ปัญหาการได้ยิน เป็นอีกภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หากผู้ป่วยเบาหวานไม่ดูแลระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม จนอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตัวเองเพื่อควบคุมและรับมือกับปัญหาการได้ยิน รวมไปถึงป้องกันมีให้เกิดปัญหานี้ได้
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวานส่งผลต่อการได้ยินอย่างไร
หูเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการรับรู้เสียง โดยหน้าที่ในการรับรู้เสียงและส่งสัญญาต่อเนื่องไปยังสมองเพื่อแปลความหมาย จะเป็นหน้าที่ขอหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่บอบบางเนื่องจากประกอบด้วยเส้นประสาทและหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวานหากปล่อยไว้เรื้อรัง มักส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อเส้นเลือดต่าง ๆ ในร่างกาย หูจึงเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ซึ่งส่งผลทำให้เส้นประสาทและหลอดเลือดของหูชั้นในเสียหาย จนอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียความสามารถในการการได้ยินหรือรับรู้เสียงได้
ปัญหาการได้ยินในผู้ป่วยเบาหวาน มีอาการแสดงอย่างไรบ้าง
อาการที่อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าผู้ป่วยเบาหวานอาจเริ่มสูญเสียการได้ยินมีดังนี้
- มีความลำบากในการสื่อสารกับผู้อื่นมากขึ้นกว่าปกติ เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารบ่อยครั้ง (กับผู้อื่นที่คุย/สื่อสารด้วยมากกว่า 1 คน) หรือเกิดความเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากปัญหาการฟังข้อมูลที่ผิดพลาดไป
- มีปัญหาในการทรงตัว เช่น มีอาการเวียนศีรษะ/บ้านหมุน บ่อย ๆ หรือ มีอาการขณะที่เปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว
- จำเป็นต้องเพิ่มระดับเสียงโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือให้ดังมากกว่าปกติ เนื่องจากไม่ได้ยินเสียง
ปัญหาการได้ยินในผู้ป่วยเบาหวาน ส่งผลอย่างไร
ปัญหาการได้ยินในผู้ป่วยเบาหวานหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย ดังนี้
เพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม
ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการรับสิ่งเร้าไม่ว่าจะเป็น ภาพ แสง/สี กลิ่น และ เสียง ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว จะส่งผลกระตุ้นให้สมองตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นการบริหารสมองให้แข็งแรง ดังนั้นปัญหาการได้ยินที่ลดลง จึงทำให้ร่างกายรับรู้เร้ารอบตัวน้อยลงด้วย จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในระยะยาว
การแยกตัวออกจากสังคม
เมื่อมีการได้ยินบกพร่อง จึงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารกับคนรอบข้าง ครอบครัว ทำให้ต้องเพิ่มระดับเสียงในการพูดคุย รวมทั้งอาจเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร จนนำไปสู่การผิดใจกัน ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกขาดความมั่นใจและไม่อยากเข้าสังคม เนื่องจากรู้สึกแตกต่าง หรือ รู้สึกอาย/มีปมด้อย จนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
วิธีป้องกัน ปัญหาการได้ยินในผู้ป่วยเบาหวาน
แม้ว่าการสูญเสียความสามารถในการได้ยินจากโรคเบาหวาน จะเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่เราสามารถป้องกันและไม่ทำให้การได้ยินบกพร่องไปมากยิ่งขึ้นได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ลดระดับเสียงจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันสุขภาพหูจากเสียงที่ดังมากเกินไป แต่ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องทำงานหรืออยู่ในบริเวณที่ที่มีเสียงดังมาก ๆ หรือ เป็นระยะเวลานาน ๆ แนะนำให้ใช้หูฟังหรือที่อุดหู เพื่อช่วยลดระดับเสียงในการได้ยิน
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันมิให้เส้นเลือดและเส้นประสาทในหูชั้นในเสื่อมเพิ่มมากขึ้น จึงช่วยให้ความสามารถได้ยินที่เหลืออยู่ไม่ทรุดลงไปมากกว่าเดิม
- ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีสุขภาพองค์รวมที่ดี และช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นอีกด้วย
วิธีรักษา ปัญหาการได้ยินในผู้ป่วยเบาหวาน
วิธรักษาปัญหาการได้ยินในผู้ป่วยเบาหวานนั้น แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้กลับมามีการได้ยินดีดีขึ้นได้ ด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง ทั้งนี้ สามารถปรึกษาคุณหมอแผนกหูคอจมูกเพิ่มเติมเพื่อให้คำแนะนำในการเลือกซื้อเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสม