ภูมิแพ้ไข่ (Egg Allergy) คืออาการแพ้หลังรับประทานไข่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไข่ ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารของผู้ป่วย เช่น ท้องอืด ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน
คำจำกัดความ
ภูมิแพ้ไข่ (Egg Allergy) คืออะไร
ภูมิแพ้ไข่ (Egg Allergy) คืออาการแพ้หลังรับประทานไข่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไข่ ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารของผู้ป่วย เช่น ท้องอืด ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน
อย่างไรก็ตาม ภาวะภูมิแพ้ไข่ สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยเด็ก (อาการแพ้อาจคงอยู่หลายปีแล้วหาย แต่บางกรณีอาจอยู่ในภาวะภูมิแพ้ไข่ไปตลอดชีวิต)
พบได้บ่อยเพียงใด
ภูมิแพ้ไข่ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยเด็ก รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
อาการ
อาการของ ภาวะภูมิแพ้ไข่
อาการของ ภาวะภูมิแพ้ไข่ มักส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร โดยผู้แพ้ส่วนใหญ่จะมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้อง หรือท้องอืด
- ตะคริว
- ท้องร่วง
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ผิวหนังอักเสบ หรือลมพิษ
- คัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม
- หายใจหอบ แน่นหน้าอก หายใจถี่
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของ ภาวะภูมิแพ้ไข่
ภาวะภูมิแพ้ไข่ เกิดจากสาเหตุของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายระบุว่าโปรตีนไข่บางชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายปล่อยฮีสตามีน (Histamine) และสารเคมีอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
ทั้งไข่แดงและไข่ขาวมีโปรตีนที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่อาการแพ้ไข่ขาวนั้นพบได้บ่อยกว่าไข่แดง นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่รับประทานไข่อาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะภูมิแพ้ไข่ผ่านน้ำนมแม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงของ ภาวะภูมิแพ้ไข่
ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มให้เกิดภาวะภูมิแพ้ไข่ มีดังนี้
- โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะภูมิแพ้ไข่ได้มากกว่าเด็กปกติทั่วไป
- สมาชิกในครอบครัว หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติโรคหอบหืด หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้ประเภทอื่น ๆ เช่น ไข้ละอองฟาง ลมพิษ อาจเสี่ยงต่อการเป็นภาวะภูมิแพ้ไข่ได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป
- อายุ ภาวะภูมิแพ้ไข่พบได้บ่อยในเด็ก เมื่ออายุมากขึ้นระบบย่อยอาหารจะเจริญเติบโตและเกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่าตอนวัยเด็ก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย ภาวะภูมิแพ้ไข่
การวินิจฉัยอาการแพ้ไข่ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการของผู้ป่วย รวมถึงการทดสอบอื่น ๆ เพื่อวินิจอาการแพ้ เช่น การตรวจเลือด การทดสอบผิวหนัง
การรักษา ภาวะภูมิแพ้ไข่
วิธีการรักษาภาวะภูมิแพ้ไข่ที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่และอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ โดยหลัก ๆ แพทย์จะแนะนำให้งดอาหาร งดรับประทานไข่เป็นเวลา 6 สัปดาห์ต่อครั้ง หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนความถี่ในการรับประทานไข่
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรักษาภาวะภูมิแพ้ไข่
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรักษาภาวะภูมิแพ้ไข่ มีดังต่อไปนี้
- อ่านฉลากอาหารให้ละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่ซื้อไม่มีส่วนผสมของไข่
- ระวังเรื่องการรับประทานอาหารนอกบ้าน ต้องแจ้งให้พ่อครัวแม่ครัวทราบว่าตนมีอาการแพ้ไข่
- ในกรณีคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร (ลูกอยู่ในภาวะภูมิแพ้ไข่) ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไข่
[embed-health-tool-bmr]