หิด หรือ โรคหิด (Scabies) เป็นปัญหาสุขภาพผิวหนังที่เกิดจากตัวหิด หรือไรหิด มาขุดเจาะโพรงบนผิวหนังเพื่อวางไข่ จนเกิดอาการแพ้กลายเป็นตุ่มแดง เป็นผื่น และมีอาการคันที่ผิวหนังอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ผู้ป่วยมักเกิดแผลจากการเกาเนื่องจากคันผิวหนังไม่หยุด
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
หิด คืออะไร
หิด หรือ โรคหิด (Scabies) เป็นปัญหาสุขภาพหนังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการถูกไรตัวเล็ก ๆ หรือตัวไรหิดที่อาศัยอยู่ตามผิวหนังมาขุดเจาะผิวหนังให้เป็นโพรงเพื่อวางไข่ ส่งผลให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้กลายเป็นตุ่มแดง หรือผื่นแดง และมีอาการคันถึงคันมาก โดยเฉพาะในเวลากลางคืนอาจจะรู้สึกคันตามผิวหนังหรือคันบริเวณที่มีตุ่มแดงมากเป็นพิเศษ ระยะแรกที่เป็นหิดอาจเข้าใจว่าเป็นเพียงตุ่มแดงหรือผื่นจากการถูกยุงกัดหรือมดกัด แต่อาการที่แตกต่าง คือ จะมีอาการคันถึงคันมาก และคันไม่หยุด
โรคหิด ถือเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง อาจติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงที่ผื่นหรือตุ่มแดงของผู้ป่วยโรคหิด การใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วยโรคหิด เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ห้าห่ม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า
เมื่อเป็นโรคหิดแล้วอาจต้องรักษาทั้งผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดกัน เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถติดต่อถึงกันได้
หิดพบได้บ่อยแค่ไหน
โรคหิดสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีความแออัด และโรคหิดสามารถติดต่อได้กับคนทุกเพศทุกวัย หากไม่รักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
อาการ
อาการของหิด
อาการทั่วไปของโรคหิด มีดังนี้
- มีอาการคันอย่างรุนแรง และจะรู้สึกคันผิวหนังบริเวณที่มีผื่นหรือตุ่มแดงมากเป็นพิเศษในตอนกลางคืน
- มีผื่นคล้ายสิว
- มีแผลพุพองหรือตกสะเก็ด
- มีแผลจากการเกาเนื่องจากอาการคัน
หิด มักพบในบริเวณต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ง่ามนิ้ว
- รักแร้
- รอบหน้าอก
- ด้านในของข้อมือ
- ข้อพับข้อศอก
- หัวเข่า
- รอบเอว
- อวัยวะเพศชาย
- ก้น
- ฝ่าเท้า
สำหรับเด็กเล็กที่เป็นหิด อาจพบว่าหิดสามารถแพร่กระจายไปยังหนังศีรษะ ฝ่ามือ และฝ่าเท้าได้ด้วย
หากเคยเป็นโรคหิดมาก่อน อาการอาจจะเกิดขึ้นภายในระยะ 2-3 วัน แต่ถ้าไม่เคยเป็นหิดมาก่อน หรือเป็นหิดครั้งแรก อาจใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์กว่าที่อาการจะปรากฏ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากมีตุ่มแดง เป็นผื่น และมีอาการคันรุนแรงและคันไม่หยุด ควรไปพบคุณหมอทันที
สาเหตุ
สาเหตุของโรคหิด
โรคหิดเกิดจากตัวหิดหรือไรแปดขาที่มีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มาขุดผิวหนังให้เป็นโพรงและวางไข่เพื่อรอฟัก แม้จะไม่สามารถมองเห็นไรหิดได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็รู้ว่าถูกไรหิดกัดและวางไข่ได้จากอาการคันที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากร่างกายแพ้ไข่และของเสียจากตัวหิด การสัมผัสตุ่มแดงหรือผื่นแดง หรือการใช้ของใช้บางอย่างร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู สามารถทำให้โรคหิดแพร่กระจายติดต่อกันได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหิด
ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหิด
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคหิด ทั้งที่แสดงอาการแล้วหรือยังไม่แสดงอาการ
- เป็นผู้ที่อาศัยในที่คนแออัด เช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำ
- ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคหิด
- ผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานดูแลเด็กและมีเด็กเป็นโรคหิด
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหิด
โดยทั่วไปแล้ว คุณหมอสามารถวินิจฉัยโรคหิดได้ทันทีที่เห็นลักษณะของตุ่มแดง ผื่น แผล และลักษณะอาการคันของผู้ป่วย หรืออาจมีการขูดเอาเนื้อเยื่อผิวหนังไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ว่ามีตัวไรหิด หรือมีไข่ของไรหิด หรือของเสียจากไรหิดหรือไม่
การรักษาโรคหิด
โรคหิดไม่สามารถหายเองได้ แต่สามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้ยา โดยเฉพาะยาทา และเนื่องจากโรคหิดเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ คุณหมอจึงอาจแนะนำการรักษาหรือการป้องกันสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดด้วย
ยาที่นิยมใช้รักษาโรคหิด เช่น
- เพอร์เมทริน (Permethrin) เป็นยาทาที่มีสารในการฆ่าเชื้อไรหิดและไข่ของไรหิด
- ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) หรือ สตรอมเมกตอล (Stromectol) เป็นยารับประทานสำหรับผู้ที่ใช้ยาทาแล้วไม่เป็นผล แต่ไม่ควรใช้กับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวไม่ถึง 15 กิโลกรัม
- โครตามิตอน (Crotamiton) เป็นยาทาสำหรับรักษาโรคหิด แต่อาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร
ยาเหล่านี้สามารถฆ่าไรหิดได้ทันที แต่อาการคันอาจจะยังอยู่ คุณหมอจึงอาจสั่งจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการคันให้ด้วย
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเองเพื่อจัดการกับโรคหิด
วิธีเหล่านี้อาจช่วยรับมือกับโรคหิดได้
- รักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ และรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยด้วย
- หากมีคนในบ้านเป็นโรคหิด ให้ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยด้วยน้ำร้อนและน้ำยาทำความสะอาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคหิด
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ที่เป็นโรคหิด