backup og meta

ปากช่องคลอดฉีก ตอนคลอดลูก สิ่งที่ต้องรู้และวิธีดูแลที่ถูกต้อง

ปากช่องคลอดฉีก ตอนคลอดลูก สิ่งที่ต้องรู้และวิธีดูแลที่ถูกต้อง

ปากช่องคลอดฉีก ในระหว่างคลอดลูกตามธรรมชาติ อาจเกิดขึ้นเมื่อทารกมีขนาดศีรษะใหญ่เกินกว่าที่ปากช่องคลอดจะขยายใหญ่ตามได้ โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ซึ่งแผลของปากช่องคลอดฉีกอาจหายได้ไวหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่บางครั้งแผลฉีกขาดก็อาจต้องได้รับการเย็บ หรือต้องใช้ครีมที่มียาผสมอยู่ทาควบคู่ไปด้วย

[embed-health-tool-bmi]

ปากช่องคลอดฉีก คืออะไร

ปากช่องคลอดฉีก มักพบได้บ่อยในระหว่างการคลอด อาการเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อทารกมีขนาดศีรษะใหญ่เกินกว่าที่ปากช่องคลอดจะขยายใหญ่ตามได้ สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงที่จะมีปากช่องคลอดฉีก ได้แก่

  • ผู้หญิงที่เพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
  • ผู้หญิงที่มีลูกน้อยตัวใหญ่
  • ผู้หญิงที่ต้องเบ่งคลอดนาน ๆ
  • ผู้หญิงที่ต้องใช้เครื่องช่วยในการคลอด เช่น การใช้คีมปากเป็ด เครื่องดูดสุญญากาศ

แม้แผลฉีกขาดส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีความรุนแรง แต่ระดับความรุนแรงของปากช่องคลอดฉีกนั้นถูกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ซึ่งทุกระดับอาจทำให้เจ็บปวด แต่บางระดับอาจต้องใช้วิธีเย็บแผล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหูรูดทวารหนัก

  • การฉีกขาดระดับที่ 1 มีรอยฉีกเกิดขึ้นแค่บริเวณเยื่อบุช่องคลอด ซึ่งไม่กระทบต่อกล้ามเนื้อ บางครั้งอาจต้องเย็บเล็กน้อย
  • การฉีกขาดระดับที่ 2 ซึ่งเป็นระดับที่พบได้บ่อย โดยจะเกิดการฉีกขาดในเยื่อบุช่องคลอด และเนื้อเยื่อในชั้นที่อยู่ลึกลงไป และจำเป็นต้องทำการเย็บที่มากขึ้น
  • การฉีกขาดระดับที่ 3 แผลฉีกระดับนี้จะเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดในชั้นที่อยู่ลึกลงไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ ที่ประกอบขึ้นเป็นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ในกรณีนี้คุณหมอาจใช้วิธีเย็บแผลไปทีละชั้น โดยต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในชั้นกล้ามเนื้อที่อยู่ใกล้กับกล้ามเนื้อหูรูด
  • การฉีกขาดระดับที่ 4 แผลฉีกขาดระดับนี้เป็นแผลลึก ซึ่งฉีกตั้งแต่ปากช่องคลอดไปจนถึงเยื่อบุลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นแผลที่มีความซับซ้อน และต้องทำการเย็บแผลหลายชั้น แต่การฉีกขาดระดับนี้มักไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

โดยปกติแล้ว แผลฉีกขาดจะรักษาให้หายได้ภายใน 7-10 วัน ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ นอกจากนี้ แผลฉีกขาดอาจต้องได้รับการเย็บ หรือต้องทาครีมหรือขี้ผึ้งที่ผสมตัวยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผลที่ฉีกขาด

วิธีเยียวยาแผลฉีกขาดด้วยตัวเอง

เมื่อเกิดปัญหาปากช่องคลอดฉีกขาดอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว มีเลือดออก และมีอาการบวม ซึ่งอาจเยียวยาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ใช้แผ่นประคบเย็น วางแผ่นประคบเย็นในบริเวณที่มีปัญหาเป็นเวลา 10-20 นาทีในแต่ละครั้ง ซึ่งอาจช่วยลดอาการบวมได้ ซึ่งแผ่นประคบเย็นบางยี่ห้อจะอยู่ในรูปแบบแผ่นอนามัยที่สามารถใส่เอาไว้ในกางเกงในได้ หากใช้น้ำแข็งประคบอาจใช้ผ้าสะอาด ๆ ห่อเอาไว้ เพื่อปกป้องผิวจากความเย็น และไม่ควรประคบเกิน 20 นาทีในแต่ละครั้ง
  • ใช้ยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น คุณหมออาจสั่งยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น หรือแนะนำยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา ซึ่งจะช่วยลดการเบ่งในเวลาถ่ายอุจจาระ นอกจากนี้ ไม่ควรกลั้นอุจจาระเอาไว้เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
  • พักผ่อนเยอะ ๆ เวลาที่คลอดลูกใหม่ ๆ คงเป็นเรื่องยากที่จะหาเวลาพักผ่อน ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังหนัก ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นได้

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่อไปนี้ เพราะอาจทำให้แผลฉีกขาดมีอาการแย่ลงได้

  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำที่ผสมเกลือ
  • หลีกเลี่ยงการใช้แป้งและโลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนหรือแผ่นประคบร้อนในบริเวณที่มีปัญหา
  • หลีกเลี่ยงการนั่งย่อเข่า
  • หยุดกิจกรรมทางเพศจนกว่าแผลจะหายดี
  • ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดช่องคลอด

หากมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอทันที

  • มีหนองไหลออกมา ทั้งยังมีกลิ่นเหม็น
  • มีอาการเจ็บปวดมากขึ้น
  • มีไข้
  • มีอาการบวมมากขึ้น

วิธีป้องกันปากช่องคลอดฉีก

สำหรับวิธีการป้องกันปากช่องคลอดฉีกขาดด้วยการดูแลตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

  • ฝึกขมิบช่องคลอด ในช่วงก่อนที่จะถึงกำหนดคลอด เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • กินวิตามินก่อนคลอด กินอาหารให้สมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ และรักษาสุขภาพโดยรวมให้ดีอยู่เสมอ
  • เมื่อถึงเวลาต้องเบ่งคลอดควรใช้สารหล่อลื่นควบคู่ไปด้วย
  • พยายามเพิ่มความอุ่นในบริเวณที่อยู่ระหว่างช่องคลอดกับทวารหนัก โดยใช้ผ้าขนหนูอุ่น ๆ ประคบเพื่อช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนในบริเวณนั้น และทำให้กล้ามเนื้อนิ่มลงด้วย

หากมีความกังวลเกี่ยวกับปากช่องคลอดฉีกขาด หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเช่นนี้ ควรปรึกษากับคุณหมอ เพื่อหาวิธีที่จะลดความเสี่ยง 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal Tearing During Childbirth: What You Need to Know. https://www.parents.com/pregnancy/giving-birth/vaginal/vaginal-tearing-during-childbirth-what-you-need-to-know/. Accessed on August 15, 2018

Postpartum care: What to expect after a vaginal delivery. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/in-depth/postpartum-care/art-20047233. Accessed on August 15, 2018

Vaginal tears in childbirth. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/multimedia/vaginal-tears/sls-20077129. Accessed February 10, 2022

Perineal tears during childbirth. https://www.rcog.org.uk/en/patients/tears/tears-childbirth/. Accessed February 10, 2022

How to Care For a Tear After Childbirth. https://www.webmd.com/parenting/how-to-care-for-a-tear-after-childbirth. Accessed February 10, 2022

Episiotomy and perineal tears. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/what-happens/episiotomy-and-perineal-tears/. Accessed February 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การผ่าคลอด กับเคล็ดลับการดูแลตัวเองเพื่อพักฟื้นร่างกาย

มะเร็งเต้านมกับการตั้งครรภ์ เมื่อเป็นมะเร็งเต้านม ยังสามารถมีลูกได้อยู่หรือเปล่า ?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา