backup og meta

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด วิธีรับมือที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด วิธีรับมือที่ควรรู้

    ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คือความผิดปกติทางจิตที่เกิดขึ้นหลังการคลอดลูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูก คุณแม่ที่ซึมเศร้าหลังคลอดอาจมีอารมณ์แปรปรวน เศร้า หงุดหงิด รู้สึกแย่ และอาจไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ สาเหตุอาจเกิดได้จากความเครียดที่สะสมมาตลอดช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ ปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มีแต่เดิม ความเครียดในการเลี้ยงดูทารก การพักผ่อนน้อย หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในขณะนั้น ทั้งนี้ ควรศึกษาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและส่งผลดีต่อคุณแม่และลูกมากที่สุด เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม การรักษาด้วยยาต้านเศร้า เพื่อให้คุณแม่หายจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และได้กลับไปใช้เวลาที่มีค่ากับลูกน้อยและครอบครัวได้อย่างมีความสุข

    ประเภทของ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

    ประเภทของ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สามารถแยกได้ดังนี้

    ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Baby Blues) ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 1-2 สัปดาห์หลังคลอด

    อาการของ ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด อาจมีดังนี้

    • ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ
    • รู้สึกแย่ วิตกกังวล หรือมีอารมณ์แปรปรวน เช่น มีความสุขอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกเศร้า
    • รู้สึกปั่นป่วน ไม่สบายใจ หรือวิตกกังวล
    • สูญเสียความอยากอาหาร กินข้าวไม่ลง หรืออาจกินมากกว่าปกติ

    โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression หรือ PPD) หากมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดนานเกิน 2 สัปดาห์ จะถือว่าคุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด โรคนี้อาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหรือนานหลายเดือน จนอาจกระทบต่อดูแลลูกและการใช้ชีวิตประจำวัน

    อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด อาจมีดังนี้

  • ซึมเศร้า วิตกกังวล รู้สึกแย่อยู่ตลอดเวลา
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • รู้สึกหมดความสนใจในเรื่องต่าง ๆ
  • รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข
  • รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า สิ้นหวัง หรือรู้สึกผิด
  • ขาดความสนใจในตัวลูกที่เพิ่งคลอด
  • รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี
  • รู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไปแล้ว
  • ภาวะโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังคลอด เป็นภาวะที่รุนแรงและอันตรายเป็นอย่างมาก มักเกิดกับคุณแม่ท้องแรก ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น

    อาการของภาวะโรคจิตหลังคลอด อาจมีดังนี้

    • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ นอนหลับยาก รวมไปถึงนอนหลับไม่สนิท
    • แยกตัวออกจากสังคม เพื่อน และครอบครัว เลือกที่จะไม่สุงสิงกับคนอื่น
    • มีความคิดที่ไม่ปกติ
    • อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง
    • มองเห็นภาพหลอน สูญเสียการรับรู้ความเป็นจริง
    • หลงผิด คิดว่าลูกไม่ใช่ลูกตัวเอง
    • คิดทำร้ายตัวเองหรือลูกที่เพิ่งคลอด

    วิธีรักษา ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

    วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจแตกต่างกันไปตามประเภทและอาการที่พบ อย่างไรก็ตาม วิธีที่นิยมใช้ อาจมีดังนี้

    การดูแลด้วยตัวเอง

    คุณหมออาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ และในบางกรณี อาจต้องรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย

    • ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และไม่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น ให้คนในบ้านช่วยดูแลลูกหรือป้อนนมแทน ให้คนในบ้านช่วยงานทำความสะอาดบ้าน ซื้อของเข้าบ้าน หรือทำอาหาร
    • ใช้เวลาอยู่กับตัวเองตามลำพังบ้าง เลือกกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เช่น เดินเล่น นอนแช่น้ำอุ่น ฟังเพลงที่ชอบ อ่านหนังสือที่สนใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเครียดสะสม วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
    • หาเวลาว่างไปออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ที่ทำให้รู้สึกมีความสุขและลดความเครียดได้
    • นอนหลับให้เพียงพอและกินอาหารที่มีประโยชน์ เนื่องจากการต้องให้นมลูกและดูแลลูกแทบจะตลอดเวลา อาจทำให้คุณแม่พักผ่อนน้อยและไม่ค่อยมีเวลากินอาหาร คุณแม่จึงควรพยายามพักผ่อนเท่าที่ทำได้ และควรกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์และอาหารประเภทถั่ว ควรบริโภคแคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัม/วัน เพื่อบำรุงร่างกายหลังการคลอดให้แข็งแรงและมีน้ำนมให้ลูกอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และกาแฟอีนในระหว่างให้นมลูก เนื่องจากอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกและอารมณ์ของคุณแม่ ทำให้คุณแม่รู้สึกแย่ลง
    • ฝึกสมาธิ เช่น การนั่งสมาธิและกำหนดการหายใจเข้า-ออกของตัวเองตามลำพังในบรรยากาศที่เงียบสงบ ไม่มีสิ่งรบกวน อาจช่วยให้จิตใจสงบและรู้สึกดีขึ้นได้

    การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

    ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อาจรักษาได้ด้วยวิธีรักษาทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้

    เป็นวิธีการบำบัดระยะสั้น ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการบำบัดออกจากวังวนความคิดด้านลบ และปรับมุมมองความคิดใหม่ ให้มองเรื่องที่กำลังเผชิญในแง่ที่ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ปรับพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ วิธีนี้จะกระตุ้นให้เห็นว่า ความคิดที่เศร้าหมองในปัจจุบันไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ การบำบัดอาจเป็นการพูดคุย เพื่อให้ได้วิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นแง่บวก ซึ่งอาจมีทั้งการบำบัดแบบตัวต่อตัว และการบำบัดแบบกลุ่ม

    • การบำบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal therapy หรือ IPT)

    เป็นวิธีการบำบัดระยะสั้นเช่นเดียวกับวิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน มุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น คู่สมรส เพื่อน สมาชิกคนอื่นในครอบครัว ที่อาจเป็นต้นเหตุของอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้น

    • การรักษาด้วยยาต้านเศร้า (Antidepressants)

    ยาต้านเศร้าบางชนิด เช่น พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) สามารถใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากจำเป็นต้องใช้ยาต้านเศร้าระหว่างให้นมลูก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา