backup og meta

ขนาดท้อง1เดือน ใหญ่แค่ไหน อาการคนท้องมีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/07/2023

    ขนาดท้อง1เดือน ใหญ่แค่ไหน อาการคนท้องมีอะไรบ้าง

    ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ขนาดท้อง1เดือน จะยังไม่เป็นที่สังเกตได้เนื่องจากหน้าท้องของคุณแม่ยังไม่ขยายใหญ่แต่อาจสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ เช่น ประจำเดือนไม่มา อารมณ์แปรปรวน หน้าอกขยายและคัดตึง ปัสสาวะบ่อย นอกจากนี้ ยังนับเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างมาก เนื่องจากอยู่ในระยะที่ทารกกำลังค่อย ๆ เติบโตและสร้างอวัยวะต่าง ๆ คุณแม่จึงต้องคอยดูแลตัวเองทั้งในเรื่องการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้ทารกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามอายุครรภ์

    ขนาดท้อง1เดือน ใหญ่แค่ไหน

    คุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกหรือ 4 สัปดาห์แรกขนาดท้องมักไม่ต่างจากก่อนตั้งครรภ์เลย เนื่องจากทารกยังตัวเล็กมากและยังไม่เจริญเติบโตมากพอที่จะทำให้หน้าท้องขยาย โดยทั่วไป ขนาดท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่จนเห็นได้ชัดในช่วงเดือนที่ 4-5 หรือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ และจะขยายใหญ่ตามอายุครรภ์มากขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

    อาการที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์

    แม้ว่าอาการของคนท้องจะไม่สามารถเห็นได้จาก ขนาดหน้าท้อง1เดือน แต่ก็อาจสังเกตได้ด้วยตัวเองจากอาการร่วมอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    • ประจำเดือนขาด ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์แล้วประจำเดือนมาช้ากว่าปกติประมาณ 1 สัปดาห์ อาจหมายถึงการตั้งครรภ์ระยะแรก ควรตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์ด้วยตนเอง ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนไม่ปกติ อาจรอประมาณ 1-2 เดือน หากประจำเดือนยังไม่มาควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองหรือไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ
    • หน้าอกขยายและคัดตึง เนื่องจากระดับฮอร์โมนแปรปรวนในช่วงตั้งครรภ์จึงอาจทำให้หน้าอกคัดตึง บวม หรือเจ็บ เส้นเลือดอาจมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น และหัวนมอาจดำคล้ำ ทั้งนี้ อาการต่าง ๆ อาจดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงได้แล้ว
    • คลื่นไส้โดยที่มีหรือไม่มีอาเจียนร่วมด้วย คุณแม่อาจรู้สึกคลื่นไส้เนื่องจากฮอร์โมนแปรปรวนขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างมากในช่วง 1-2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และบางครั้งอาจคลื่นไส้จนมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
    • ปัสสาวะบ่อยมากขึ้น ร่างกายจะผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกไปยังมดลูก ทำให้ไตผลิตปัสสาวะส่วนเกินมากขึ้นจนต้องถ่ายปัสสาวะบ่อย ๆ
    • อ่อนเพลีย เป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยสำหรับการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้นเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับการตั้งครรภ์และช่วยให้ทารกเติบโตตามปกติ แต่ฮอร์โมนชนิดนี้มักทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
    • อารมณ์แปรปรวน เป็นอาการที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ซึ่งสัมพันธ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป

    วิธีดูแลตัวเองในช่วงตั้งครรภ์ 1 เดือนแรก

    วิธีดูแลสุขภาพด้วยตนเองในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก อาจทำได้ดังนี้

    • ไปฝากครรภ์ทันทีที่ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองแล้วทราบผลว่าตั้งครรภ์ และควรไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้ง
    • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงงดสูบบุหรี่และสูดดมควันบุหรี่มือสองซึ่งมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
    • งดการรับประทานอาหารดิบ เช่น เนื้อสัตว์ที่ยังไม่ปรุงสุก ปลาดิบ ลาบก้อย รวมไปถึงปลาที่มีสารปรอทปนเปื้อนเยอะอย่างฉลาม ปลาอินทรี ปลากระโทงดาบ และนม ชีส หรือน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์
    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย เช่น ผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ ไข่ ธัญพืชเต็มเมล็ด
    • รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามที่คุณหมอแนะนำ เช่น กรดโฟลิก ซึ่งคุณแม่ควรรับประทานในช่วงก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือนและรับประทานต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน ในปริมาณ 0.4 มิลลิกรัม/วัน เพื่อป้องกันภาวะทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด
    • พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน
    • ดื่มน้ำและของเหลวอย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา