backup og meta

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของโลกและเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยิ่งอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลดไขมันในเลือด และการลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางประการ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการรักษาด้วยยา และการตรวจสุขภาพเป็นประจำ อาจเป็นวิธี การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และอาจช่วยให้ควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีขึ้นด้วย

    โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) คืออะไร

    โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease หรือ Coronary artery disease) คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจ (Coronary arteries) อุดตัน โดยปกติแล้ว เลือดในหลอดเลือดแดงจะไหลเข้าตอนที่หัวใจบีบตัวและมีแรงดัน แต่การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดหัวใจจะแตกต่างจากหลอดเลือดแดงอื่น ๆ เพราะเลือดจะไหลเข้าหลอดเลือดหัวใจได้ก็ต่อเมื่อหัวใจคลายตัว เนื่องจากในตอนที่หัวใจบีบตัวจะมีแรงดันสูงมากจนเลือดไม่สามารถไหลเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ตอนหัวใจคลายตัว แรงดันที่หัวใจลดลงมาก จนเลือดแดงในหลอดเลือดแดงใหญ่สามารถไหลเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลำเลียงอาหารและออกซิเจนปริมาณมากไปเลี้ยงหัวใจได้

    โดยทั่วไปแล้ว ถ้าผนังหลอดเลือดในบริเวณใดอักเสบหรือเสียหายก็จะมีไขมันและแคลเซียมมาเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือดนั้น ๆ ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณนั้นแคบลง เลือดจึงไหลผ่านไปหล่อเลี้ยงอวัยวะปลายทางได้น้อย นอกจากนี้ เลือดที่ไหลช้าลงยังทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่ายขึ้น จนอาจกลายเป็นลิ่มเลือดเกาะตัวในหลอดเลือดได้ และถ้าหากมีแรงดันเลือดเพิ่มขึ้น อาจทำให้ลิ่มเลือดที่เกาะอยู่บริเวณผนังหลอดเลือดหลุดและไหลไปอุดตันในหลอดเลือดที่อวัยวะต่าง ๆ ได้

    หากหลอดเลือดหัวใจแคบลงเพราะเคยอักเสบหรือเสียหาย จนไขมันพอกหนาส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก อาจทำให้หัวใจขาดเลือดและออกซิเจน จนนำไปสู่อาการแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มากดทับ หรือบางคนอาจรู้สึกว่ามีแรงกดทับหรือแรงบีบอัดที่หัวไหล่ แขน คอ กราม และหลังได้

    หากหลอดเลือดหัวใจตีบมากจนเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ หรือมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดจนเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และหากรักษาไม่ทัน ก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

    โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดหัวใจ

    หากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ เช่น หลอดเลือดตีบ มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้

    • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

    ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวาย เกิดจากเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ไม่ดีนักจนทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นผลจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด และถ้าหากไม่สามารถทำให้หลอดเลือดหายอุดตันได้อย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นเวลานาน จนเสียหายและตายอย่างเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าหัวใจวาย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลงอย่างมาก และทนทานต่อการขาดเลือดได้น้อยลง จนอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว หรือปัญหาที่ร้ายแรงกว่าได้

    • ภาวะหัวใจล้มเหลว

    ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างเพียงพอ สัญญาณและอาการที่บ่งบอกถึงโรคนี้โดยทั่วไปคือ เหนื่อยง่าย หายใจหอบ หรือเริ่มหายใจติดขัด น้ำหนักขึ้นกะทันหัน และมีอาการบวมที่ข้อเท้า เท้า ขา ท้องและหลอดเลือดดำที่คอ อาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดจากหัวใจไม่สามารถระบายเลือดออกไปได้ทัน ทำให้เกิดน้ำคั่งอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ เมื่ออาการเริ่มแสดงออกจะรู้สึกได้ว่ามีการหายใจหอบจากการเคลื่อนไหวตามปกติในชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นบันได การเดิน

    • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    ในภาวะปกติ หัวใจจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ คือประมาณ 70-100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก และอาจจะเต้นเร็วมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ใช้แรงหรือออกกำลังกาย โดยอัตราการเต้นของหัวใจอาจขึ้นอยู่กับอายุด้วย แต่ไม่ว่าจะเต้นเร็วหรือเต้นช้า การเต้นของหัวใจจะมีจังหวะสม่ำเสมอ

    ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ภาวะที่หัวใจเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ เช่น เต้นช้ามาก เต้นเร็วมาก เต้น ๆ หยุด ๆ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น หน้ามืด หรือหัวใจเต้นรัว จนอาจทำให้หมดแรงและหัวใจหยุดเต้นไปในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้

    สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

    โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อภายในหลอดเลือดหัวใจถูกทำลายจากปัจจัยต่าง ๆ ที่พบมาก เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก การไม่ออกกำลังกาย อายุมาก พันธุกรรม นอกจากนี้ โรคเบาหวานอาจหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน

    การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    การรักษาและดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความดันและคอเลอเตอรอลในเลือด ทั้งยังอาจช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงได้

    การควบคุมอาหาร

    โภชนาการที่ดีถือเป็นเรื่องพื้นฐานในการควบคุมโรคเบาหวานและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้ป่วยเบาหวานอาจรับประทานอาหารตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    • รับพลังงานหรือแคลอรี่จากอาหารจำพวกไขมันประมาณ 25-35% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน แต่ไขมันอิ่มตัวไม่ควรเกิน 10% ของไขมันทั้งหมดที่บริโภค และไม่ควรรับประทานคอเลสเตอรอลเกิน 300 มก. ต่อวัน แหล่งไขมันดีที่แนะนำ เช่น น้ำมันมะกอก ธัญพืช ปลาไขมันสูง (เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน) อะโดคาโด ถั่วเหลือง
    • รับพลังงานจากอาหารจำพวกโปรตีนประมาณ 10-15% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน โดยปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม คือ บริโภคโปรตีน 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. จากแหล่งโปรตีนที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ไก่ เนื้อปลา นม เต้าหู้
    • รับพลังงานจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตประมาณ 50-60% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน โดยเลือกแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่หลากหลายและมีไฟเบอร์สูง เช่น เมล็ดพืชและธัญพืชไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต) ผักใบเขียว เผือก มันเทศ
    • ไม่ควรบริโภคเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป (ไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัม/วัน) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงและเป็นโรคไต
    • หากต้องการเติมรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม ควรเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวานหรือสตีเวีย ซูคราโลส แอสปาแตม ทั้งนี้ ควรเลือกประเภทให้เหมาะสมกับวิธีประกอบอาหาร และควรใช้ในปริมาณน้อยที่สุด และไม่ควรใช้สารให้ความหวานมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ซอร์บิทอล ฟรุกโตส
    • ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคระบบประสาท

    การรักษาโรคเบาหวานด้วยยา

    หากควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายแล้วยังไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ คุณหมออาจต้องรักษาด้วยการให้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ยากลุ่มไบกัวไนด์ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องรับประทานยาที่ช่วยลดและควบคุมระดับไขมันในเลือด เช่น ยากลุ่มไฟเบรท ยากลุ่มสแตติน เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย

    ประโยชน์ของยากลุ่มสแตติน

    ยากลุ่มสแตติน เช่น อะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin) ซิมวาสแตติน (Simvastatin) ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) เป็นยาลดไขมันในเลือดที่นิยมใช้ในการรักษาระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากช่วยลดไขมันชนิดเลวหรือไขมันแอลดีแอล (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจช่วยเพิ่มไขมันเอชดีแอล (HDL) หรือไขมันดีได้ด้วย

    ยากลุ่มสแตตินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในตับและในเนื้อเยื่ออื่น ๆ เมื่อเอนไซม์นี้ถูกยับยั้ง จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลภายในตับลดลง ตับจึงดูดซึมคอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดมาใช้โดยการสร้างตัวรับไขมันแอลดีแอล (LDL-receptor) บนเซลล์ตับให้มากขึ้น จึงส่งผลให้ระดับของไขมันแอลดีแอลในกระแสเลือดลดลง นอกจากนี้ กลุ่มยาสแตตินยังเป็นยาที่ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานดีขึ้น และลดกระบวนการอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานได้

    การใช้ยากลุ่มสแตตินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    ข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ที่เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. 2556 แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุ 40-75 ปีที่มีค่าไขมัน LDL มากกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงแข็ง ควรได้รับยาสแตตินร่วมในการรักษาด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยากลุ่มสแตตินเพื่อลดระดับไขมันในเลือด เพื่อให้ทราบขนาดยาที่เหมาะสม และคุณหมออาจแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

    นอกจากการรับประทานอาหารและใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย อาจยิ่งช่วยลดความเสี่ยงในการภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และช่วยให้สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น

    • งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางอย่างการเดิน การเต้นแอโรบิก เป็นต้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที

    LIPI-2022-0060

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา