอาการของโรคหัวใจ เข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที หากคุณมีอาการของโรคหัวใจดังต่อไปนี้ ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจถี่
  • หน้ามืด

เมื่อไหร่ที่ควรพบหมอ

โรคหัวใจเป็นโรคที่ทำการรักษาได้ง่ายหากตรวจพบได้ไว พูดคุยกับหมอของคุณ เกี่ยวกับความกังวลของคุณเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ หากคุณกังวลว่าคุณจะเป็นโรคหัวใจ พูดคุยกับหมอของคุณเกี่ยวกับขั้นตอนที่คุณสามารถทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ สิ่งนี้ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งหากคุณมีประวัติของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ

หากคุณคิดว่า คุณอาจเป็นโรคหัวใจ โดยอ้างอิงจากสัญญาณและอาการที่คุณกำลังเป็น นัดพบหมอทันที

อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

อาการแทรกซ้อนของโรคหัวใจ ได้แก่

  • โรคหัวใจล้มเหลว หนึ่งในอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคหัวใจ หัวใจล้มเหลวเกิดขึ้น เมื่อหัวใจของคุณไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หัวใจล้มเหลวเป็นอาการที่มาจากโรคหัวใจหลายรูปแบบ ได้แก่ โรคหัวใจพิการ โคหัวใจและหลอดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจติดเชื้อหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (cardiomyopathy)
  • หัวใจวาย ลิ่มเลือดจะไปปิดกั้นการไหลเวียนเลือดผ่านหลอดเลือดที่ส่งให้กับหัวใจ ก่อให้เกิดหัวใจวาย ความเสียหายหรือกล้ามเนื้อหัวใจส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลาย โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) สามารถก่อให้เกิดโรคหัวใจวายได้
  • หลอดเลือดในสมองแตกหรือสโตรก ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถนำไปสู่ภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดสมองของคุณตีบหรือถูกอุดกั้น ทำให้เลือดไปถึงสมองน้อยเกินไป หลอดเลือดในสมองแตก เป็นอาการฉุกเฉินทางการแพทย์ เนื้อเยื่อสมองจะเริ่มตายภายในไม่กี่นาทีของการเกิดภาวะนี้
  • ผนังเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm) อาการแทรกซ้อนรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นตรงบริเวณไหนก็ได้ของร่างกาย ผนังเส้นเลือดโป่งพองเป็นการพองในผนังเส้นเลือดของคุณ หากผนังเส้นเลือดโป่งพองเกิดระเบิดออก คุณอาจพบกับการตกเลือดภายในที่อันตรายถึงชีวิต
  • หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral artery disaese: PAD) ภาวะหลอดเลือดแข็งยังสามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เมื่อคุณเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ แขนและขาของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขา จะไม่มีการไหลเวียนของเลือดอย่างเพียงพอ สิ่งนี้จะทำให้เกิดอาการเจ็บขาในขณะที่ออกเดิน
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน (Sudden cardiac arrest) ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน เป็นการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ การหายใจ และสติสัมปชัญญะอย่างฉับพลัน ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน เป็นอาการฉุกเฉินทางการแพทย์ หากไม่ได้รับการรักษาโดยทันที ภาวะนี้อันตรายถึงชีวิต ก่อให้เกิดการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคหัวใจ

หมอจะทำการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยอ้างอิงจากประวัติทางการแพทย์ และประวัติครอบครัว ปัจจัยเสี่ยงของคุณ การตรวจร่างกาย และผลจากการตรวจ

ไม่มีการตรวจเดี่ยวๆ ชนิดใดที่สามารถวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้ หากหมอของคุณคิดว่าคุณเป็นโรคนี้ หมออาจแนะนำการตรวจทางการแพทย์ประเภทหนึ่งหรือมากกว่านั้น

การตรวจที่ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจ

นอกเหนือจากการตรวจเลือดและการเอ็กซเรย์หน้าอก การตรวจเพื่อวินิจฉัย โรคหัวใจอื่นๆ ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว (Holter monitoring)
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
  • การสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac catheterization)
  • การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การรักษาและการจัดการ

การรักษาโรคหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจ มีความหลากหลายตามอาการ นอกจากนี้ หากคุณมีอาการติดเชื้อที่หัวใจ คุณมักจะได้รับยาปฏิชีวนะ โดยทั่วไป การรักษาโรคหัวใจ ได้แก่

  • การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันและโซเดียมต่ำ ออกกำลังกายทั่วๆ ไปอย่างน้อย 30 นาที หลายวันในสัปดาห์ เลิกสูบบุหรี่ และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • กินยา หากการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างเดียว ยังไม่เพียงพอ หมอของคุณอาจจ่ายยาเพื่อควบคุมโรคหัวใจของคุณ ประเภทของยาจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ
  • วิธีการทางการแพทย์หรือการผ่าตัด หากการใช้ยายังไม่เพียงพอ มีความเป็นไปได้ที่หมอของคุณ จะแนะนำวิธีการเฉพาะหรือการผ่าตัด ประเภทของวิธีการจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ และขอบเขตความเสียหายของหัวใจคุณ

วิธีจัดการกับโรคหัวใจ

โรคหัวใจสามารถรักษาให้ดีขึ้นหรือป้องกันได้ โดยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง การเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ จะสามารถช่วยใครก็ตามที่ต้องการพัฒนาสุขภาพหัวใจ

  • หยุดสูบบุหรี่
  • ควบคุมอาการโรคอื่นๆ อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูงและเบาหวาน
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หลายๆ วันต่อสัปดาห์
  • รับประทานอาหารที่มีเกลือและมีไขมันอิ่มตัวต่ำ
  • ควบคุมน้ำหนักในเกณฑ์ที่ดี
  • ลดและจัดการความเครียด
  • รักษาสุขอนามัยที่ดี

นอกจากนี้ การเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำ การตรวจพบและการรักษาอย่างรวดเร็ว สามารถวางแผนคุณภาพชีวิตของการมีสุขภาพหัวใจที่ดียิ่งขึ้นได้

คุณอาจรู้สึกหงุดหงิด เศร้า หรือกดดัน หลังทราบว่าคุณหรือคนที่คุณรักเป็นโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม มันยังมีหนทางที่จะช่วยจัดการกับโรคหัวใจหรือทำให้อาการดีขึ้นได้ เช่น การตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง หากคุณมีอาการของหัวใจที่เกิดขึ้นซ้ำหรือเรื้อรัง การตรวจสุขภาพเป็นประจำกับหมอของคุณ จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าคุณจัดการกับอาการโรคของคุณอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 09/08/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา