ภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ HHS คือ ภาวะที่เลือดข้นมากจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันที่อันตรายของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุมาจากการควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี มี การใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านอินซูลิน หรือมีการเจ็บป่วยรุนแรง ที่ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงกว่า 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ปัสสาวะบ่อย สับสน เซื่องซึม หมดสติ และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยโรคเบาหวานสังเกตเห็นว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ หรือมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะ HHS ควรไปพบคุณหมอทันที เพื่อรับการรักษาให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
[embed-health-tool-bmi]
HHS คือ อะไร
Hyperosmolar Hyperglycemic Syndrome หรือ HHS เป็นภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินที่รุนเเรงมักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ดูเเลตนเองได้ไม่ดี ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากน้ำตาลสูงชนิดเฉียบพลันเช่นเดียวกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) แต่ภาวะ HHS จะมักจะมีความรุนแรงมากกว่า เเละไม่เลือดเป็นกรด เนื่องจากตับอ่อนบางส่วนยังสร้างสามารถอินซูลินได้บ้าง จึงไม่เกิดกระบวนการสลายไขมัน เเละไม่เกิดคีโตนสะสมในเลือด
หาก ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี จะนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เเละไม่ได้รับการเเก้ไขที่ถูกวิธี ร่างกายจะยิ่งขาดน้ำ เนื่องจากสูญเสียน้ำไปทางปัสสาวะมากขึ้น หากผู้ป่วยดื่มน้ำทดเเทนได้ไม่เพียงพอ จะทำให้ไตขับน้ำตาลทิ้งทางปัสสาวะได้ลดลง ระดับน้ำตาลก็จะยิ่งสูงขึ้น จนทำให้มีความเข้นข้นของเลือดสูงกว่าปกติมาก เเละนำไปสู่ภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ Hyperosmolar Hyperglycemic Syndrome (HHS) ได้ ซึ่งอาจพบในผู้สูงอายุที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี และมีอาการป่วยหรือติดเชื้อ เช่น ปอดบวม ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
สาเหตุของภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ HHS เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เเละมักมีปัจจัยกระตุ้นเสริม เช่น การติดเชื้อ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกิดออกทางปัสสาวะ จึงเท่ากับเป็นการสูญเสียน้ำจากร่างกาย เเละหากร่างกายได้รับน้ำทดเเทนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ความเข้มข้นของเลือดยิ่งสูงมากขึ้น จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ และส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้เซลล์สมองขาดน้ำเช่นกัน ซึ่งอาจรุนเเรงจนเกิดภาวะโคม่าได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ HHS เช่น
- มีปัจจัยเสริมทางด้านสุขภาพ เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การติดเชื้อ ภาวะหัวใจวายดื่มน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถดื่มน้ำได้ตามที่ร่างกายต้องการ
- ผู้สูงอายุ
- โรคไต
- โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี หรือไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษา
- หยุดอินซูลิน หรือหยุดยาลดระดับน้ำตาลเอง
- ใช้ยาบางชนิดร่วมด้วย เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ
อาการของ HHS
อาการของ HHS หรือภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจมีดังนี้
- ปวดศีรษะ
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากร่างกายพยายามขับน้ำตาลบางส่วนเกินออกทางปัสสาวะ
- กระหายน้ำมากขึ้น ปากเเห้ง คอเเห้ง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- คลื่นไส้
- มีไข้สูง (หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย)
- น้ำหนักลด
- มีอาการชัก
- สับสน มึนงง ซึมลง ไม่รู้สึกตัว
หากเริ่มมีอาการเเล้วปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้ภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ HHS รุนแรงขึ้น และมีอาการดังต่อไปนี้
- อ่อนเพลีย เเละอ่อนเเรง ทำให้ขยับร่างกายลำบาก
- กล้ามเนื้อล้า
- ซึมลง สับสน ในบางรายอาจไม่สามารถพูดสื่อสารได้
- ตาพร่ามัว
- ภาวะช็อกจากขาดน้ำรุนเเรง เเละอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วย
- สมองบวม (Cerebral Edema)
- ไตวาย
- เสียชีวิต
แนวทางการรักษา HHS
ภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ HHS เป็นภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เป้าหมายหลักในเบื้องต้น คือ การเเก้ไขภาวะขาดน้ำร่วมกับลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยคุณหมอจะให้น้ำเกลือทดเเทน รวมถึงอินซูลิน และโพแทสเซียมทางหลอดเลือดดำ จนกระทั่งความเข้มข้นของเลือดและระดับน้ำตาลลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
HHS ป้องกันได้อย่างไร
วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ HHS ได้
- ควบคุมโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้ดี มุ่งเน้นที่การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์
- ใช้ยาฉีดอินซูลินหรือยาลดระดับน้ำตาลอื่น ๆ ตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารที่มีเเป้งและน้ำตาลสูง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะมีสัดส่วนของน้ำตาลผสมอยู่มาก ซี่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำด้วยเครื่องตรวจเบาหวานปลายนิ้ว โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไม่สบาย เจ็บป่วย นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่าและพักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นสังเกตอาการที่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- รู้สึกสับสน มึนงง
- รู้สึกกระหายน้ำมากผิดปกติ
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
- การมองเห็นเปลี่ยนไป ตาพร่ามัว
- รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลียมาก