วัยทองในผู้ชาย เป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชายอยู่ในช่วงอายุ 40 ปีตอนปลายหรือ 50 ปีตอนต้น มีสาเหตุจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในร่างกายที่ลดลง ทั้งนี้ 10 สัญญาณ วัยทอง ผู้ชาย ได้แก่ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง หน้าอกใหญ่ขึ้น เป็นต้น
[embed-health-tool-bmr]
วัยทองในผู้ชายคืออะไร
วัยทองในผู้ชาย (Male Menopause หรือ Andropause) อาจพบได้ในผู้ชายอายุ 40 ปีตอนปลายถึง 50 ปีตอนต้น โดยเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายลดลง
อย่างไรก็ตาม การลดลงเทสโทสเตอโรนแตกต่างจากการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยทอง โดยในผู้ชาย เทสโทสเตอโรนจะลดลงเรื่อย ๆ ในอัตราประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์/ปี จนเหลือเพียง 10-25 เปอร์เซ็นต์จากระดับปกติ ส่วนในผู้หญิง ฮอร์โมนเพศจะลดลงทีละน้อยจนหมดไป
10 สัญญาณ วัยทอง ผู้ชาย มีอะไรบ้าง
10 สัญญาณที่บอกว่าผู้ชายเข้าสู่วัยทองแล้ว ได้แก่
- ความต้องการทางเพศลดลง
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า
- ขาดสมาธิ ความทรงจำแย่ลง
- ขาดพลังงาน หมดความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ไขมันเปลี่ยนไป ส่งผลให้หน้าท้องและหน้าอกใหญ่ขึ้น
- มวลกล้ามเนื้อลดลง รู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าเดิม
- ขาดความมั่นใจในตัวเอง
- ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง
- นอนหลับง่ายหรือยากขึ้น
ปกติแล้ว วัยทองในผู้ชายมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และบางครั้ง อาจไม่มีอาการใด ๆ
นอกจากนี้ อาการแบบเดียวกับวัยทองในผู้ชาย อย่างอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศที่ลดลง ยังพบได้จากสาเหตุอื่นด้วย อาทิ ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาสุขภาพจิต โรคต่าง ๆ
ทั้งนี้ ผู้ชายควรเข้ารับการตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหากพบสัญญาณของวัยทอง
การรักษา วัยทองในผู้ชาย
วัยทองในผู้ชายอาจไม่ต้องรักษา หากไม่สร้างความลำบากหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
โดยทั่วไป หากตรวจพบว่าเป็นวัยทอง คุณหมอมักแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการวัยทอง
ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ชายวัยทองที่เครียดหรือวิตกกังวล คุณหมอจะรักษาด้วยการจ่ายยาให้รับประทาน หรือพูดคุยเพื่อบำบัดความคิดและพฤติกรรม
นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้รับเทสโทสเตอโรนทดแทน ในรูปแบบของเจลหรือยาฉีด เพื่อทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทสโทสเตอโรนทดแทนอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงมีภาวะหัวใจวายได้ ดังนั้น ก่อนรับการรักษาด้วยวิธีนี้ จึงควรปรึกษาคุณหมอและตรวจสุขภาพอื่น ๆ เพื่อการตัดสินใจต่อไป