TPHA คือ หนึ่งในวิธีตรวจโรคซิฟิลิสด้วยการหาสารภูมิต้านทานในเลือดซึ่งจะหลั่งออกมาเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค โดยเป็นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับตัวโรค อย่างไรก็ตาม การตรวจแบบ TPHA จะไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้อซิฟิลิสหรือไม่หากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิสในระยะเริ่มต้น จึงมักนิยมใช้วิธีการตรวจแบบ TPHA เพื่อยืนยันผลเฉพาะในผู้ที่ผ่านการคัดกรองว่าเป็นโรคซิฟิลิสแล้ว
[embed-health-tool-ovulation]
TPHA คือ อะไร
TPHA ย่อมาจาก Treponema Pallidum Hemagglutination Assay เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจโรคซิฟิลิส ด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาจำนวนของแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทาน ซึ่งร่างกายจะหลั่งออกมาเพื่อตรวจจับและทำลายเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิส
ทั้งนี้ ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับหนองใน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัมผ่านทางรอยขีดข่วน หรือบาดแผลเล็ก ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทั้งแบบสอดใส่และแบบไม่สอดใส่ อาการในระยะแรก ๆ ของซิฟิลิส คือ มีแผลริมแข็งและผื่นขึ้นตามลำตัว หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา เชื้อจะแพร่กระจายไปตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจทำให้การทำงานของหัวใจเสื่อมหรือล้มเหลว รวมทั้งเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังระบบประสาท และทำให้ระบบประสาทเสียหาย
อย่างไรก็ตาม การตรวจแบบ TPHA มักไม่พบเชื้อซิฟิลิสในผู้ติดเชื้อระยะเริ่มต้น จึงมักใช้วิธีนี้ในผู้ที่มีผลตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิสในเบื้องต้นเป็นบวกเพื่อยืนยันผลว่าเป็นโรคซิฟิลิส
วิธีเตรียมตัวก่อนเข้ารับ การตรวจ TPHA
การตรวจ TPHA คล้ายการตรวจเลือดทั่วไปที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษแต่อย่างใด ยกเว้นในกรณีที่คุณหมออาจระบุรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นกรณีไป
การตรวจ TPHA แสดงผลอย่างไร
ในห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญจะตรวจการติดเชื้อซิฟิลิส ด้วยการนำเม็ดเลือดที่เคลือบสารก่อภูมิต้านทานของเชื้อทรีโพนีมา แพลลิดัม ไปทดสอบกับตัวอย่างเลือดของผู้ที่เข้ารับการตรวจ ถ้าเม็ดเลือดแผ่เป็นวงกว้างในหลุมทดสอบ หมายถึง มีแอนติบอดีของเชื้อทรีโพนีมา แพลลิดัม แสดงว่าเป็นโรคซิฟิลิส จะให้ผลตรวจเป็นบวก แต่ถ้าเม็ดเลือดแดงตกตะกอนและกระจุกตัวแน่นที่ก้นหลุม หมายถึงไม่ติดเชื้อหรือไม่ได้เป็นซิฟิลิส จะให้ผลตรวจเป็นลบ
โดยทั่วไป ผู้ที่เข้ารับการตรวจแบบ TPHA จะทราบผลภายใน 1 วัน
วิธีตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสแบบอื่นมีอะไรบ้าง
การตรวจหาเชื้อซิฟิลิสแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการตรวจแบบ TPHA มีดังต่อไปนี้
- การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบดาร์คฟิลด์ (Dark Field Microscope) เป็นการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม ด้วยกล้องจุลทรรศน์เฉพาะ ซึ่งจะทำให้ตัวเชื้อสว่างขึ้นบนพื้นหลังสีดำ การตรวจแบบนี้เหมาะสำหรับการตรวจวินิจฉัยซิฟิลิสในระยะที่ 1 และ 2
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับซิฟิลิส หรือ VDRL (Venereal Disease Research Laboratory) เป็นการตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ด้วยการทดสอบการตอบสนองของแอนติบอดีที่ร่างกายผู้ป่วยจะผลิตขึ้นเมื่อติดเชื้อ ต่อสารก่อภูมิต้านทานจากหัวใจของวัวที่เป็นส่วนผสมในน้ำยาทดสอบ โดยเป็นภูมิคุ้มกันที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อ การตรวจซิฟิลิสแบบ VDRL มีข้อดีคือสามารถตรวจและทราบผลได้รวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือผลตรวจอาจคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะหากผู้ที่เข้ารับการทดสอบเป็นโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้รากสาดใหญ่ ดังนั้น การตรวจแบบ VDRL จึงมักใช้เพื่อตรวจคัดกรองโรคเท่านั้น
- ชุดตรวจคัดกรองซิฟิลิสแบบ RPR (Rapid Plasma Reagin) เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรคซิฟิลิสในเบื้องต้น คล้ายกับการตรวจแบบ VDRL แต่เป็นที่นิยมมากว่า เพราะการอ่านผลตรวจสามารถทำได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ และน้ำยาทดสอบแบบ RPR มีอายุใช้งานที่นานกว่า