backup og meta

โรคเอดส์ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 01/03/2023

    โรคเอดส์ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

    หลายคนมีข้อสงสัยที่ว่า โรคเอดส์ รักษา ให้หายได้หรือไม่ โรคเอดส์ (AIDS) เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากมาย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะโรคเอดส์ที่มักจะมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตาม สำหรับการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก อาจสามารถควบคุมได้ด้วยการรับประทานยาตามที่คุณหมอกำหนดอย่างเคร่งครัด 

    โรคเอดส์ รักษา ให้หายขาดได้หรือไม่

    ผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก หรือแทบจะไม่เหลือความหวังในการใช้ชีวิตให้เหมือนกับคนปกติได้เลย ทำให้ทางการแพทย์มุ่งเน้นในเรื่องของการรักษาโรคนี้มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีความหวังอีกครั้ง

    หากพูดถึงการรักษาเอดส์ นายแพทย์วิฉกร จิตประพันธ์ กล่าวว่า “เราต้องย้อนกลับไปก่อนว่าในอดีต เมื่อ 20-30 ปีก่อน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีแทบจะไม่มีความหวังในการรักษา แทบจะไม่หายด้วยซ้ำ คนไข้ในช่วงนั้นต้องทานยาเยอะมาก เป็น 10 เม็ดต่อวัน แล้วผลข้างเคียงของยาเยอะมาก”

    หลังจากนั้นผ่านมาประมาณ 10-20 ปี วิวัฒนาการทางการแพทย์ได้พัฒนาในเรื่องของยา และการรักษาเอชไอวีได้ดีมากขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถทานยาได้เพียง 1 เม็ด ทั้งยังสามารถควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่พัฒนาต่อการเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์ ในปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องของยามากขึ้น คิดค้นยาที่มีผลข้างเคียงต่ำ ผู้ป่วยสามารถทานยาและใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อรูปลักษณ์ภายนอก ภาวะทางอารมณ์ อาการเวียนศีรษะ และคลื่นไส้ เป็นต้น

    ในส่วนของปัจจุบันการพัฒนายาก็ได้ก้าวหน้ามากขึ้น อนาคตผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องทานยาทุกวัน อาจจะเปลี่ยนเป็นยาฉีด โดยปัจจุบันก็ได้มีการทำวิจัยอยู่ หลังจากที่วิจัยสำเร็จแล้ว ผลออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ และมีการอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยทั่วไปได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับการฉีดยา

    นอกจากนี้นายแพทย์วิฉกร จิตประพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า “สำหรับยาฉีดนั้น การฉีด 1 ครั้งจะสามารถอยู่ได้นาน 1-2 เดือน โดยเมื่อครบกำหนดตามที่แพทย์นัด จึงค่อยกลับมาฉีดอีกครั้ง โดยที่ไม่ต้องทานยาทุกวันอีกต่อไป สำหรับข้อมูลที่ผ่านมาเกี่ยวกับผู้ป่วยที่หายจากเอดส์หรือเอชไอวี ได้มีรายงานจากต่างชาติระบุเอาไว้ว่า ทิโมธี เรย์ บราวน์ (Timothy Ray Brown) เป็นชาวต่างชาติที่ติดเชื้อเอชไอวีมานาน และป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia หรือ AML) ร่วมด้วย สำหรับการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดดังกล่าว จำเป็นต้องมีการใช้เคมีบำบัด ซึ่งเคมีบำบัดนั้นจะทำลายเซลล์คุ้มกันในร่างกายทั้งหมด

    จากนั้นผู้ป่วยคนดังกล่าวได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกขึ้นมาใหม่ โดยปกติแล้วเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปติดและแบ่งตัวในเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ซีดีโฟร์ (CD4) เมื่อ ทิโมธี เรย์ บราวน์ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกขึ้นมาให้ จึงทำให้เชื้อเอชไอวีหายออกไปจากร่างกาย หลังจากติดตามผลการรักษาเกือบ 10 ปี พบว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีเชื้อเอชไอวีกลับมาใหม่ และไม่ต้องทานยาอีกต่อไป

    แต่ทั้งนี้การปลูกถ่ายไขกระดูกยังมีความเสี่ยงสูง มีค่าใช้จ่ายที่สูง ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน ซึ่งต้องหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เซลล์ใหม่ที่ใส่เข้าไปในร่างกายต้านกับเซลล์เก่า หรือผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด รวมถึงการฉายแสงทั่วร่างกาย”

    สรุปสาระสำคัญ

    โดยสรุป การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยและคิดค้นอย่างต่อเนื่อง การหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวียังคงมีผู้ป่วยเพียงรายเดียวเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยง และเข้ารับการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 01/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา