ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมองว่า การฆ่าตัวตายเกิดจากปัญหาส่วนบุคคลหรือเหตุผลทางครอบครัว แต่จริง ๆ แล้ว สังคมและวัฒนธรรมก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย จาก อัตราการฆ่าตัวตาย ในประเทศกรีนแลนด์พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับ สังคมยุคใหม่ ที่มาพร้อมภาวะทันสมัย (Modernization) วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความเกี่ยวกับอัตราการฆ่าตัวตายที่มาในยุคภาวะทันสมัย มาฝากทุกคนกันค่ะ
ภาวะทันสมัย (Modernization) กับอัตราการฆ่าตัวตาย
ภาวะทันสมัย (Modernization) เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางสังคมอย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม มีแนวคิดในเรื่องของทุนนิยม ที่เน้นสร้างความเจริญเติบโตให้กับสภาพทางเศรษฐกิจ และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้สังคมมีความทันสมัยและเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
เทคโนโลยีมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความสะดวกสบายให้คนในปัจจุบัน แทบทุกคนในปัจจุบันมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในมือ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเสียจนเปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกาย ที่บางคนไม่สามารถขาดได้หรือเข้าขั้นติดเลยก็ว่าได้
งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่า คนกว่าร้อยละ 43 เสพติดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหมั่นเช็กเฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรมหรือช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อยู่เสมอ แต่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยงานวิจัยชี้ว่า คนที่ติดมือถือมีภาวะเครียดมากกว่าคนที่ใช้งานน้อยกว่าถึงร้อยละ 18 อีกทั้งยังส่งผลให้ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างแย่ลง แม้จะนั่งอยู่ในห้องเดียวกันก็ตาม
จากผลสำรวจของผู้ที่ติดเทคโนโลยีพบว่า พวกเขารู้สึกว่า การเจอหน้ากันเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แม้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นพ่อแม่หรือเพื่อนสนิทก็ตาม เพราะพวกเขาเชื่อว่า เทคโนโลยีในปัจจุบัน และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ สามารถทดแทนเรื่องตรงนี้ได้
การที่สังคมเปลี่ยนไปรวดเร็วเช่นนี้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการฆ่าตัวตายด้วย เช่น เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของประชากรก็มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนในการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตของประชากรในปัจจุบันเช่นกัน
เหตุผลที่ อัตราการฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นในยุค Modernization
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นเหตุผลที่ชัดเจน ในการเพิ่มขึ้นของอัตราการฆ่าตัวตาย งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ศึกษาผลของ Modernization ต่อสุขภาพจิตผ่านทางสังคมและวัฒนธรรมพบว่า เมื่อชุมชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนก็สามารถปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนที่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เช่นกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษกิจ ที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้ก้าวทันระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ วัน และปัญหาทางสุขภาพในยุค Modernization ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น ความเครียด ความกดดัน อัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น การต้องแข่งกับความเจริญของเมืองที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้คนเมืองเกิดภาวะเครียด เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาทางสภาพจิตใจที่เกิดจากความกดดัน และป่วยเป็นจำนวนมาก จนต้องเข้าปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษา
นอกจากนี้ สภาพอากาศในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ หรือเชื้อโรคที่มีการพัฒนา ก็ทำให้คนในยุคปัจจุบันเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพมากขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เหตุผลเหล่านี้ ส่งผลให้คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ เลือกหาทางออกที่ตนเองคิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง บางคนเลือกใช้วิธีบรรเทาความเครียดชั่วคราว เช่น ใช้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่เพื่อระงับความเครียด เพื่อให้รู้สึกดีขึ้นหรือผ่านไปในแต่ละวัน ในขณะที่บางคนก็เลือกที่จะฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหาทุกอย่าง
เศรษฐกิจ ประชากรและ อัตราการฆ่าตัวตาย
จากการศึกษาพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง ในกรีนแลนด์ อัตราการฆ่าตัวตายในภาคตะวันออกมีมากกว่าอัตราการฆ่าตัวตายในภาคตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก มีจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า
วิธีที่คนใช้จัดการปัญหาในชีวิตประจำวัน และเป้าหมายในการมีชีวิตที่จะอยู่ต่อ จึงได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมและสังคม ซึ่งในแต่ละสังคมและวัฒนธรรมก็จะส่งผลที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้คนเรารู้สึกไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพในการใช้ชีวิต เป็นผลทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เข้ามาได้ ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเอง บางคนถึงกลับสูญเสียเป้าหมายในชีวิตของตัวเองไปเลยก็มี บางคนหาทางออกในปัญหานี้ไม่ได้จนต้องจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย