ไลเคนพลานัสในช่องปาก (Oral Lichen Planus) คือภาวะอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลต่อเยื่อเมือกบุผิวภายในปาก ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนและอาการไม่สบายอื่นๆ มักพบในหญิงมากกว่าชาย พบมากในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี
คำจำกัดความ
ไลเคนพลานัสในช่องปาก คืออะไร
ไลเคนพลานัสในช่องปาก (Oral Lichen Planus) คือภาวะอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลต่อเยื่อเมือกบุผิวภายในปาก โรคไลเคนพลานัสในช่องปากอาจจะมีลักษณะเป็นรอยฝ้าสีขาว เนื้อเยื่อบวมแดง หรือแผลเปิด ซึ่งแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนและอาการไม่สบายอื่นๆ
ไลเคนพลานัสในช่องปากพบได้บ่อยแค่ไหน
ทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักจะพบโรคนี้มากในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี แต่เด็กและวัยรุ่นก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษากับแพทย์
อาการ
อาการของโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
อาการอาจจะค่อยๆ มา หรือเกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว คุณอาจจะมีอาการปากแห้ง หรือปวดแสบปวดร้อน มีรสชาติเหมือนโลหะอยู่ในปาก แล้วก็จะเริ่มเห็นรอยฝ้าขาวบนลิ้น แก้ม และบนเหงือกซึ่งอาจจะเป็นจุดเล็กๆ หรือเส้นเป็นลายตาข่าย และคุณอาจจะมีรอยปื้นแดง หรืออาการบวมเกิดขึ้น ในบางครั้งมันอาจจะลอกหรือเป็นแผลพุพอง
แผลนี้อาจจะทั้งแสบร้อนและปวด จะเจ็บมากเวลาที่คุณรับประทานอาหารที่เผ็ด เค็ม เป็นกรด (เช่น น้ำส้ม หรือมะเชือเทศ) หรือดื่มแอลกอฮอล์ ขนมกรอบๆ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคไลเคนพลานัสในช่องปากได้ ด้วยการตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ ในปากของคุณเพื่อส่งเข้าห้องแล็ปไปหาสาเหตุของปัญหา คุณอาจจำเป็นต้องมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาปัญหาอื่น ๆ อีกด้วย
อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ
ควรไปพบหมอเมื่อไร
ถ้าคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก อย่างไรก็ตาม เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ที (T lymphocytes) เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการอักเสบ อาจจะก่อให้เกิดโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก แม้อาจจะสามารถบ่งชี้ได้ว่า เป็นความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน แต่ก็ยังต้องการงานวิจัยอีกมาก เพื่อชี้สาเหตุที่แน่ชัด
มีความเป็นไปได้ว่า สำหรับคนบางคน โรคไลเคนพลานัสในช่องปากอาจจะถูกกระตุ้นจากยาบางตัว การบาดเจ็บที่ช่องปาก การติดเชื้อ หรือตัวที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้เช่น เครื่องมือทางทันตกรรม แต่สาเหตุเหล่านี้ยังไม่ได้รับการยืนยันที่แน่ชัด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
มีปัจจัยบางประการ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก เช่น มีความผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน หรือกำลังใช้ยาบางตัวอยู่ แต่ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยที่มากกว่านี้
การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
คุณจะสามารถวินิจฉัยโรคไลเคนพลานัสในช่องปากได้จาก
- สอบถามประวัติการแพทย์และประวัติทันตกรรม รวมถึงยาที่คุณกำลังใช้อยู่
- ทบทวนอาการ (Review of symptoms) ทั้งบาดแผลในช่องปากของคุณหรือบริเวณอื่นๆ ในร่างกาย
- ตรวจบริเวณช่องปากและบริเวณอื่นๆ ตามสมควร
นอกจากนี้อาจมีการตรวจโดยห้องแล็บ เช่น
- นำเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ จากบาดแผลหนึ่งที่ หรือมากกว่านั้น ไปส่องโดยใช้กล้องจุลทัศน์ เพื่อหาข้อบ่งชี้ของโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก อาจจำเป็นต้องมีการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เฉพาะทางอื่นๆ เพื่อหาโปรตีนระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
- เก็บเซลล์ตัวอย่างจากในช่องปาก ด้วยการใช้สำลีป้าย แล้วตรวจสอบด้วยกล้องจุลทัศน์ว่า มีเชื้อราแบบทุติยภูมิ (secondary fungal) แบคทีเรีย หรือการติดเชื้อในช่องปาก
- การตรวจเลือด อาจต้องทำเพื่อหาอาการเช่น ไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C) ซึ่งแทบจะไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก และโรคลูปัส (lupus) ที่อาจจะดูคล้ายกับโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
การรักษาโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
หากคุณแค่รู้สึกถึงพื้นผิวที่มีความขรุขระเล็กน้อยในปาก ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องรักษา หากคุณมีอาการปวดหรือเป็นแผล คุณหมออาจจะแนะนำให้ใช้ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) ในกรณีหายากอาจจำเป็นต้องให้ใบสั่งยาสเตอรอยด์
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยรักษาโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก
ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรักษาอาการของคุณได้
- รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี การรักษาช่องปากให้สะอาด สามารถช่วยลดอาการและช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ แปรงฟันเบาๆ อย่างน้อยวันละสองครั้ง โดยใช้ยาสีฟันที่อ่อนโยน และขัดฟันทุกวัน
- ปรับเปลี่ยนอาหารของคุณ งดอาหารเผ็ด เค็ม หรือเป็นกรด หากมันกระตุ้น หรือทำให้อาการของคุณแย่ลง เลือกอาหารที่อ่อนนุ่มเพื่อลดความไม่สบาย และลดปริมาณหรืองดคาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ และหลีกเลี่ยงนิสัยที่จะทำให้เกิดแผลในปาก เช่นการกัดริมฝีปากหรือแก้ม
- เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด เพราะความเครียดอาจทำให้อาการของคุณซับซ้อนยิ่งขึ้น หรือกระตุ้นให้อาการกลับมาเป็นอีกครั้ง คุณอาจจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงความเครียด คุณหมออาจจะแนะนำผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ที่จะสามารถช่วยคุณจัดการกับความเครียด พัฒนาเทคนิคจัดการความเครียด หรือแนะนำผู้ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตท่านอื่น
- ไปพบคุณหมอและทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ควรไปทันตแพทย์ สองครั้งต่อปีเพื่อตรวจและทำความสะอาด หรือไปบ่อยกว่านั้นตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เนื่องจากมักจะมีความจำเป็นในการรักษาระยะยาวดังนั้นจึงควรสอบถามคุณหมอหรือทันตแพทย์ว่าคุณควรมาบ่อยแค่ไหนเพื่อประเมินผลการรักษาและสแกนหาโรคมะเร็ง
หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]