backup og meta

ลูกโดนแกล้ง คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ลูกโดนแกล้ง คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

การโดนแกล้งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในโรงเรียน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีแผลหรือรอยฟกช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากอาหาร ซึมเศร้า อาจเป็นสัญณาณว่า ลูกโดนแกล้ง ซึ่งควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน และคุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีรับมือเมื่อลูกโดนแกล้งอย่างเหมาะสม เพราะอาจช่วยลดปัญหาสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของลูกที่เกิดจากการโดนแกล้งได้

ชนิดของการกลั่นแกล้ง ที่ควรรู้

การกลั่นแกล้งที่พบได้ทั่วไป เช่น

  • การกลั่นแกล้งทางร่างกาย (Physical Bullying) เป็นการกลั่นแกล้งที่ส่งผลต่อร่างกาย มักเกิดขึ้นในหมู่เด็กผู้ชาย เช่น การชกต่อย การตบตี การเตะ การหยิก และหมายถึงการทำลายทรัพย์สินของอีกฝ่ายได้ด้วย
  • การกลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal Bullying) เช่น การด่า การพูดล้อเลียน การพูดเหยียด การพูดวิจารณ์อีกฝ่าย
  • การกลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying) เป็นการทำให้อีกฝ่ายสูญเสียความน่าเชื่อถือหรือความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ทำให้เสียหน้า หรือทำให้ไร้ตัวตนในสังคม เช่น การปล่อยข่าวลือหรือข่าวเท็จ การวิจารณ์รูปร่างหน้าตาต่อหน้าคนอื่น การเล่นมุกตลกที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอายหรือโดนคนอื่นล้อเลียน การทำให้คนอื่น ๆ ไม่คบหากับคนที่โดนแกล้ง
  • การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์หรือโลกออนไลน์ (Cyber bullying) เป็นการกลั่นแกล้งหรือระรานผู้อื่นในสื่อออนไลน์ เช่น การโพสต์ข้อความ ภาพ หรือคลิปวิดีโอที่ไม่สมควรเผยแพร่ของอีกฝ่าย การปล่อยข่าวเท็จของผู้อื่นในสื่อโซเชียล ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต

ปัญหาที่เกิดจากการโดนแกล้ง

เมื่อลูกโดนแกล้ง มักส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต การใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคม ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่และคุณครูไม่รีบจัดการปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้น เช่น ปัญหาสุขภาพระยะยาว การใช้ยาเสพติด หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเด็กที่โดนแกล้งตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ผลเสียของการโดนแกล้งที่พบได้บ่อย เช่น

  • ปัญหาสุขภาพ เด็กที่โดนแกล้งมักพบปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เครียดจัด จนอาจส่งผลให้นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
  • มีปัญหาด้านการเรียน หากลูกโดนแกล้ง มักส่งผลให้ลูกมีผลการเรียนแย่ลง เนื่องจากไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการอ่านหนังสือ ไม่อยากไปโรงเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน ซึ่งหากปล่อยไว้ ลูกอาจโดนไล่ออก ต้องลาออก หรือต้องย้ายโรงเรียนในที่สุด
  • มีปัญหาด้านการเข้าสังคม หากลูกโดนเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง ก็อาจไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากไปพบปะผู้คนภายนอก ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กกลัวการเข้าสังคม ไม่ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น และส่งผลเสียในระยะยาวได้

ลูกโดนแกล้ง สังเกตได้อย่างไร

หากลูกของคุณมีพฤติกรรม หรืออาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ลูกโดนแกล้ง

  • มีบาดแผลหรือรอยฟกช้ำอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • เสื้อผ้า หนังสือ อุปกรณ์ รวมถึงข้าวของส่วนตัวเสียหายหรือสูญหาย
  • ไม่อยากอาหาร
  • มีปัญหาในการนอน
  • อารมณ์อ่อนไหวง่ายขึ้น
  • พยายามใช้เวลาเดินทางไปโรงเรียนนานขึ้น เพราะไม่อยากถึงโรงเรียนเร็ว
  • รู้สึกไม่อยากร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น
  • ไม่อยากออกไปข้างนอกกับเพื่อน ๆ
  • พยายามหาข้ออ้างในการหยุดเรียน เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง
  • วิตกกังวลเมื่อต้องเข้าสังคม
  • ขาดความนับถือตัวเอง
  • เกิดภาวะหงุดหงิดง่าย หรือมีความหดหู่เกิดขึ้น
  • มีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้

ลูกโดนแกล้ง คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับเรื่องลูกโดนแกล้ง คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เพื่อน การเรียน หรือการใช้ชีวิตที่โรงเรียน หรือสังคมนอกบ้านของลูกเป็นประจำ และควรหมั่นสังเกตุความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านพฤติกรรมและสุขภาพของลูก หากพบสัญญาณว่าลูกโดนแกล้ง หรือมีพฤติกรรมแกล้งคนอื่น ควรรีบให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่เหมาะสม โดยขอความร่วมมือและปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนและกุมารแพทย์เพื่อหาวิธีการจัดการ หลีกเลี่ยง รวมถึงระมัดระวังไม่ให้ลูกโดนแกล้งหรือไปแกล้งคนอื่น และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการโดนแกล้ง หรือการแกล้งคนอื่นนั้นมีผลเสียอย่างไรบ้าง และอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงในชีวิตได้ เช่น การก่ออาชญากรรม หากลูกมีพฤติกรรมแกล้งคนอื่น ควรช่วยให้ลูกปรับปรุงพฤติกรรมให้เป็นไปในทางให้ดีขึ้น จนพวกเขากลายเป็นที่ยอมรับในสังคม และหากลูกโดนแกล้ง ควรดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของลูก โดยเฉพาะสุขภาพจิต เพื่อไม่ให้ลูกมีแผลทางจิตใจจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to talk to your children about bullying. https://www.unicef.org/end-violence/how-talk-your-children-about-bullying. Accessed October 10, 2022

Children bullying others. https://raisingchildren.net.au/school-age/behaviour/bullying/your-child-bullying. Accessed October 10, 2022

How parents, teachers, and kids can take action to prevent bullying. https://www.apa.org/topics/bullying/prevent. Accessed October 10, 2022

Effects of Bullying. https://www.stopbullying.gov/bullying/effects. Accessed October 10, 2022

What Kids Can Do. https://www.stopbullying.gov/kids/what-you-can-do. Accessed October 10, 2022

BULLYING IN SCHOOLS. https://violence.chop.edu/bullying-schools. Accessed October 10, 2022

What Is Bullying. https://www.stopbullying.gov/bullying/what-is-bullying. Accessed October 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/10/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือกโรงเรียนอนุบาล ให้ลูก พ่อแม่ต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง

8 สัญญาณเตือนพ่อแม่ว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 10/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา