backup og meta

คนท้องท้องผูก รับมืออย่างไรเพื่อให้การขับถ่ายสะดวก

คนท้องท้องผูก รับมืออย่างไรเพื่อให้การขับถ่ายสะดวก

คนท้องท้องผูก เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยมักพบในอัตราสามในสี่ของคนท้อง เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แรงดันในท้อง และการไหลเวียนของโลหิต รวมทั้งขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนไปกดทับลำไส้ใหญ่จึงอาจถ่ายได้ไม่สุด  อาจทำให้คนท้องอึดอัดและรู้สึกไม่สบายตัว อย่างไรก็ตาม คนท้องท้องผูกเป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถรับมือและแก้ไขได้ เพราะมีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้คนท้องท้องผูกขับถ่ายได้สะดวกขึ้น

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

อาการท้องผูก คืออะไร 

ปัญหาท้องผูก หมายถึง การเบ่งอุจจาระลําบาก มีปัญหาถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่า 3 คร้ังต่อสัปดาห์ อาการท้องผูกส่วนใหญ่มักไม่ได้ส่งผลให้เกิดอันตราย แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง สำหรับผู้ที่ท้องผูก จะมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  2. ต้องเบ่งมากกว่าปกติ
  3. อุจจาระเป็นก้อนแข็ง (lumpy or hard stool)
  4. รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด
  5. มีความรู้สึกว่าถ่ายไม่ออกเนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก
  6. ต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ

ท้องผูกเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สาเหตุของอาการท้องผูกแบ่งได้แป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. สาเหตุที่เกิดจากโรคทางกาย

โรคทางกายที่สามารถเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกเรื้อรังได้แก่

  • เบาหวาน
  • ต่อมไทรอยด์ทํางานน้อยกว่าปกติ
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
  • โรคทางระบบประสาทต่าง ๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บหรือมีโรคที่สมองหรือไขสันหลัง

2. สาเหตุจากการใช้ยาบางชนิด

มียาหลายชนิดที่ทําให้เกิดอาการท้องผูก ยาที่ทําให้เกิดอาการท้องผูกได้มีดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มยาทางจิตเวช ที่สําคัญและพบบ่อย ได้แก่ ยาที่รักษาอาการซึมเศร้า
  2. ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดและน้ำย่อย ซึ่งจะทําให้การบีบตัวของทางเดินอาหารน้อยลง ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ยาลดการบีบเกร็งของลําไส้ที่ใช้แก้ปวดท้อง เช่น ยาบุสโคพาน (Buscopan) ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s) เช่น ยาเลโวโดปา (Levodopa) และยาแก้แพ้บางชนิด เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
  3. ยากันชัก เช่น ยาไดแลนติน (Dilantin)
  4. ยาลดความดันโลหิต ได้แก่ ดิลไทอะเซม (Diltiazem) เวอราปามิล  (Verapamil) โคลนิดีน (Clonidine)
  5. ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน หรือ อนุพันธ์ของมอร์ฟีน เช่น พาราเซตามอลชนิดที่มีส่วนผสมของ โคเอดีน (Codeine)
  6. ธาตุเหล็ก ที่มีอยู่ในยาบํารุงเลือด
  7. ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียมหรืออะลูมิเนียม
  8. ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสด (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ไพร็อกซิแคม (Piroxicam) อินโดเมทาซิน (Indomethacin)
  9. ยาอื่น ๆ เช่น คอเลสไทรามีน (Cholestyramine)

3. เกิดจากการอุดกั้นของลําไส้

การอุดกั้นของทางเดินอาหารสามารถทําให้เกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งภาวะดังกล่าว ได้แก่

  • มะเร็งหรือเนื้องอกของลําไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • ลําไส้ตีบตัน (stricture)
  • ลําไส้บิดพันกัน (volvulus)
  • ความผิดปกติที่ทวารหนัก
  • การลดน้อยลงของปมประสาทบริเวณลําไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Hirschprung’s disease)

4.สาเหตุจากการทํางานของลําไส้หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ

  • การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง
  • การเคลื่อนไหวของลําไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติหรือมีการเคลื่อนไหวไม่ประสานกันทําให้อุจจาระ เคลื่อนไหวภายในลําไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ
  • ภาวะลําไส้แปรปรวน

วิธีป้องกันคนท้องท้องผูก

คนท้องท้องผูกนั้นสามารถป้องกันและรับมือได้ ต้องหมั่นดูแลและรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง เพราะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งทารกในครรภ์ที่ต้องได้รับการเอาใจใส่มากกว่าภาวะปกติ โดยสามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ดังนี้

รับประทานกากใยเพิ่มขึ้น

อาหารที่มีกากใยสูง ช่วยป้องกันคนท้องท้องผูก และช่วยให้คนท้องได้รับวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ คนท้องควรรับประทานอาหารที่มีกากใย ปริมาณ 25 ถึง 30 กรัมต่อวัน เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรง อาหารต่าง ๆ เช่น ผักผลไม้สด ถั่ว เลนทิล ธัญพืช ลูกพรุน และขนมปังธัญพืช โดยอาจหั่นราสเบอร์รี่ แอปเปิ้ล กล้วย ลูกฟิค และสตรอเบอร์รี่ลงไปในจานสลัด หรือเพิ่มข้าวโพดปิ้ง กะหล่ำดาว และแครอท เป็นเครื่องเคียงในมื้ออาหาร

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญระหว่างการตั้งครรภ์ นั่นหมายถึง การดื่มน้ำมากกว่าปกติสองเท่า ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 ลิตรทุกวัน ซึ่งจะช่วยให้อุจจาระนิ่ม และเคลื่อนที่ผ่านระบบขับถ่ายได้ดี

รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ

เนื่องจากการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ทำให้กระเพาะทำงานหนัก จึงทำให้ระบบการย่อยทำงานหนักขึ้น คนท้องจึงควรแบ่งมื้ออาหารเป็นห้าหรือหกมื้อต่อวัน เพื่อจัดการกับอาการท้องผูก อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดเวลาการย่อยของกระเพาะอาหาร และลำเลียงอาหารไปยังลำไส้ได้อย่างเหมาะสม

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดอาการท้องผูกได้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวเป็นการกระตุ้นลำไส้ คนท้องควรออกกำลังกายสามครั้งต่อสัปดาห์ (ใช้เวลาประมาณ 20 ถึง 30 นาทีต่อครั้ง) ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับชนิดของการออกกำลังกายที่ปลอดภัยสำหรับคนท้องและทารกในครรภ์

ใช้ยาทำให้อุจจาระนิ่ม

หากวิธีการทางธรรมชาติไม่ได้ผล ควรปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมออาจสั่งยาเพื่อทำให้อุจจาระนิ่ม อย่างเช่น โคเลส​ (Colace) ให้รับประทานช่วงสั้น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูกในหญิงตั้งครรภ์ (การใช้ยานานเกินไป อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ หรือความสมดุลของอิเลกโตรไลต์เปลี่ยนแปลง)

ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

เมื่อเข้าห้องน้ำ ให้หายใจเข้าลึก และหายใจออก เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานผ่อนคลาย แต่อย่าทำให้ตึง ในขณะนั่ง จิกปลายเท้า เพื่อยกเข่าให้สูงขึ้น หรือวางเท้าบนเก้าอี้เตี้ย ๆ เพื่อให้เท้าสูงจากพื้น วิธีการนี้จะทำให้คนท้องอยู่ในท่าสควอท ซึ่งเป็นท่าที่ดีต่อการนั่งขับถ่าย

 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Constipation (natural remedies). http://www.babycentre.co.uk/a549293/constipation-natural-remedies. Accessed June 15, 2022.

Constipation during pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/constipation-during-pregnancy. Accessed June 15, 2022.

Treating constipation during pregnancy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3418980/. Accessed June 15, 2022.

Constipation in Pregnancy. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-health-wellness/constipation-during-pregnancy/. Accessed June 15, 2022.

Is it safe to take stool softeners to treat pregnancy constipation?.

https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/expert-answers/pregnancy-constipation/faq-20058550. Accessed June 15, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/06/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เม็ดมะม่วงหิมพานต์ คนท้องกินได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า

Dehydration คือ ภาวะขาดน้ำ อันตรายที่หญิงตั้งครรภ์ต้องระวัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา