backup og meta

รู้หรือไม่! รับฟังปัญหาชีวิตของผู้อื่นบ่อย ๆ อาจกลายเป็น โรคเครียดมือสอง ได้ โดยไม่รู้ตัว

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 05/05/2020

    รู้หรือไม่! รับฟังปัญหาชีวิตของผู้อื่นบ่อย ๆ อาจกลายเป็น โรคเครียดมือสอง ได้ โดยไม่รู้ตัว

    คุณเคยรู้สึกเครียดกับปัญหาชีวิตของคนอื่นมากเกินไปหรือไม่ เก็บเอาปัญหาของผู้อื่นมาขบคิดจนเข้าใจว่านั่นเป็นปัญหาของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ตนเองทำเพียงแค่ไปรับฟังเรื่องราวของเขามาเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าคุณกำลังเครียดกับปัญหาชีวิตของคนอื่นมากจนเกินไปล่ะก็ คุณอาจกำลังอยู่ในสภาวะของ โรคเครียดมือสอง ได้ แต่อาการ ความเครียดมือสอง จะเป็นอย่างไรนั้น Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้ที่บทความนี้แล้วค่ะ

    โรคเครียดมือสอง คืออะไร

    ความเครียดมือสอง (Secondhand Stress) คือ สภาวะอาการที่เกิดจากการไปรับรู้ รับฟัง ปัญหาชีวิตของผู้อื่น จนรู้สึกว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาของตัวเองด้วย เกิดความรู้สึกเข้าถึงความเครียดนั้น และเครียดไปกับเรื่องนั้นๆ ด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง และตัวเองมีหน้าที่แค่เพียงรับฟังมาเท่านั้น โดยอาจเป็นการไปฟังเพื่อนสนิทที่มาปรึกษาปัญหาชีวิต คนในครอบครัวเอาเรื่องที่บั่นทอนใจมาเล่าให้ฟังบ่อย ๆ หรือเพื่อนที่ทำงานมาเล่าเรื่องเครียดของตัวเองให้ฟังทุกวัน นานเข้าจนคุณเองรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความเครียดนั้น และเก็บเอามาเป็นความเครียดของตนเอง เหมือนกับการซื้อเอาสินค้ามือสองที่คนอื่นใช้แล้วมาใช้ต่อนั่นเอง

    สัญญาณของ ความเครียดมือสอง มีอะไรบ้าง

    หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ให้เริ่มสังเกตตนเองได้เลย เพราะคุณอาจกำลังอยู่ในสภาวะของ ความเครียดมือสอง โดยไม่รู้ตัว

    รู้สึกเครียด แต่ไม่มีสาเหตุ

    หากอยู่ ๆ เริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการเครียด แต่จนแล้วจนรอดก็หาสาเหตุของตนเองไม่ได้ว่าเครียดเพราะอะไร ซึ่งสาเหตุนั้น อาจมาจากคนรอบตัวที่นำความทุกข์ใจมาปรึกษาและบอกกล่าว จนกระทั่งคนฟังรู้สึกเอาเองว่านั่นเป็นความเครียดและเป็นปัญหาชีวิตของตัวเองไปด้วย

    เริ่มมองโลกในแง่ร้าย

    เมื่อถูกความเครียดและปัญหาชีวิตของผู้อื่นรุมล้อม คุณจะเริ่มมองโลกในแง่ร้าย ให้ความสำคัญกับการปฏิเสธมากกว่าการมองโลกในแง่บวก หรืออาจถูกชักจูงให้รู้สึกถึงพลังลบจากปัญหาความเครียดของคนอื่นได้ง่าย ๆ

    กลายเป็นคนเร่งรีบ

    คนที่อยู่ในภาวะ ความเครียดมือสอง อาจเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาค้างคาใจและต้องจัดการหน้าที่ที่รายล้อมรอบตัวให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว ซึ่งงานนั้นอาจไม่ใช่กำหนดงานที่จะต้องส่งแบบด่วน หรืออาจมีการเร่งเร้าให้คนอื่นๆ ทำงานให้เร็วตามใจของตนเอง โดยที่งานนั้นไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบ ซึ่งอาการนี้มีสาเหตุมาจากความรู้สึกของคุณ ที่รู้สึกว่าตนเองกำลังอยู่ในช่วงฉุกเฉินและต้องทำทุกอย่างให้เรียบร้อยโดยเร็ว ควรถามตัวเองให้แน่ชัดว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นมีความจำเป็นต้องเร่งรีบมากน้อยเพียงใด

    อยู่ใกล้คนที่มีความเครียดมากเกินไป

    ในที่ทำงานหากมีคนที่สนิทสนมด้วย หรือคนรู้จักมาเล่าปัญหาชีวิตให้ฟังบ่อย ๆ ก็จะทำให้คุณต้องมาเจอกับเรื่องเครียด ๆ เหล่านั้น อยู่ทุกวัน เมื่อได้ฟังเรื่องเดิม ๆ ทุกวัน ก็จะได้รับเอาพลังลบเหล่านั้นเข้ามาจนรู้สึกว่านี่ก็เป็นปัญหาของคุณเหมือนกันนะ

    ศักยภาพในการทำงานลดลง

    คุณรู้สึกว่าตนเองเครียดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก จนกระทั่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเริ่มลดลง จากไม่เคยทำงานพลาด ก็เริ่มมีข้อตำหนิในการทำงานเกิดขึ้น

    วิธีจัดการกับความเครียดมือสอง

    ความเครียดมือสอง สามารถที่จะรับมือได้ หากมีการจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตนเองที่เหมาะสม โดยสามารถทำได้ดังนี้

    • หาสาเหตุและที่มาของความเครียดนั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมต้องมีต้นเหตุ แต่ถ้าต้นเหตุไม่ใช่เรื่องของคุณ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณ ก็ขอให้ปล่อยวาง และทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังและผู้ให้กำลังใจที่ดีเท่านั้น ช่วยเหลือเท่าที่ตนเองจะทำได้ และอย่าถลำลึกจนเอาเรื่องของคนอื่นมาเครียดเอง
    • เสริมพลังบวกให้ตนเองเสมอ เพราะตามธรรมชาติคนเรามักจะต้องมีความรู้สึกสงสารหรือเห็นใจผู้อื่น ยิ่งผู้อื่นประสบกับช่วงเวลาที่กำลังยากลำบากในชีวิต ก็ยิ่งง่ายที่เราจะรับเอาพลังลบนั้นมาด้วย ควรฝึกตนเองให้เป็นคนคิดบวก และหาข้อดีให้กับเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ
    • การพักผ่อนสำคัญเสมอ เมื่อรู้สึกว่าได้รับฟังความเครียดของใครสักคนจนเริ่มจะเครียดตาม ให้หาเวลานอก ออกไปนั่งพักคนเดียว หรืออยู่คนเดียว เพื่อการผ่อนคลายอารมณ์และความรู้สึก
    • สร้างสติและสมาธิให้กับตนเอง คนเราควรจะต้องมีสติอยู่กับตัวเสมอ เพื่อที่จะได้สามารถแยกแยะออกว่า ปัญหาใดควรเก็บมาคิด ปัญหาใดควรใส่ใจ และปัญหาใดควรปล่อยวาง จะช่วยให้ตนเองจิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และจมปลักอยู่แต่เรื่องของคนอื่น
    • ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เมื่อรู้สึกว่าตนเองมาถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกเครียดจนทนไม่ไหว ให้ออกไปหากิจกรรมทำ ทั้งออกกำลังกาย กินข้าว ดูหนัง ไปเที่ยว ไปเต้น หรือร้องเพลง พยายามเอาตนเองออกมาจากสถานการณ์ที่ชวนอึดอัดและเครียด

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 05/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา