backup og meta

โลชั่น วิธีเลือกและเคล็ดลับการใช้

โลชั่น วิธีเลือกและเคล็ดลับการใช้

โลชั่น มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูผิวที่เสื่อมสภาพและบำรุงผิวให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยกักเก็บและเติมเต็มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดริ้วรอย ทำให้ผิวดูเรียบเนียน กระจ่างใสและอ่อนนุ่ม ซึ่งการเลือกโลชั่นให้เหมาะกับสภาพผิวและใช้ให้ถูกวิธีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงผิวให้ดีมากขึ้น

แนวทางการเลือกโลชั่นให้เหมาะกับผิว

การเลือกโลชั่นให้เหมาะกับสภาพผิวของแต่ละคนอาจช่วยให้ผิวมีสุขภาพดีขึ้น ดังนี้

ผิวมันหรือเป็นสิวง่าย หากมีแนวโน้มเป็นสิวง่ายอาจเลือกโลชั่นที่ไม่ก่อให้เกิดสิว (Non-comedogenic) และไม่อุดตันรูขุมขน เช่น มีส่วนผสมของกรดอัลฟ่าไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA)

ผิวแห้ง อาจเลือกโลชั่นที่เข้มข้น โดยอาจมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้

  • กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) และไดเมทิโคน (Dimethicone) ซึ่งช่วยให้ผิวชุ่มชื้น
  • กลีเซอรีน (Glycerin) โพรพิลีนไกลคอล (Propylene Glycol) โปรตีน (Proteins) และยูเรีย (Urea) ช่วยเติมเต็มน้ำเข้าสู่ผิว
  • ลาโนลิน (Lanolin) มิเนอรัล ออยล์ (Mineral Oil) และน้ำมันปิโตรเลียม ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
  • ผิวแพ้ง่าย อาจเลือกโลชั่นที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้และปราศจากน้ำหอม โดยควรเลือกโลชั่นหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีน้อยกว่า 10 ส่วนผสมในขวดเดียว อาจประกอบด้วยเซราไมด์ (Ceramide) บิซาโบลอล (Bisabolol) เลซิติน (Lecithin) น้ำผึ้ง (Honey) เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงที่บางส่วนผสมอาจทำปฏิกิริยารุนแรงกับผิวแพ้ง่าย

คันผิว อาจลองใช้ครีมทาผิวไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ 1% ที่ใช้รักษาอาการอักเสบบนผิวหนัง ควรใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์และหยุดใช้ หากอาการคันผิวยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาและบรรเทาอาการคัน

ป้องกันแสงแดด สำหรับทุกสภาพผิวแนะนำให้ทามอยส์เจอไรเซอร์ควบคู่กับการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป แต่สำหรับทาบนใบหน้าแนะนำให้เลือกโลชั่นที่ปราศจากน้ำมันและน้ำหอม เพื่อลดความระคายเคืองและการอุดตันที่ผิวหนัง

สารต้านอนุมูลอิสระ สำหรับทุกสภาพผิวแนะนำให้เลือกโลชั่นที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยต้านการทำลายเซลล์ผิวจากอนุมูลอิสระ อาจช่วยให้ผิวดูสดชื่นและสุขภาพดี เช่น สารสกัดจากชาเขียว คาโมมายล์ ทับทิม รากชะเอมเทศ

ผิวเป็นกลาก อาจใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นแบบเข้มข้น มีส่วนผสมของน้ำมันปิโตรเลียมหรืออาจใช้เพียงแค่ปิโตรเลียมเจลลี่เพื่อช่วยบรรเทารอยแตกและทำให้ผิวที่เป็นกลากอ่อนนุ่มลง

ส่วนผสมในโลชั่นทาผิวที่ควรหลีกเลี่ยง

ส่วนผสมบางชนิดอาจไม่เหมาะกับผิว ทั้งยังทำให้ผิวระคายเคืองและเกิดอาการแพ้ได้ โดยสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่นผิดประเภท ควรอ่านวิธีใช้โลชั่นแต่ละชนิดและข้อบ่งใช้ที่อยู่ข้างบรรจุภัณฑ์ เพราะหากใช้โลชั่นหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผิดประเภทอาจทำให้ผิวระคายเคือง รูขุมขนอุดตัน และอาจเกิดอาการแพ้ได้ เช่น ส่วนผสมที่ประกอบด้วยลาโนลิน (Lanolin) มิเนอรัล ออยล์ (Mineral Oil) แว็กซ์ (Waxes) เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) ส่วนผสมเหล่านี้เหมาะกับผิวกาย หากใช้บนผิวใบหน้าอาจทำให้อุดตันรูขุมขนและทำให้เกิดสิวบนใบหน้าได้
  • หลีกเลี่ยงโลชั่นที่มีการแต่งสีและผสมน้ำหอม สำหรับทุกสภาพผิวควรหลีกเลี่ยงสารเติมแต่งโลชั่นที่ไม่จำเป็น เช่น การแต่งสี น้ำหอม เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง อุดตันหรือมีอาการแพ้ได้
  • หลีกเลี่ยงโลชั่นที่เป็นกรดมากเกินไป เช่น กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acids) กรดเรติโนอิก (Retinoic Acids) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acids) แอลกอฮอล์ เพราะส่วนผสมเหล่านี้อาจซึมเข้าสู่ผิวได้ลึกเกินไปและอาจเป็นปัญหากับผิวบอบบางและผิวแพ้ง่าย อาจทำให้ผิวระคายเคือง เป็นสิวหรืออักเสบได้
  • หลีกเลี่ยงโลชั่นที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มากเกินไป การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มากเกินไปจะทำให้ผิวหนังบางลงและอาจนำไปสู่ปัญหาผิว เช่น สิว ฝ้า ผิวแพ้ง่าย จึงควรจำกัดการใช้ครีมสเตียรอยด์เพียง 1-2 สัปดาห์ เว้นแต่คุณหมอจะสั่งให้ใช้เพื่อรักษาอาการโรคผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงกรดยูเรีย (Urea) หรือแลคติก (Lactic Acid) เนื่องจากส่วนผสมเหล่านี้อาจเหมาะสำหรับรักษาผิวที่เป็นกลากหรือผิวแตก หากใช้มากเกินไปหรือใช้ผิดประเภทอาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคืองที่รุนแรงขึ้นได้

วิธีทดสอบอาการแพ้โลชั่น

การทดสอบอาการแพ้โลชั่นสามารถทดสอบได้หลายวิธี ได้แก่

  • ทาโลชั่นบริเวณข้อพับเป็นเวลา 10 วัน
  • ทาครีมหลังใบหูติดต่อกัน 3 วัน
  • ทดสอบโดยคุณหมอด้วยวิธีนำครีมทาในแผ่นพลาสเตอร์และแปะที่หลัง 3 วัน

หากไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นแสดงว่าโลชั่นชนิดนั้นปลอดภัยกับผิว แต่หากใช้โลชั่นไปแล้วเกิดอาการแพ้ควรหยุดใช้ทันที จากนั้นล้างผิวบริเวณที่แพ้ออกด้วยน้ำเปล่าและอาจนำโลชั่นที่แพ้ไปให้คุณหมอวินิจฉัยเพื่อหาส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ จะได้หลีกเลี่ยงอาการแพ้จากการใช้โลชั่นชนิดอื่นอีก

สำหรับโลชั่นที่เปิดแล้วโดยปกติสามารถดูวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ แต่หากไม่มีวันหมดอายุ โลชั่นมักจะมีอายุได้ประมาณ 2-3 ปี หรือสามารถสังเกตได้จากเนื้อโลชั่นที่เปลี่ยนไป เช่น กลิ่นเปลี่ยน เนื้อจับตัวเป็นก้อนและสาก เนื้อเหลวเป็นน้ำ

เคล็ดลับในการใช้โลชั่นทาผิว

การเลือกโลชั่นให้เหมาะสมกับสภาพผิวอาจช่วยให้ผิวแลดูสุขภาพดีขึ้น ดังนี้

  • เลือกโลชั่นให้เหมาะกับผิวแต่ละส่วน ผิวแต่ละส่วนอาจต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน ส่วนผสมในโลชั่นก็เช่นกัน บางส่วนผสมอาจเหมาะกับผิวกายมากกว่าผิวหน้า หรือบางส่วนผสมอาจเหมาะกับผิวบริเวณฝ่ามือหรือบำรุงส้นเท้าแตกมากกว่า การเลือกโลชั่นและส่วนผสมให้เหมาะกับผิวเฉพาะส่วน สามารถช่วยให้ผิวได้รับการบำรุงที่ดีขึ้นและลดปัญหาการระคายเคืองของผิวที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา
  • เลือกโลชั่นให้เหมาะกับสภาพผิวและความต้องการในการดูแลผิว หากต้องการปกป้องผิวจากแสงยูวี ป้องกันริ้วรอยและต้องการให้ผิวแลดูกระจ่างใสขึ้น ควรเลือกครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป เพื่อช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด สำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง แพ้ง่าย เป็นสิว ควรเลือกโลชั่นที่เหมาะกับสภาพผิวของแต่ละคนเพื่อผลลัพธ์ของสุขภาพผิวที่ดีขึ้น
  • ทาโลชั่นในขณะที่ผิวยังชื้น ควรทาโลชั่นหลังจากอาบน้ำเสร็จ โดยใช้ผ้าขนหนูนุ่มซับผิวให้แห้งหมาด ๆ จากนั้นให้ลงโลชั่นบนผิวเปียกหมาดทันที วิธีนี้จะช่วยให้โลชั่นซึมเข้าสู่ผิวมากขึ้นและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ทำอย่างไรหากสงสัยว่า “แพ้เครื่องสำอาง”. https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue035/beauty-full. Accessed February 17, 2022

Choosing the Right Moisturizer for Your Skin. https://www.webmd.com/beauty/features/moisturizers#:~:text=Aim%20for%20a%20heavier%20moisturizer,Sensitive%20skin. Accessed February 17, 2022

Moisturizers for Acne. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC4025519/. Accessed February 17, 2022

[How I treat…the dry skin of the hands]. https://europepmc.org/article/med/17511376. Accessed February 17, 2022

Moisturizers: Reality and the skin benefits. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1529-8019.2012.01504.x. Accessed February 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/02/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้างหน้าด้วยน้ำเย็น มีประโยชน์ต่อผิวหน้า อย่างไร

เทคนิคดูแลผิวหน้าสำหรับผู้ชาย ควรเริ่มต้นอย่างไรดี?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา