backup og meta

ฝีมะม่วง อาการ สาเหตุ การรักษา

ฝีมะม่วง อาการ สาเหตุ การรักษา

ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum หรือ LGV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ รวมทั้ง อาการเลือดคั่งบริเวณอวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองโตที่ขาหนีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบวมและเดินลำบาก หากรู้สึกว่ามีอาการเจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศควรเข้ารับการตรวจโดยคุณหมอในทันที

คำจำกัดความ

ฝีมะม่วงคืออะไร

ฝีมะม่วง คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรียคลามีเดีย (Chlamydia trachomatis) หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ผิวหนังที่มีแผลเปิด ก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดหรือปากมดลูก ซึ่งอาจไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ทำให้การติดเชื้อลุกลามเเละส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างบวม เป็นฝีขนาดใหญ่ และทำให้อวัยวะเพศมีเลือดคั่ง

ฝีมะม่วงสามารถพบในทุกช่วงวัยตั้งแต่ 15-40 ปี และมีโอกาสเป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงเท่า ๆ กัน แต่อาจพบว่าเพศชายเป็นมากกว่า เนื่องจากในเพศชายมักแสดงอาการชัดเจนกว่า โดยเฉพาะกลุ่มรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย และมักพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเอชไอวี

อาการ

อาการของฝีมะม่วง

ผู้ป่วยฝีมะม่วงมักแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อไปแล้วประมาณ 3-30 วัน เบื้องต้นอาจเป็นแผล หรือฝีขนาดเล็กบริเวณอัณฑะหรือช่องคลอด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทันสังเกตเห็น หรืออาจไม่มีอาการ โดยเฉพาะอาการในผู้หญิงจะแสดงชัดเจนหลังจากเชื้อพัฒนาลุกลามมากขึ้น แต่สำหรับผู้ชายจะมีอาการค่อนข้างเด่นชัดหรือรุนแรงตั้งแต่ระยะแรกหลังได้รับเชื้อ และแม้ในบางรายไม่แสดงอาการแต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ อาการของฝีมะม่วงมีดังนี้

  • มีแผล หรือเป็นริดสีดวงทวารหนัก ทำให้อาจมีเลือดหรือหนองไหลออกจากทวารหนัก
  • มีเลือดคั่งหรือมีหนองไหลออกมาจากบริเวณอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณทวารหนักเวลาเบ่ง ถ่ายอุจจาระ หรือมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • ท้องผูก
  • มีน้ำใสไหลจากต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ
  • ผิวหนังบริเวณขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2  ข้างบวมแดง มีลักษณะเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่
  • ผู้หญิงอาจมีริมฝีปากบวม

สาเหตุ

สาเหตุของฝีมะม่วง

สาเหตุของการเกิดฝีมะม่วงเกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียที่เข้าสู่ผิวหนังแล้วแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลือง จนทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะรอบ ๆ ต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบอักเสบ บวมแดงและเจ็บปวด กลายเป็นก้อนฝีหนอง หรืออาจเป็นแผลเน่าเปื่อยได้ อีกทั้งยังอาจมาจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียเข้าผ่านผิวหนังที่มีแผลเปิด ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของฝีมะม่วง

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสูงเป็นฝีมะม่วง มีดังนี้

  • ติดเชื้อเอชไอวี
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกัน ไม่ว่าจะทางปาก ทวารหนัก หรือทางช่องคลอด
  • มีเพศสัมพันธ์แบบหมู่
  • การใช้มือสอดใส่หรือสัมผัสช่องคลอด
  • ใช้เซ็กส์ทอยร่วมกันโดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยหรือล้างทำความสะอาดก่อนใช้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ใด ๆ ควรปรึกษาหมอของคุณทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อเติม

การวินิจฉัยฝีมะม่วง

การวินิจฉัยฝีมะม่วงอาจสามารถเข้ารับการตรวจได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณต่อมน้ำเหลืองเข้ารับการตรวจ
  • การตรวจเลือดหาเชื้อแบคทีเรีย
  • ตรวจการไหลของน้ำใสจากต่อมน้ำเหลือง บริเวณขาหนีบหรือบริเวณอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ
  • การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากแผลบริเวณอวัยวะเพศหรือปากไปตรวจ

การรักษาฝีมะม่วง

วิธีรักษาฝีมะม่วงสามารถรักษาให้หายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การรักษาโดยการใช้ยาและการผ่าตัด ดังนี้

การใช้ยา

  • รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งติดต่อกันประมาณ 21 วัน หรือ ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หรืออิริโธรมัยซิน (Erythromycin) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

การผ่าตัด

  • การผ่าตัดระบายน้ำเหลืองออก หรือระบายหนองออก เพื่อลดผลข้างเคียงการอักเสบเรื้อรัง อาการขับถ่ายผิดปกติ อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันฝีมะม่วง

วิธีป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจนำไปสู่การเกิดฝีมะม่วง ได้แก่

  • สวมถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • รับประทานยาตามที่คุณหมอกำหนด
  • ตรวจร่างกาย เป็นประจำ
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ดูแลทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยความระมัดระวังทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์หรือมีกิจกรรมทางเพศ
  • หากสงสัยว่าติดเชื้อฝีมะม่วง ให้งดการมีเพศสัมพันธ์ และปรึกษาคุณหมอ
  • สังเกตคู่นอนว่ามีสัญญาณเตือนของอาการฝีมะม่วงหรือไม่ เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lymphogranuloma Venereum (LGV). https://emedicine.medscape.com/article/220869-overview. Accessed December 29, 2021.

Lymphogranuloma venereum.  https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000634.htm. Accessed December 29, 2021.

Lymphogranuloma Venereum (LGV). https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/sexually-transmitted-diseases-stds/lymphogranuloma-venereum-lgv. Accessed December 29, 2021.

Lymphogranuloma Venereum (LGV). https://www.cdc.gov/std/treatment-guidelines/lgv. Accessed December 29, 2021.

lymphogranuloma venereum. https://www.britannica.com/science/lymphogranuloma-venereum. Accessed December 29, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/04/2022

เขียนโดย Duangkamon Junnet

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

หนองในแท้ในทารก โรคติดต่อจากแม่สู่ลูก ที่คุณควรรู้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 06/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา