สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือครอบครัวที่เตรียมมีลูก เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องอยากรู้แน่นอนก็คือ พัฒนาการของทารกในครรภ์ในแต่ละช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับ พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 3
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 3
ลูกจะเติบโตอย่างไร
ถึงแม้ว่าที่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว แต่เด็กทารกก็กำลังเติบโตและมีพัฒนาการอยู่ในครรภ์ สำหรับ การตั้งครรภ์ นั้น เมื่อไข่กับตัวอสุจิปฏิสนธิกันที่บริเวณท่อนำไข่ส่วนต้นแล้ว จะกลายเป็นเซลล์ ที่เรียกว่า ไซโกต (Zygote) ภายใน 30 ชั่วโมงหลังปฏิสนธิ ไซโกตจะเริ่มแบ่งเซลล์ เป็น 2 เซลล์ 4 เซลล์ 8 เซลล์ ไปเรื่อย ๆ พร้อมเคลื่อนที่ตามท่อนำไข่ไปฝังตัวในผนังมดลูก พร้อมกับเกาะตัวกันแน่นเป็นรูปทรงกลม ลักษณะคล้ายลูกบอลทรงตัน ที่เรียกว่า มอรูลา (Morula)
จากนั้น มอรูลาจะกลายเป็นมาเป็นลูกบอลกลวง ภายในเต็มไปด้วยของเหลว ที่เรียกว่า บลาสโทซิส (Blastocyst) พอใกล้ถึงปลายสัปดาห์ บลาสโทซิสจะเข้าไปฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูก โดยกลุ่มเซลล์ที่อยู่รอบนอกจะเจริญเป็นรก ส่วนกลุ่มเซลล์ที่อยู่ด้านในจะเจริญเติบโตไปเป็นทารกต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
หลายส่วนในร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยโอบอุ้มไข่ที่ปฎิสนธิแล้ว ในช่วงนี้คุณแม่อาจยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว ในช่วงปลายสัปดาห์อาจมีเลือดปริมาณเล็กน้อยไหลออกมาจากช่องคลอด หรือที่เรียกกันว่า เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) ซึ่งบ่งบอกว่าไข่ที่ปฏิสนธินั้นได้ฝังตัวโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะมีเลือดล้างหน้าเด็ก บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเลือดล้างหน้าเด็กนี้คือประจำเดือน
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
อาการแพ้ท้องตอนเช้า เช่น อยากรับประทานของเปรี้ยว ๆ ไอศกรีม ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าตั้งครรภ์แล้ว แต่อาการแพ้ท้องนี้อาจไม่ได้เกิดกับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน
คุณแม่ 3 ใน 4 คนมักจะมีอาการแพ้ตลอดทั้งวัน แต่ขอให้สบายใจได้ เพราะถึงแม้จะมีอาการเบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่หากสามารถทำน้ำหนักขึ้นมาได้ในภายหลัง ลูกก็จะไม่เป็นอันตรายใด ๆ โดยปกติแล้ว เพราะอาการคลื่นไส้อาเจียนจะหายไปในช่วงกลางสัปดาห์ที่ 12 หรือ 14 ของการตั้งครรภ์
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง
หากสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที ซึ่งคุณหมออาจแนะนำให้ใช้เครื่องมือทดสอบการตั้งครรภ์ แต่ไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอจนกว่าจะถึงสัปดาห์ที่ 8 ของ การตั้งครรภ์
การทดสอบที่ควรรู้
วิธีที่ดีที่สุดในการตรวจสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่นั้น ก็คือการใช้เครื่องมือทดสอบการตั้งครรภ์ ที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยสามารถใช้ได้ตั้งแต่วันที่ประจำเดือนไม่มาตามปกติ เพื่อจะได้แน่ใจกับผลการตรวจได้
โดยอาจใช้ที่ตรวจการตัั้งครรภ์แบบที่ใช้ตรวจได้หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งการตรวจแบบนี้จะเป็นการตรวจฮอร์โมนชนิดพิเศษ ที่อยู่ในปัสสาวะ ที่เรียกว่า Human Chorionic Gonadotropin (hCG) ซึ่งปล่อยออกมาโดยสายรก ผลตรวจอาจจะขึ้นเป็นรูปเครื่องหมายบวก 2 อัน หรือขึ้นเป็นขีดสีชมพู 2 ขีด ขึ้นอยู่กับชนิดเครื่องมือที่ใช้ตรวจหาการตั้งครรภ์
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
การเลี้ยงดูทารกในครรภ์เป็นเวลา 9 เดือนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การตั้งครรภ์อาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องงาน หรือการเข้าสังคม โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งอาจไม่แน่ใจว่าอาหารชนิดใดควรกิน อาหารชนิดใดควรเลี่ยงในช่วงตั้งครรภ์
แต่ความเป็นจริง พัฒนาการของทารกนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารที่กินเข้าไปเพียงอย่างเดียว เพราะต่อให้กินอาหารที่มีประโยชน์ขนาดไหน แต่หากมีปัญหาด้านอารมณ์ ก็อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
เวลาที่รู้สึกเครียด กลุ้มใจ หรือวิตกกังวล ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเครียด ที่เรียกว่าคอร์ติซอลออกมา ฮอร์โมนชนิดนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย
โดยงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การอักเสบในร่างกายมีส่วนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ในเด็ก นอกจากนี้ผู้หญิงที่เกิดความเครียดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแท้งลูกด้วย
ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ นี่คือเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดในระหว่างการตั้งครรภ์ได้
- ผ่อนคลาย
การนั่งสมาธิ ฟังเพลง จิบชาซักแก้ว อ่านหนังสือดี ๆ ซักเล่ม หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายที่ชื่นชอบ ถือเป็นวิธีผ่อนคลายความเครียดที่ดีมาก
- หาคนพูดคุย
เมื่อเกิดปัญหา ไม่ควรเก็บกด หรือเก็บงำปัญหาเอาไว้คนเดียว ควรเล่าหรือระบายให้คนรอบข้าง เช่น คนรัก เพื่อน ครอบครัว รับฟัง จะได้รู้สึกสบายใจขึ้น ไม่เกิดเป็นความวิตกกังวล หรือความเครียดสะสม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
แม้จะตั้งครรภ์อยู่ก็ควรออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเลือกออกกำลังกายประเภทที่ไม่หนัก หรือหักโหมเกินไป เช่น โยคะ ว่ายน้ำ เดินออกกำลังกาย การออกกำลังกายด้วยวิธีง่าย ๆ เหล่านี้ นอกจะช่วยจัดการความเครียดแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดลูกอีกด้วย
แล้วมาดูกันว่า ในสัปดาห์ต่อไป คุณแม่ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง