สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ผู้หญิงบางคนมีสิวขึ้นก่อนมีประจำเดือนเนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างรอบเดือน บางคนอาจเกิดสิวได้แม้จะผ่านช่วงวัยรุ่นไปหลายปีแล้ว หรือแม้แต่วัยหมดประจำเดือนก็สามารถเกิดสิวได้เช่นกัน การรักษาสิวทำได้หลายวิธี เช่น การทายารักษาสิว การฉีดสิว รวมถึงการใช้ ยาคุมลดสิว ยาคุมกำเนิดจะช่วยควบคุมฮอร์โมนในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งอาจช่วยลดสิวได้ ทั้งนี้ การใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ก่อนเริ่มการรักษาควรศึกษาถึงประโยชน์และความเสี่ยงในการใช้ยา และควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อให้ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับยาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมลดสิวได้ด้วย
[embed-health-tool-bmi]
ยาคุมช่วยในการลดสิวได้อย่างไร
สิวที่เกิดขึ้นบนใบหน้าอาจเกิดจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตซีบัม (Sebum) หรือน้ำมันตามธรรมชาติของผิวหนังในปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากรังไข่และต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) มากเกินไป เมื่อน้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่น เข้าไปอุดตันรูขุมขน อาจส่งผลให้กระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวได้
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศชายที่ผลิตจากรังไข่และต่อมหมวกไตของผู้หญิงสามารถก่อให้เกิดสิวได้ การใช้ยาคุมลดสิวที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนรวมทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน จึงเป็นทางเลือกที่อาจช่วยลดปริมาณฮอร์โมนเพศชายในร่างกาย ส่งผลให้ความมันส่วนเกินน้อยลงและอาจลดความรุนแรงของปัญหาสิวได้
ประโยชน์ของการใช้ ยาคุมลดสิว
ประโยชน์ของการใช้ ยาคุมลดสิว อาจมีดังนี้
- ช่วยลดการแพร่กระจายของสิว
- ลดการเกิดสิวผด
- ลดการอักเสบและรอยแดง
ประเภทยาคุมที่ช่วยในการรักษาสิว
ยาคุมที่ใช้ในการรักษาสิวจะเป็นยาในกลุ่มฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive – COC) โดยแต่ละประเภทจะประกอบไปด้วยเอทินิล เอสตราไดออล (Ethinyl estradiol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณต่ำ และมีฮอร์โมนสังเคราะห์ที่คล้ายโปรเจสเตอโรนที่ต่างชนิดกันไป เช่น
- ยานอร์เจสทิเมทและเอทินิล เอสตราไดออล (Norgestimate, Ethinyl estradiol) ใช้รักษาสิวในระดับปานกลาง โดยควรใช้ติดต่อกันเพื่อให้รักษาสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ยานอร์อิทิสเตอโรนและเอทินิล เอสตราไดออล (Norethisdrone, Ethinyl estradiol) ใช้ในการรักษาสิวระดับปานกลาง ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดรูขุมขนอุดตันที่เป็นต้นเหตุของสิว
- ยาดรอสไพรีโนนและเอทินิล เอสตราไดออล (Drospirenone, ethinyl estradiol) เหมาะสำหรับการรักษาสิวที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้ การใช้ยาคุมชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จึงควรปรึกษาคุณหมอและเภสัชกรก่อนการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
การใช้ ยาคุมลดสิว อย่างถูกวิธี
การใช้ยาคุมลดสิวอย่างมีประสิทธิภาพ อาจทำได้ดังนี้
- ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาคุมลดสิว เนื่องจากการใช้ยาคุมกำเนิดอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดบริเวณเต้านม
- ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพสูงสุด
- อาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างน้อย 2-3 เดือน สิวจึงจะเริ่มลดลง และในช่วงแรกที่รับประทานยา อาจมีสิวเยอะขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเมื่อเริ่มใช้ยาคุมกำเนิด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยาเพื่อรักษาโรคเป็นประจำ จำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาคุมเพื่อลดสิว เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ หากใช้ร่วมกัน
- หากกำลังรักษาสิวด้วยวิธีการอื่น เช่น ทายารักษาสิว เลเซอร์รักษาสิว และต้องการเริ่มใช้ยาคุมลดสิว ให้ใช้ยาคุมกำเนิดควบคู่กับการรักษาสิวด้วยวิธีอื่นที่ทำอยู่ เนื่องจากยาคุมกำเนิดช่วยปรับระดับฮอร์โมนเพศเท่านั้น จึงอาจใช้ลดสิวที่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ไม่ได้
- หากต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุม อาจเลือกใช้ยาคุมกำเนิดประเภทที่มีปริมาณยาต่ำสุด แต่หากเป็นสิวในระดับปานกลางหรือรุนแรง อาจต้องใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณยาสูงขึ้น เพื่อให้ช่วยปรับระดับฮอร์โมนเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาคุมลดสิว
ผลข้างเคียงในการใช้ยาคุม อาจมีดังนี้
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ผลข้างเคียงที่รุนแรง อาจมีดังนี้
- โรคตับและถุงน้ำดี
- โรคความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับหัวใจ
- ภาวะซึมเศร้า
ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาคุมลดสิว
ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมลดสิว อาจมีดังนี้
- กำลังตั้งครรภ์หรือพยายามตั้งครรภ์
- ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์หรือยังไม่มีประจำเดือน
- อายุมากกว่า 35 ปีและสูบบุหรี่
- เป็นไมเกรน
- มีความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือด
- เป็นโรคหัวใจ
- มีประวัติมะเร็งเต้านม เคยมีเลือดออกจากมดลูกผิดปกติและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือเป็นโรคตับ
- มีประวัติลิ่มเลือดอุดตัน