backup og meta

อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือ เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) กับคุณสมบัติน่าทึ่งในการต้านพิษในร่างกาย

อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือ เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน  (N-Acetylcysteine) กับคุณสมบัติน่าทึ่งในการต้านพิษในร่างกาย

อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือ เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) มักเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในตัวยาทรงประสิทธิภาพ สำหรับบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะ ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นในการช่วยละลายเสมหะ แต่นอกเหนือจากคุณสมบัติในฐานะยาละลายเสมหะแล้ว ยาตัวนี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพในอีกหลายด้านที่เราไม่เคยรู้มาก่อน บทความนี้จะทำให้คุณรู้จักประโยชน์ของตัวยานี้ดียิ่งขึ้น

อะเซทิลซิสเทอีน หรือ เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน คืออะไร

อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือเอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) หรือเรียกโดยย่อว่า NAC จัดเป็นอนุพันธ์หนึ่งของกรดอะมิโนชนิด แอล-ซิสเทอีน (L-cysteine) ลักษณะเป็นผลึกสีขาวละลายน้ำและแอลกอฮอล์ได้ดี ในระยะแรก ถูกนำมาใช้เป็นยาละลายเสมหะในผู้ป่วยโรคซีสติกไฟโบรซีส (cystic fibrosis) เนื่องจากมีคุณสมบัติในการทำให้โมเลกุลเสมหะแตกตัว ลดความข้นเหนียวของเสมหะ ทำให้ร่างกายสามารถขับออกมาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

อะเซทิลซิสเทอีน (เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน) ต้านพิษในร่างกายอย่างไร

ภายหลังมีการศึกษาวิจัยและค้นพบว่า NAC มีคุณสมบัติในการต้านพิษในร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้กระบวนการควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกายมีความสมดุลและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีคุณสมบัติด้านต่างๆ ดังนี้

คุณสมบัติการช่วยสร้างกลูตาไธโอน

กลูตาไธโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกายถูกสังเคราะห์ขึ้นภายในเซลล์โดยใช้กรดอะมิโนซิสเทอีนเป็นสารตั้งต้น ในร่างกายจะพบกลูตาไธโอนได้ในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ตับอ่อน ปอด เลนส์ตา เซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์เม็ดเลือดขาว แต่มักพบในเซลล์ตับมากที่สุด

ความสำคัญของกลูตาไธโอน คือ เป็นช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยการทำงานของตับในการทำลายและขจัดสารพิษออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทั่วไป ถ้าในเซลล์มีปริมาณกลูตาไธโอนต่ำกว่าร้อยละ 80 จะทำให้เซลล์ตายได้

อย่างไรก็ตาม ร่างกายอาจมีปริมาณกลูตาไธโอนต่ำลงได้อันเนื่องจากมาหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร โรคที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง โรคพิษสุราเรื้อรัง เมื่อกลูตาไธโอนลดต่ำลง จะทำให้กระบวนการควบคุมสารอนุมูลอิสระของร่างกายเสียสมดุลไปด้วย ในกรณีนี้ NAC จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในร่างกาย

เมื่อเข้าสู่ร่างกาย NAC จะแตกตัวเป็นสารซิสเทอีน ซึ่งจะถูกนำไปยังเซลล์ตับเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างกลูตาไธโอน และเริ่มต้นกระบวนการขจัดพิษออกจากร่างกาย และทำลายสารอนุมูลอิสระในร่างกายไม่ให้มีมากเกินไป

คุณสมบัติต้านการอักเสบ

มีผลงานการวิจัยและการทดลองการใช้ NAC ในทั้งคนและสัตว์เพื่อศึกษาฤทธิ์การต้านการอักเสบ พบว่าสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดการอักเสบได้หลายชนิด รวมทั้งช่วยลดแรงกระตุ้นการสร้างสารสื่อกลางที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกายอีกด้วย

คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ

จากการวิจัยพบว่า NAC มีฤทธิ์ในการดักจับอนุมูลอิสระ (radical scavenging) และฤทธิ์ในการจับกับโลหะที่สามารถเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชัน (metal chelation) รวมทั้งยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย เช่น กลูตาไธโอน ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง

ประโยชน์ของอะเซทิลซิสเทอีน (เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน) ในการรักษาโรคต่างๆ

ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในการใช้ยาตัวนี้ในการรักษาโรคหรือภาวะทางสุขภาพ ในกรณีดังต่อไปนี้

ภาวะพิษต่อตับที่เกิดจากการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด

ในการรักษานี้ ตัวยา NAC จะทำหน้าที่ลดความรุนแรงของพิษที่อาจทำลายเซลล์ตับ โดยจะเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ กลูตาไธโอน ขึ้นมาเพิ่มเพื่อชดเชยกลูตาไธโอนที่ใช้หมดไปในกระบวนการกำจัดยาพาราเซตามอลส่วนเกินที่เป็นพิษต่อตับ การรักษามักใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และยารับประทาน

ภาวะไตอักเสบจากสารทึบรังสี

ภาวะไตอักเสบจากสารทึบรังสี คือการบาดเจ็บของไตที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับสารทึบรังสีทางหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากระบบไหลเวียนเลือดบริเวณไตลดลง ทำให้เนื้อเยื่อในไตบาดเจ็บเพราะขาดอ็อกซิเจน บทบาทของ NAC ในที่นี้คือ การขยายหลอดเลือดบริเวณไตเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเซลล์ รวมทั้งยังสามารถป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณไตได้อีกด้วย

โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic Fibrosis) และ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)

ยานี้ลดความเหนียวข้นของเสมหะในผู้ป่วยได้ดี รวมทั้งช่วยขับเสมหะในปอดด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถลดการสะสมของเสมหะ ลดการกระตุ้นการสร้างเมือกในทางเดินหายใจ ดังนั้น จึงสามารถป้องกันภาวะการหลั่งเมือกออกมามากกว่าปกติได้นั่นเอง จึงสามารถรักษาอาการของผู้ป่วยโรคซิสติกไฟโบรซิส และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ป้องกันยาที่มีพิษต่อประสาทหู

จากการทดลองทางการแพทย์พบว่ายานี้สามารถป้องกันการทำลายประสาทหูจากยาซิสพลาติน (Cisplatin) ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งแบบเคมีบำบัดได้

โรคความผิดปรกติทางสมอง

จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่าการมีปริมาณกลูตาไธโอนบกพร่องสัมพันธ์กับการเกิดโรคความผิดปกติทางสมองต่างๆ จึงมีการนำคุณสมบัติในการช่วยสร้างกลูตาไธโอนมาใช้ในผู้ป่วยโรคความผิดปรกติทางสมองอย่างกว้างขวาง เช่น โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

เอ็น-อะเซทิลซิสเทอิน

Antidotes: N-acetylcysteine (NAC)

https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/anti-cov/Nac

Accessed 14 Feb 2019

Role of N-acetylcysteine and cystine in glutathione synthesis in human erythrocytes.

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19490753

Accessed 14 Feb 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Julie


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้ไอ รูปแบบ ไหนกันแน่ ที่จัดการกับอาการไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไอมีเสมหะ ไม่หายซะที! วิธีไหนทำให้หายไวที่สุด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา