backup og meta

6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยในผู้ชาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยในผู้ชาย

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ โรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าทางปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก โรคที่พบได้บ่อยใน ผู้ชาย ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริม และหูดที่อวัยวะเพศ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะบางโรคอาจใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการจึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน

    ในประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า อัตราป่วยด้วยโรคทั้ง 6 เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในทุกกลุ่มอายุ โดยในกลุ่มอายุ 15-19 ปีเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในรอบ 10 ปี จากอัตราป่วย 79 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็น 191 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

    โดยในเพศชาย ผู้ป่วยซิฟิลลิสเพิ่มจาก 3.1 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในปี 2553 เป็น 17.1 คน ในปี 2562 หรือมากกว่า 5 เท่า ในรอบ 10 ปี

    6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบได้ใน ผู้ชาย

    1. โรคหนองใน 

    โรคหนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งแพร่กระจายได้ผ่านทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก โรคนี้พบได้ทั่วไปในผู้มีอายุ 15-24 ปี ในบางกรณีทารกสามารถติดเชื้อหนองในได้หากคลอดจากมารดาที่เป็นหนองใน

    โรคหนองใน อาจจะออกอาการภายใน 2 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ โดยทั่วไป ผู้ป่วยเพศชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นไหลออกจากอวัยวะเพศ และอัณฑะที่เจ็บหรือบวม ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยหนองในไม่มีอาการ เชื้อหนองในยังสามารถลุกลามไปที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น ท่ออสุจิตีบตัน เป็นหมัน มีผื่นขึ้นตามลำตัว ยิ่งกว่านั้น การเป็นโรคหนองในยังเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ด้วย

    นอกจากการติดเชื้อที่ที่อวัยวะเพศ การติดเชื้อหนองในยังเกิดบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น

    • ลำไส้ตรง ผู้ติดเชื้อจะมีสารคัดหลั่งคล้ายหนองไหลออกมาจากทวารหนัก และอาการคันบริเวณทวารหนัก
    • ลำคอ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม
    • ดวงตา ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บตา ตาไม่สู้แสง และมีหนองไหลออกมาจากตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง

    วิธีการรักษา

    โรคหนองในสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) โดยคุณหมอจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 1 เข็ม ในขนาด 500 มิลลิกรัม หรือใช้ยาตัวอื่นในกรณีเซฟไตรอะโซนไม่ได้ผล ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดื้อยา ดังนั้น หลังจากการรักษา 1-2 สัปดาห์ คุณหมอจะนัดดูอาการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยหายขาดจากโรค

    ผู้ป่วยที่พบอาการผิดปกติภายใน 2-3 วันหลังการรักษาจำเป็นต้องกลับมาตรวจอีกครั้ง สำหรับผู้ที่รักษาหนองในจนหายขาดแล้วควรตรวจซ้ำหลังการรักษา 3 เดือน เพราะโรคนี้อาจเป็นซ้ำได้

    2. โรคหนองในเทียม 

    หนองในเทียมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) โดยทั่วไป การติดต่อของหนองในเทียมมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก และยังแพร่จากแม่สู่ทารกได้เหมือนกับโรคหนองใน 

    ในระยะแรก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ จนกระทั่งประมาณ 1-3 สัปดาห์แรกของการติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อหนองในเทียมที่อวัยวะเพศจะมีอาการคล้ายของโรคหนองใน คือปัสสาวะแสบขัด สารคัดหลั่งผิดปกติไหลออกมาจากอวัยวะเพศ อัณฑะปวดหรือบวม 

    ในกรณีของการติดเชื้อที่ลำไส้ตรง ผู้ป่วยจะมีหนองไหลและเลือดไหลออกมาจากทวารหนัก รวมถึงอาการเจ็บปวดที่ทวารหนัก ถ้าไม่รีบรักษา โรคหนองในเทียมจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่าง ต่อมลูกหมากติดเชื้อหรือข้ออักเสบ

    วิธีการรักษา

    โรคหนองในเทียมสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยคุณหมอจะจ่ายยาด็อกซีไซคลีนไฮเคลต (Doxycycline Hyclate) ให้รับประทานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) โดยให้รับประทานวันละมื้อเป็นเวลา 3 วัน

    ผู้ป่วยที่ได้ยาด็อกซีไซคลีนไฮเคลต ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่า่การรักษาโรคของตนและคู่นอนจะเสร็จสิ้น ในกรณีผู้ป่วยได้รับยาอะซิโธรมัยซิน ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ 7 วันหลังจากการรักษาโรคของตนและคู่นอนเสร็จสิ้น

    เช่นเดียวกับโรคหนองใน โรคหนองในเทียมสามารถเป็นซ้ำได้ ผู้หายขาดจากโรคแล้วควรตรวจโรคซ้ำ 3 หรือ 6 เดือน หลังจากการรักษา 

    3. ซิฟิลิส 

    ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีต้นเหตุจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็กๆ บนผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ

    ซิฟิลิสติดต่อกันได้โดยการสัมผัสกับแผลริมแข็ง (Chancre) หรือแผลเล็ก ๆ ที่ไม่รู้สึกเจ็บ บริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก อันเป็นอาการของโรค นอกจากนี้ ซิฟิลิสยังติดผ่านเลือดได้ อย่างกรณีใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และสามารถแพร่จากมารดาสู่ทารกได้

    ซิฟิลิสจะแสดงอาการภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ โดยอาการจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

    • ระยะแรก: ผู้ป่วยจะมีแผลริมแข็ง โดยแผลนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 3-6 สัปดาห์แล้วหายไป ก่อนอาการจะเข้าสู่ระยะที่สอง
    • ระยะที่สอง: ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ร่วมด้วยแผลที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก อาการในระยะนี้สามารถหายเองและกลับมาเป็นใหม่ได้
    • ระยะที่แฝง: ในระยะนี้จะไม่พบอาการใด ๆ สามารถพบเชื้อได้เมื่อตรวจเลือด
    • ระยะสุดท้าย: เป็นระยะซึ่งอาจเกิดภายใน 1 ปีหรือนานกว่าหลังจากการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการบาดเจ็บที่สมอง ระบบประสาท ตา หรือหัวใจ

    วิธีการรักษา

    • สำหรับการรักษาซิฟิลิส คุณหมอจะฉีดเพนนิซิลิน (Penicillin) 1 เข็มแก่คนไข้ และอาจเพิ่มจำนวนโดสขึ้น หากคนไข้ป่วยเป็นโรคนี้มานานแล้ว หรืออาการป่วยอยู่ในระยะหลัง ๆ
    • ในกรณีของคนที่แพ้ยาเพนนิซิลิน คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน หรือเลือกให้เพนนิซิลินกับคนไข้ในปริมาณน้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณในภายหลัง เพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้
    • หากมีการพบซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดออกมาจะถูกตรวจว่าติดโรคหรือไม่ หากติดโรค คุณหมอจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกับแม่ของเด็ก

    4. แผลริมอ่อน

    แผลริมอ่อนเป็นโรคซึ่งมีต้นเหตุจากเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi) แผลริมอ่อนติดต่อได้ง่าย ผ่านการสัมผัสกับตัวแผลหรือหนองจากแผลริมอ่อน

    อาการของโรคจะเริ่มเด่นชัดภายใน  3-7 วันหลังจากการติดเชื้อ โดยจะเกิดตุ่มนิ่มบริเวณอวัยวะเพศหรือถุงอัณฑะของผู้ป่วย ตุ่มนี้ภายหลังจะแตกกลายเป็นแผลและมีหนองข้างใน โดยแผลส่วนมากจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมากเมื่อถูกสัมผัสที่แผล

    ในบางกรณี แผลริมอ่อนอาจเกิดร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณขาหนีบ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยกำลังต่อสู้กับการติดเชื้ออยู่

    วิธีการรักษา

    แผลริมอ่อนสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) และซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ซึ่งจะทำให้แผลหายภายใน 2 สัปดาห์

    ขณะรักษาตัว ผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดมีเพศสัมพันธ์ ดูแลบริเวณรอบ ๆ แผลให้แห้งอยู่เสมอ และเลี่ยงการใส่กางเกงที่รัด เพราะอาจทำให้แผลระคายเคืองได้

    5. เริม

    เริมเป็นโรคจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ, HSV) ติดต่อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ผ่านแผลพุพอง รวมถึงผ่านน้ำลาย (ในกรณีติดเชื้อที่ปาก) และสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศของผู้ติดเชื้อ 

    อาการของเริมจะแสดงภายใน 4-7 วันหลังติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด แผลพุพองและอาการคันบริเวณอวัยวะเพศ

     วิธีการรักษา

    เริมอาจหายได้เองและเป็นซ้ำได้ การรักษาจะแบ่งเป็นกรณีเป็นครั้งแรก และเมื่อเป็นซ้ำ

    • กรณีเกิดเริมครั้งแรก คุณหมอจะให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยเพื่อให้อาการดีขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาหลังมีอาการประมาณ 5 วัน นอกจากนี้คุณหมอจ่ายยาประเภทครีมให้ผู้ป่วยเพื่อลดความเจ็บปวดจากแผล
    • กรณีแผลกลับมา คุณหมอจะให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยเพื่อให้แผลหายไวขึ้น ในบางกรณี การเกิดเริมซ้ำอาจไม่ต้องรักษาเพราะแผลหายเองได้ อาการของเริมที่เกิดซ้ำจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก  

    6. หูดที่อวัยวะเพศ

    หูดที่อวัยวะเพศเกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papillomavirus หรือ, HPV) การแพร่ของเชื้อเกิดจากการสัมผัสหูดระหว่างมีเพศสัมพันธ์  

    หูดจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก มีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อสีน้ำตาล ในบางรายอาจมีหน้าตาคล้ายดอกกะหล่ำ และสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันทีละหลายตุ่มได้ 

    หูดที่อวัยวะเพศไม่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย แต่อาจทำให้คัน อาการของโรคเกิดหลังจากติดเชื้อราว 3 สัปดาห์

    วิธีการรักษา

    หูดที่อวัยวะเพศรักษาได้หลายวิธี ขึ้นกับตำแหน่งของตุ่มเนื้อและจำนวนของหูด ดังนี้

    • ทาครีมโพโดฟีโลทอกซิน (Podophylotoxin) โดยคุณหมอจะให้ผู้ป่วยนำครีมกลับไปทาเองที่บ้าน 
    • กำจัดหูดด้วยกระแสไฟฟ้า
    • ผ่าตัดด้วยมีดหรือเส้นลวด
    • จี้หูดด้วยความเย็น

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากการร่วมเพศกับผู้ติดเชื้อ ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจมีดังนี้

    • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน 
    • มีคู่นอนหลายคน 
    • มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีคู่นอนหลายคน
    • ถูกบังคับให้ร่วมเพศ ถูกข่มขืน
    • ใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด
    • เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรไปพบคุณหมอเมื่อ

    • มีอาการต้องสงสัยของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น อาการเจ็บแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ หรือมีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ
    • เมื่อทราบว่าคู่นอนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    การวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ในการวินิจฉัย คุณหมอจะถามคนไข้เกี่ยวกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์และตรวจภายดูภายนอก นอกจากนี้ คุณหมออาจทำการตรวจดังต่อไปนี้

    • ตรวจเลือด เพื่อตรวจการติดเชื้อ ตรวจแอนติบอดีซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับโรค 
    • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเชื้อในปัสสาวะ
    • ตรวจของเหลวหรือสารคัดหลั่งเพื่อตรวจรูปแบบการติดเชื้อของคนไข้ 
    • การสวอป เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ลำคอ ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด หรือลำไส้ตรง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังนี้

    • ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
    • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ปลอดภัย หรือมีผลตรวจยืนยัน
    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • ใช้แผ่นยางอนามัยหรือถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด
    • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอย่างหูดที่อวัยวะเพศ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา