พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 41 จะมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว เนื่องจากใช้เวลาเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์นาน และคุณหมออาจจำเป็นต้องเร่งคลอดในทารกบางรายที่มีข้อบ่งชี้ เพราะหากปล่อยไว้นานเกิน 42 สัปดาห์อาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพทั้งมารดาและทารกอีกด้วย
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 41
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 41 ทารกมักมีขนาดเท่าลูกขนุนและมีพัฒนาการเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะออกมาเผชิญโลกกว้างแล้ว โดยขนาดตัวจะยาวประมาณ 52.2 เซนติมาตร หากยังคงอยู่ในครรภ์มารดาต่อไป อวัยวะต่าง ๆ ก็จะมีการพัฒนาต่อ ส่วนผม คิ้ว ขนตา เล็บมือและเท้า จะมีความยาวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วคุณหมอจะไม่ปล่อยให้ทารกอยู่ในครรภ์เกินกำหนดคลอดนานเกิน 2 สัปดาห์ เพราะการทำงานของรกอาจลดลง อีกทั้งน้ำคร่ำอาจเริ่มลดปริมาณลง ยิ่งปล่อยให้ทารกอยู่ในครรภ์นานมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพมากเท่านั้น
ทารกที่คลอดใน 42 สัปดาห์ หรือเกินกว่านั้น อาจมีผิวแห้ง ผิวเหี่ยวย่น ผิวลอก เล็บยาว ผมยาว และมีไขมันเคลือบตัวน้อยกว่า
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
เมื่อทารกอยู่ในครรภ์จนเกินกำหนดคลอด คุณแม่และคนใกล้ตัวอาจจะเป็นกังวล แต่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะถึงอย่างไร ก็ยังมีโอกาสสูงมากที่คุณแม่จะคลอดภายในสัปดาห์นี้
หากคุณแม่ยังไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด ภายในสัปดาห์ที่ 42 จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด และคุณหมอจะต้องเร่งทำคลอด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
สัปดาห์ที่ 41 ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
ภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด พบได้ประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์ของหญิงตั้งครรภ์ โดยคุณแม่อาจตั้งครรภ์นานเกินกำหนดคลอด 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป
ทารกที่คลอดหลังจากอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ขึ้นไป มักมีผิวแห้งแตก ลอก หรือเหี่ยวย่น เนื่องจากไขทารกแรกเกิดเริ่มหลุดลอกออกไปแล้ว อีกทั้ง ทารกส่วนใหญ่ยังมีน้ำหนักตัวค่อนข้างมากด้วย
คุณแม่ที่มีภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อในมดลูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรืออาจร้ายแรงถึงขึ้นเกิดภาวะตายคลอด (Stillbirth) ได้
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง
สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 41 สัปดาห์ คุณหมอจะเริ่มแนะนำให้ฉีดยาหรือเหน็บยาเพื่อเร่งคลอด หากคุณแม่ยังไม่เจ็บท้องคลอดในสัปดาห์ต่อไป คุณหมอส่วนใหญ่จะไม่ปล่อยให้รอจนเกินกำหนดคลอดมากกว่าสองสัปดาห์ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับทั้งตัวมารดาและทารกในครรภ์ได้
การเร่งคลอดในสัปดาห์ที่ 41
วิธีการที่หมอใช้เพื่อการเร่งคลอด ขึ้นอยู่กับสภาวะของปากมดลูก ถ้าปากมดลูกยังไม่เริ่มนุ่ม ยืด และเปิดออก ก็ถือว่ายังไม่พร้อมสำหรับการคลอด หากเป็นเช่นนั้น คุณหมอจะต้องใช้ฮอร์โมนหรือเทคนิคบางอย่าง เพื่อเตรียมความพร้อมของปากมดลูกก่อนการเร่งคลอด โดยประเมินจากสถานการณ์และความเหมาะสมเป็นหลัก
กระบวนการที่หมอจะใช้มีทั้งการเซาะแยกถุงน้ำคร่ำ หรือการใช้ยา เช่น ออกซีโทซิน เพื่อเร่งให้มดลูกบีบรัดตัว หากกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ผล ก็อาจจะต้องผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของทั้งมารดาและทารกในครรภ์
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
- การซักเสื้อผ้าทารก
เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ของทารกจะต้องสัมผัสกับผิวของทารก ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้และซักเสื้อผ้าเด็กเอาไว้ล่วงหน้า ก่อนที่ทารกจะลืมตาดูโลก เพื่อฆ่าเชื้อโรคและลดความหยาบกระด้างของผ้า จะได้ลดโอกาสที่ผิวของทารกจะระคายเคือง
- การตั้งครรภ์เกินกำหนด
การตั้งครรภ์เกินกำหนดถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหยุดยั้งหรือหลีกเลี่ยงได้ คุณแม่บางคนอาจเคยได้ยินว่า มีวิธีทางเลือกที่สามารถกระตุ้นให้เจ็บท้องคลอดได้ เช่น การใช้สมุนไพร การกระตุ้นหัวนม การใช้น้ำมันละหุ่ง อาจกระตุ้นให้เกิดการเจ็บท้องได้
แต่วิธีเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัย จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น หากคุณแม่มีภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด ควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด