backup og meta

คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide)

คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide)

ข้อบ่งใช้

ยา คลอร์โพรพาไมด์ ใช้สำหรับ

ยาคลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) ใช้ร่วมกับการคุมอาหารที่เหมาะสมและโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 อาจใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอื่นๆ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะช่วยป้องกันความเสียหายต่อไต อาการตาบอด ปัญหาเกี่ยวกับประสาท การสูญเสียแขนขา และปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ

การควบคุมโรคเบาหวานอย่างเหมาะสม ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง ยาคลอร์โพรพาไมด์อยู่ในกลุ่มของยาซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylureas) ยานี้จะลดระดับของน้ำตาลภายในเลือดโดยการทำให้ร่างกายปล่อยสารอินซูลินตามธรรมชาติออกมา

วิธีการใช้ยา คลอร์โพรพาไมด์

  • รับประทานยานี้พร้อมกับอาหารมื้อเช้าตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติ คือ วันละครั้ง ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา
  • หากยานี้ทำให้เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วน โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการแบ่งรับประทานยาในขนาดเล็กๆ วันละหลายครั้ง ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง
  • เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง แพทย์อาจจะสั่งให้คุณเริ่มใช้ยานี้ในขนาดต่ำแล้วค่อยๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นมา ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ใช้ยาเป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป)

การเก็บรักษายา คลอร์โพรพาไมด์

ยาคลอร์โพรพาไมด์ ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาคลอร์โพรพาไมด์บางยี่ห้อ อาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาคลอร์โพรพาไมด์ลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูก สอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา คลอร์โพรพาไมด์

ก่อนใช้ยาคลอร์โพรพาไมด์ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคไต โรคตับ ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ รูปแบบการรับประทานอาหารผิดปกติ สภาวะทางฮอร์โมนบางประเภท เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง กลุ่มอาการหลั่งฮอร์โมแอนติไดยูเรติกไม่เหมาะสม (SIADH) ภาวะอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) ไม่สมดุล (โซเดียมในเลือดต่ำ)

คุณอาจจะมีอาการมองเห็นไม่ชัด วิงเวียน หรือง่วงซึมเนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัว หรือการมองเห็นที่ชัดเจนจน กว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย

ควรจำกัดปริมาณการดื่มสุราขณะที่ใช้ยานี้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดได้ นอกจากนี้สุรายังอาจจะมีปฏิกิริยาต่อยาคลอร์โพรพาไมด์และทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ อย่างกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม (disulfiram-like reaction) โดยมีอาการอย่างหน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน หรือปวดท้อง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดื่มสุรา

คุณอาจจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น หากร่างกายมีความตึงเครียด เช่น เนื่องจากไข้หวัด การติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด โปรดปรึกษาแพทย์เนื่องจากคุณอาจต้องเปลี่ยนแผนการรักษา เปลี่ยนยา หรือตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

ยานี้อาจทำให้คุณมีปฏิกิริยาไวต่อแสงแดดมากขึ้น ควรจำกัดเวลาอยู่ใต้แสงแดด หลีกเลี่ยงการตากแดดและหลอดไฟอุลตร้าไวโอเลต ควรทาครีมกันแดดและสวมเสื้อผ้าป้องกันเมื่ออยู่นอกบ้าน โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากคุณมีอาการแดดเผาหรือแผลพุพองหรือรอยแดงที่ผิวหนัง

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ

ผู้สูงอายุอาจจะมีปฏิกิริยาไวต่อผลข้างเคียงของยานี้ โดยเฉพาะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะน้ำหรืออิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์

การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานหรือทำให้โรครุนแรงขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่คุณตั้งครรภ์ แพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนแผนการรักษาโรคเบาหวานขณะที่คุณตั้งครรภ์ (เช่น การจำกัดอาหารและการใช้ยา รวมถึงยาอินซูลิน)

ยานี้สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยาคลอร์โพรพาไมด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา คลอร์โพรพาไมด์

อาจเกิดอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องร่วง อาเจียน และน้ำหนักเพิ่มขึ้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ มีความเปลี่ยนแปลงที่ผิว เช่น ผิวคล้ำขึ้นหรือหนาขึ้น เหนื่อยล้าผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือรัว มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือจิตใจ น้ำหนักขึ้นกะทันหัน บวมที่มือหรือเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อกระตุก มีอาการปวดขณะขับถ่ายอุจจาระ อุจจาระเป็นสีเลือดหรือสีดำ ดวงตาและผิวหนังเป็นสีเหลือง คลื่นไส้อาเจียนตลอด ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะสีคล้ำ มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ เจ็บคอตลอด ชัก

ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ภาวะนี้สามารถเกิดได้หากคุณบริโภคแคลอรี่จากอาหารไม่เพียงพอหรือหากคุณออกกำลังกายหนักผิดปกติ อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมีดังนี้ เหงื่อออกกะทันหัน สั่นเทา หัวใจเต้นเร็ว หิว มองเห็นไม่ชัด วิงเวียน หรือเป็นเหน็บที่มือหรือเท้า

คุณควรจะพกน้ำตาลกลูโคสแบบเม็ดหรือเจลติดตัวไว้ หากคุณไม่มีแหล่งน้ำตาลกลูโคสที่เชื่อถือได้เหล่านี้ อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็วได้ด้วยการรับประทานแหล่งของน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง ลูกอม หรือดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมแบบธรรมดา โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นและการใช้ยานี้ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและไม่ควรงดอาหาร ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากคุณลืมรับประทานอาหาร

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมีดังนี้ กระหายน้ำ ปัสสาวะเพิ่มขึ้น สับสน ง่วงซึม หน้าแดง หายใจเร็ว หรือมีกลิ่นปากเป็นกลิ่นผลไม้ หากมีอาการเหล่านี้โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันที ขนาดยาของคุณอาจจะต้องเพิ่มขึ้น

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ปฏิกิริยาของยาอาจจะเปลี่ยนแปลงการทำงานของยาหรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง บทความนี้ไม่ได้มีปฏิกิริยาทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรของคุณทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ อย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาจำนวนมากสามารถส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแล้วทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น ก่อนเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนยาใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อรัดับน้ำตาลในเลือดของคุณ

ควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดตามที่กำหนดและแจ้งผลให้แพทย์ทราบ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากคุณมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในส่วนของผลข้างเคียง) แพทย์อาจจะต้องปรับเปลี่ยนยารักษาโรคเบาหวาน โปรแกรมการออกกำลังกาย หรืออาหารที่คุณรับประทาน

ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker medications) ทั้งยาเมโทโพรลอล (metoprolol) ยาโพรพราโนลอล (propranolol) ยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน อย่างยาทิโมลอล (timolol) อาจป้องกันไม่ให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วหรือรัว ที่คุณมักจะรู้สึกเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำ อาการอื่นๆ ของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น วิงเวียน หิว หรือเหงื่อออกนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบจากยาเหล่านี้

ควรอ่านฉลากของยาทั้งหมด เช่น ยาแก้ไอ แก้หวัด เนื่องจากอาจมีส่วนประกอบที่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ โปรดสอบถามแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

ยาคลอร์โพรพาไมด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาคลอร์โพรพาไมด์อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาคลอร์โพรพาไมด์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาคลอร์โพรพาไมด์สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

  • ขนาดยาเริ่มต้น 100 ถึง 250 มก. รับประทานวันละครั้ง
  • ปรับเพิ่มขนาดยาเพิ่มขึ้นที่ขนาด 50 ถึง 125 มก. ไม่ควรบ่อยเกินกว่าทุกๆ 3 ถึง 5 วัน
  • ขนาดยาปกติ 100 ถึง 500 มก. ต่อวัน
  • ขนาดยาสูงสุด 750 มก. ต่อวัน

คำแนะนำ

  • การรักษาเพื่อจัดการกับโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ควรจะแตกต่างตามแต่ละคน ควรพิจารณาใช้ขนาดยาเริ่มต้นในขนาดที่ต่ำกว่าสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองโดยสมบูรณ์ต่อยาขนาด 500 มก./วัน มักจะไม่ตอบสนองต่อขนาดยาที่มากกว่านี้
  • อาจรับประทานยาทั้งหมดภายในครั้งเดียวพร้อมกับมื้อเช้า สามารถลดอาการแพ้ที่ทางเดินอาหารได้จากการแบ่งรับประทานยาเป็นหลายครั้งต่อวัน
  • การเปลี่ยนจากการใช้ยาต้านเบาหวานอื่น มาใช้ยานี้ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป อ่านเพิ่มเติมในส่วนการปรับขนาดยา

การใช้งาน

เพื่อเสริมต่อการจำกัดอาหารและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการควบคุมน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ขนาดยาสำหรับผู้สูงอายุเพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ขนาดยาเริ่มต้น 100 ถึง 125 มก. รับประทานวันละครั้ง

การปรับขนาดยาสำหรับไต

ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง ควรระมัดระวังการเลือกขนาดยาเริ่มต้นและขนาดยาปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง ควรระมัดระวังการเลือกขนาดยาเริ่มต้นและขนาดยาปกติเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

การปรับขนาดยา

สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้ที่ขาดสารอาหาร ควรระมัดระวังการเลือกขนาดยาเริ่มต้นและขนาดยาปกติเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

การเปลี่ยนจากการใช้ยาต้านโรคเบาหวานอื่นมาใช้ยานี้

ไม่จำเป็นต้องมีช่วงเวลาการเปลี่ยน ควรพิจารณาสำหรับขนาดยาที่มากกว่า

การเปลี่ยนจากการใช้ยาอินซูลินมาใช้ยานี้

  • สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาอินซูลินไม่เกิน 40 หน่วยต่อวัน ควรหยุดใช้ยาอินซูลินเมื่อเริ่มต้นใช้ยานี้
  • สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาอินซูลินมากกว่า 40 หน่วยต่อวัน ควรลดขนาดยาอินซูลินลงมา 50% เมื่อเริ่มใช้ยานี้ ตามด้วยค่อยๆ ลดขนาดยาอินซูลินโดยขึ้นอยู่กับการตอบสนอง
  • ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังระดับน้ำตาลกลูโคสของตัวเองอย่างน้อยวันละ 3 ครั้งในช่วงหยุดใช้ยาอินซูลิน
  • อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำภายใน 4 ชั่วโมงหลังจากหยุดใช้ยาอินซูลินแบบออกฤทธิ์นานปานกลางหรือออกฤทธิ์นานเนื่องจากยังคงมีฤทธิ์ของยาอินซูลินอยู่และโดยเบื้องต้นมักจะไม่ใช่เนื่องจากผลของยานี้

คำแนะนำอื่นๆ

คำแนะนำการใช้ยา

  • รับประทานยาวันละครั้ง ในตอนเช้า
  • หากเกิดอาการแพ้ในทางเดินอาหาร อาจแบ่งรับประทานยา

ทั่วไป

  • อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้ขาดสารอาหาร ในผู้ที่ใช้ยาหลายชนิดร่วมกับ และหรือผู้ที่มีภาวะไตบกพร่อง ตับบกพร่อง หรือต่อมหมวกไตบกพร่อง เนื่องจากครึ่งชีวิตที่ยาวของยานี้ ควรรับประทานอาหารให้บ่อยอย่างน้อย 3 ถึง 5 วัน และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างการรักษา
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 และภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (diabetic ketoacidosis)
  • ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) อาจจะเกิดขึ้นขากการขาดเอ็นไซม์จี 6 พีดี (G6PD) โปรดพิจารณาทางเลือกที่ไม่ได้ใช้ ยาซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylurea)
  • เมื่อผู้ป่วยที่อยู่ตัวจากการใช้ยารักษาโรคเบาหวานใดๆ มีความตึงเครียด เช่น เป็นไข้ แผลติดเชื้อ หรือการผ่าตัด อาจจะต้องหยุดใช้ยานี้แล้วให้ยาอินซูลิน

การเฝ้าระวัง

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรได้รับการเฝ้าระวังเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ถึง 48 ชั่วโมง เนื่องจากครึ่งชีวิตที่มีระยะยาวของยานี้
  • จำเป็นต้องทำการตรวจทางการแพทย์และห้องแล็บเป็นประจำ เพื่อหาขนาดยาต่ำสุดที่มีประสิทธิภาพและเพื่อตรวจจับความผิดพลาดปฐมภูมิและทุติยภูมิ
  • ควรตรวจสถานะทางการแพทย์ภายใน 4 ถึง 8 สัปดาห์แรกและเป็นประจำหลังจากนั้น
  • ควรเฝ้าระวังผลการตรวจในห้องแล็ป รวมถึงควรตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังอดอาหารเป็นระยะๆ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และตรวจปัสสาวะ (ระดับน้ำตาลกลูโคสและคีโตน) เป็นประจำระหว่างช่วงเริ่มต้นใช้ยาและช่วงเปลี่ยนขนาดยา ควรตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) เพื่อเป็นการรับรองทางการแพทย์

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยควรตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย และการคุมอาหารเพื่อจัดการกับโรค
  • ผู้ป่วยควรเข้าใจว่าการดื่มสุรา การออกกำลังกายอย่างหนักหรือเป็นเวลานาน การงดอาหาร การป่วย หรือการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ผู้ป่วยควรรับทราบถึงอาหารของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแล้วเตรียมพร้อมในการรักษา
  • ผู้ป่วยควรระมัดระวังการขับรถและการใช้เครื่องจักร โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบในช่วงที่มีความตึงเครียด เช่น เป็นไข้ บาดเจ็บ หรือป่วย เนื่องจากอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการกับโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

ขนาดยาคลอร์โพรพาไมด์สำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ขนาดและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ด

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chlorpropamide. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-8635/chlorpropamide-oral/details. Accessed January 15, 2018.

Chlorpropamide Dosage. https://www.drugs.com/dosage/chlorpropamide.html. Accessed January 15, 2018.

Chlorpropamide https://www.drugbank.ca/drugs/DB00672

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขนมสำหรับคนเป็นเบาหวาน มีขนมอะไรบ้างที่กินได้

วิธี ลดน้ำตาลในเลือด ทำได้ด้วยตนเองเพื่อลดเสี่ยงเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา