backup og meta

PMS หรือ Premenstrual Syndrome อาการและวิธีรับมือ

PMS หรือ Premenstrual Syndrome อาการและวิธีรับมือ

PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีอาการของ PMS เช่น ปวดท้อง หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับ มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง อย่างน้อย 1 อาการในทุก ๆ เดือน รับประทานยา เช่น ไอบูโพรเฟน แอสไพริน กรดมีเฟนามิก ร่วมกับการด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับให้เพียงพอ การงดคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ อาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้

[embed-health-tool-bmi]

PMS คืออะไร และเกิดจากอะไร

PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของ PMS ได้อย่างแน่ชัด แต่ภาวะนี้อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนแปรปรวนในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน โดยอาจเริ่มมีอาการหลังวันตกไข่ 1 วัน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะลดลงอย่างมาก ตามปกติแล้วกลุ่มอาการที่กล่าวมาจะหายไปหลังจากเริ่มเป็นประจำเดือนในรอบนั้น ๆ เนื่องจากระดับฮอร์โมนจะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และจะกลับมาเป็นอีกเมื่อประจำเดือนรอบใหม่ใกล้เข้ามา

อาการของ PMS

อาการ PMS ที่พบได้บ่อยอาจมีดังนี้

อาการทางร่างกาย

  • หน้าอกคัดตึง ปวด หรือขยายใหญ่
  • เป็นสิว
  • ท้องอืด น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดหลัง
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • อยากอาหารมากกว่าปกติ

อาการทางอารมณ์

  • หงุดหงิดง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ซึมเศร้า
  • ร้องไห้ง่ายและบ่อย
  • วิตกกังวล
  • นอนหลับมากหรือน้อยกว่าปกติ
  • มีปัญหาในการจดจ่อและจดจำอะไรไม่ค่อยได้
  • มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง
  • มีความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง

ภาวะ PMS ที่เกิดขึ้นอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder หรือ PMDD) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น หงุดหงิดมากจนกระทบคนอื่น เครียดรุนแรง ซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตาย มีอาการแพนิค อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้บ่อย นอนไม่หลับ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ซึ่งถือเป็นอาการรุนแรงที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว

ผู้ที่มีปัจจัยต่อไปนี้ อาจยิ่งทำให้อาการของ PMS รุนแรงขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น อาการ PMS จะดีขึ้นหรือไม่

ภาวะ PMS อาจรุนแรงมากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเมื่ออายุ 30 ปลาย ๆ เข้าวัย 40 ปี หรือเข้าสู่ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) ยิ่งหากมีภาวะ PMS แล้วมีอารมณ์แปรปรวนมาตลอด เมื่อร่างกายปรับตัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (Menopause) อาจทำให้อารมณ์ยิ่งแปรปรวนง่ายและรุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเริ่มขาดสมดุลและจะขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างคาดเดาไม่ได้

ภาวะ PMS จะหายไปอย่างสมบูรณ์หลัเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายจะหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน รังไข่หยุดการผลิตไข่ และประจำเดือนไม่มาอีกเลย

การวินิจฉัย PMS

หากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจในช่วงก่อนมีประจำเดือนเป็นประจำจนภาวะ PMS กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ควรรีบไปพบคุณหมอ โดยทั่วไป คุณหมอจะสอบถามเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีอาการหรือความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น และอาจวินิจฉัยว่าเป็น PMS เมื่ออาการเข้าข่ายดังต่อไปนี้

  • มีอาการก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5 วัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
  • อาการหายไปภายใน 4 วันหลังมีประจำเดือน
  • อาการที่เกิดขึ้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถไปเรียน ไปทำงาน ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ คุณหมออาจสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์และยาที่ใช้อยู่ และอาจสั่งทดสอบเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการในลักษณะเดียวกัน เช่น โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ระยะก่อนหมดประจำเดือน โรคไทรอยด์ ยารักษาโรคที่ใช้อยู่ ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)

การรักษา PMS

โดยทั่วไป คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยจัดการกับอาการไม่พึงประสงค์จากภาวะ PMS ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและรับประทานยาตามอาการที่พบ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาตามใบสั่งแพทย์เพิ่มเติม

การรักษาด้วยการใช้ยา

  • ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) กรดมีเฟนามิก (Mefenamic Acid) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านมและปวดประจำเดือนได้
  • ยาคุมกำเนิด (Hormonal birth control) เช่น ยาคุมแบบเม็ด ห่วงอนามัย ยาคุมแบบแปะ อาจช่วยยับยั้งการตกไข่และลดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดเต้านม ปวดท้อง
  • ยาต้านเศร้าและยาคลายกังวล (Antidepressants and anti-anxiety medication) เป็นยาที่ควรรับประทานภายใต้การดูแลของคุณหมอเท่านั้น
  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretic) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านม ท้องอืดได้

การรักษาด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางอย่างการวิ่ง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ อย่างน้อย 30 นาที/วัน จะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและคลายความเครียดหรือความกังวลได้
  • รับประทานอาหารให้หลากหลายและมีสารอาหารครบถ้วนเช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังและไขมัน เนื้อปลา พืชตระกูลถั่ว และหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจทำให้อาการก่อนประจำเดือนแย่ลง เช่น อาหารรสเค็ม อาหารไขมันสูง อาหารน้ำตาลสูง และควรจำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์และอาหารที่มีคาเฟอีนสูง
  • นอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง/วัน อาจช่วยให้อารมณ์แจ่มใสและคลายความวิตกกังวลลงได้
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ทำงานบ้านเบา ๆ เพื่อคลายเครียด ลดความหงุดหงิดและความเศร้าที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีอาการก่อนประจำเดือน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.womenshealth.gov/menstrual-cycle/premenstrual-syndrome. Accessed April 12, 2023

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780. Accessed April 12, 2023

Premenstrual syndrome (PMS) https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/premenstrual-syndrome-pms.  Accessed April 12, 2023

Premenstrual Syndrome. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24288-pms-premenstrual-syndrome. Accessed April 12, 2023

Premenstrual Syndrome. https://medlineplus.gov/premenstrualsyndrome.html. Accessed April 12, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดท้องก่อนเป็นประจำเดือน 1 อาทิตย์ สาเหตุ วิธีดูแลตัวเอง

ตกขาวก่อนประจำเดือน ต่างจากตกขาวปกติอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา