backup og meta

วิธี ป้องกัน ไม่ให้ ครรภ์เป็นพิษ ทำได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    วิธี ป้องกัน ไม่ให้ ครรภ์เป็นพิษ ทำได้อย่างไร

    ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในหญิงที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป ทำให้มีระดับความดันโลหิตสูงผิดปกติ มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นลิ้นปี่ ตาพร่ามัวได้ หากเป็นมากในระดับรุนแรงอาจส่งผลต่อร่างกายคุณแม่ได้หลายๆระบบ เช่น เกิดภาวะตับวาย ไตวาย เกล็ดเลือดต่ำ น้ำท่วมปอด การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือรุนแรงจนทำให้เกิดการชักได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัดแต่อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปยังรกผิดปกติ การรักษาทำได้เพียงวิธีเดียว คือ การยุติการตั้งครรภ์เพื่อหยุดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ วิธี ป้องกัน ไม่ให้ ครรภ์เป็นพิษ อาจทำได้ด้วยการไปฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์และประเมินความเสี่ยงในการเกิดครรภ์เป็นพิษ เพื่อรับการดูแลครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมขณะตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    ภาวะครรภ์เป็นพิษ คืออะไร

    ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะผิดปกติขณะตั้งครรภ์ที่พบได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป ความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษอาจมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนไปถึงรุนแรงมาก หญิงตั้งครรภ์ที่ครรภ์เป็นพิษในระดับความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลางอาจมีความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 mm Hg มีโปรตีนในปัสสาวะ มีอาการบวมที่มือ ขา และเท้า (Edema) แต่หากเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในระดับรุงแรงอาจมีอาการเพิ่มเติม เช่น สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว คลื่นไส้ อาเจียน เกล็ดเลือดลดลง จุกแน่นที่ลิ้นปี่ หายใจถี่รัวเพราะมีของเหลวในปอด ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา

    ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจทำให้รกลำเลียงเลือด ออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารกได้ไม่เพียงพอ จนทำให้ทารกมีปัญหาด้านพัฒนาการ หรือมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าเกณฑ์ได้ ทั้งนี้ หากตรวจพบภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่เนิ่น ๆ และได้รับการดูแลครรภ์จากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ก็สามารถช่วยให้ทารกที่คลอดออกมามีสุขภาพดีสมบูรณ์ตามปกติได้

    ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร

    ปัจจุบันสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของรก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ส่งต่อออกซิเจนและสารอาหารกับทารกในครรภ์ตลอดการตั้งครรภ์ ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมักมีลักษณะหลอดเลือดที่ผิดไปจากปกติ เช่น หลอดเลือดแคบและตีบ หลอดเลือดตอบสนองต่อการส่งสัญญาณของฮอร์โมนแตกต่างไปจากเส้นเลือดทั่วไป ซึ่งทำให้การไหลเวียนของเลือดผ่านไปได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งหลอดเลือดที่ผิดปกติอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีเลือดไปเลี้ยงมดลูกไม่เพียงพอ หลอดเลือดมีความเสียหาย ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ พันธุกรรม

    ภาวะแทรกซ้อนของภาวะครรภ์เป็นพิษ

    ภาวะแทรกซ้อนของภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจมีดังนี้

    • ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (Fetal growth restriction) ภาวะนี้อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดจากหลอดเลือดแดงไปยังรก และอาจทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ จนเจริญเติบโตผิดปกติ
    • การชักในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (Eclampsia) ภาวะครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรงอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง มีปัญหาด้านการมองเห็น สับสนมึนงง มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป แล้วตามมาด้วยการชัก อาการนี้อาจเกิดได้ทั้งก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด
    • การคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจทำให้คุณหมอตัดสินใจทำคลอดก่อนกำหนดหรือก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ การคลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ทารกเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น ปัญหาการกินและการหายใจ ปัญหาการได้ยินและการมองเห็น ทารกพัฒนาการล่าช้า ภาวะสมองพิการ
    • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) เมื่อหญิงตั้งครรภ์มีภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจทำให้รกที่ฝังตัวกับผนังด้านในของมดลูกลอกตัวก่อนที่ทารกจะคลอดออกมา และอาจทำให้เสียเลือดมากตามไปด้วย ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อทั้งหญิงตั้งครรภ์และเด็ก
    • กลุ่มอาการ HELLP (HELLP syndrome) เป็นความผิดปกติของเลือดและตับ เนื่องจากมีค่าเอนไซม์การอักเสบของตับสูง เกล็ดเลือดต่ำ และเม็ดเลือดแดงแตก อาจเกิดได้ทั้งขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ทำให้มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายตัว ภาวะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวกับผู้เป็นแม่ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งกับหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์
    • ความเสียหายของอวัยวะอื่น ๆ ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ไต ตับ ปอด หัวใจ และอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและการบาดเจ็บที่สมองได้ ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) ภาวะครรภ์เป็นพิษทำให้หญิงตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติจึงอาจเสี่ยงเกิดกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะเมื่อเคยเกิดภาวะนี้มากกว่า 1 ครั้งหรือเคยคลอดบุตรก่อนกำหนดมาก่อน

    วิธี ป้องกัน ไม่ให้ ครรภ์เป็นพิษ ทำได้อย่างไร

    ในหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ทุกรายจะได้รับการประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการเกิดครรภ์เป็นพิษ เช่น ครรภ์แฝด หญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวเดิม เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ หรือโรคภูมิคุ้มกันไวเกิน เป็นต้น จะมีการให้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือ aspirin ขนาดต่ำรับประทาน โดยเริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12-28 สัปดาห์ และกินต่อเนื่องไปถึงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์หรือจนถึงวันคลอด เพื่อเป็นการลดโอกาสการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ 

    แต่ใด ๆ ก็ตามภาวะครรภ์เป็นพิษอาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพในเบื้องต้นทั้งในช่วงเตรียมตัวตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วย วิธี ป้องกัน ไม่ให้ ครรภ์เป็นพิษ ดังต่อไปนี้ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารตามธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ นมไขมันต่ำ พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ไม่ติดมันปรุงสุก
    • ลดการบริโภคอาหารทอดและอาหารขยะ ลดการเติมเกลือในอาหารที่รับประทาน อาจลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงได้ เนื่องจากเกลือและโซเดียมจะทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้เยอะกว่าปกติ ทำให้มีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
    • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับของเหลวเพียงพอ
    • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง จนส่งผลให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ
    • ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ดาร์กช็อกโกแลต โดยหญิงตั้งครรภ์ควรจำกัดการบริโภคคาเฟอีนไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
    • งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากมีสารพิษอย่างนิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดหลอดเลือดตีบตัน เสี่ยงเกิดโรคความดันโลหิตสูง
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและสามารถสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น อาจช่วยลดแรงดันที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดและลดความดันโลหิตได้
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนที่ทำให้เสี่ยงมีความดันโลหิตสูงผิดปกติ
    • ฝากครรภ์และไปตรวจครรภ์ตามนัดหมายของคุณหมอทุกครั้ง เพื่อติดตามระดับความดันโลหิตขณะตั้งครรภ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ และหาความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา