backup og meta

ฉีดปากกระจับ ขั้นตอน และความเสี่ยง

ฉีดปากกระจับ ขั้นตอน และความเสี่ยง

ฉีดปากกระจับ เป็นการฉีดกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) เข้าใต้ผิวหนังบริเวณริมฝีปาก เพื่อทำให้ริมฝีปากเป็นทรงกระจับแลดูอวบอิ่ม เต่งตึง เรียบเนียนและมีขนาดสมมาตรตามที่ต้องการ การฉีดปากกระจับมักใช้เวลาประมาณ 30-120 นาที และการฉีดปากกระจับ 1 ครั้ง มักให้ผลคงอยู่ได้นานราว 8-12 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพและการดูแลตัวเองของแต่ละคน

[embed-health-tool-ovulation]

ฉีดปากกระจับ คืออะไร

ฉีดปากกระจับ เป็นการฉีดสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ (Filler) เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณริมฝีปาก เพื่อปรับรูปร่างของริมฝีปากให้เป็นทรงกระจับสวยงาม หรือเพื่อปรับขนาดของริมฝีปากที่มีลักษณะบางหรือเล็ก หรือมีร่องลึกเนื่องจากสูญเสียคอลลาเจนและไขมันเมื่ออายุมากขึ้น ให้กลับมาแลดูอวบอิ่มน่ามองอีกครั้ง

ปัจจุบัน สารเติมเต็มที่นิยมใช้ฉีดปากกระจับ คือกรดไฮยาลูรอนิคซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่พบได้ในร่างกายมนุษย์ มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นและอิ่มน้ำ และสามารถย่อยสลายได้เองตามกระบวนการของร่างกายโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ทั้งนี้ สารเติมเต็มอื่น ๆ ที่เคยนำมาใช้สำหรับฉีดปากกระชับ ได้แก่ คอลลาเจนและไขมัน แต่ปัจจุบันเสื่อมความนิยมไปแล้วเพราะไม่ปลอดภัยเท่ากรดไฮยาลูรอนิค

ผู้ที่ไม่ควรเข้ารับการฉีดปากกระจับมีใครบ้าง

การฉีดปากกระจับ เหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคลูปัส (Lupus) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือด
  • แพ้ยาชา เช่น ลิโดเคน (Lidocaine)
  • เป็นโรคติดเชื้อ เช่น โรคเริมที่ปาก

นอกจากนี้ ก่อนตัดสินใจรับการฉีดปากกระจับ ควรแจ้งคุณหมอให้ชัดเจนเกี่ยวกับยาหรืออาหารเสริมที่กำลังรับประทาน รวมถึงประวัติสุขภาพ การผ่าตัด และโรคประจำตัว

วิธีเตรียมตัวก่อนเข้ารับการ ฉีดปากกระจับ

ก่อนเข้ารับการฉีดปากกระจับ ควรดูแลตัวเองดังนี้

  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการฉีดปากกระจับ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เลือดจางลงซึ่งอาจส่งผลให้เกิดรอยช้ำได้ง่าย
  • ก่อนฉีดปากกระจับ 1 สัปดาห์ ควรงดรับประทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดจาง อย่างยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น นูปริน (Nuprin) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) รวมถึงอาหารเสริมต่าง ๆ ซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา 3 วิตามินอี กระเทียม โสม หรือขิง เป็นส่วนประกอบ

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องรับประทานยาใด ๆ ก็ตามก่อนเข้ารับการฉีดปากกระจับ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ขั้นตอนการฉีดปากกระจับ

ขั้นตอนการฉีดปากกระจับมักใช้เวลาประมาณ 30-120 นาที โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทายาชาที่ริมฝีปากของผู้ที่ต้องการฉีดปากกระจับ โดยยาจะออกฤทธิ์ภายใน 15-30 นาที ตัวยาที่ใช้อาจเป็นลิโดเคน เบนโซเคน (Benzocaine) หรือเตตระเคน (Tetracaine) อย่างไรก็ตาม หากแพ้ยาชา คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะเลือกฉีดยาบล็อกเส้นประสาทให้แทน
  2. คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะฉีดสารเติมเต็มเข้าไปในริมฝีปาก โดยจะฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังลึกไม่เกิน 2.5 มิลลิเมตร

หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการฉีดปากแล้ว คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญอาจนวดริมฝีปากให้เบา ๆ เพื่อกระตุ้นการดูดซึมสารเติมเต็มให้เข้าสู่ผิวหนังบริเวณริมฝีปากได้ดีขึ้น

ก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญมักขอสังเกตอาการของผู้ที่เข้ารับการฉีดปากเป็นเวลา 15 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการข้างเคียงอย่างมึนงง คลื่นไส้ หรือมีเลือดออก เป็นต้น

ทั้งนี้ ยาชาที่ใช้ในการฉีดปากกระจับไม่มีฤทธิ์ทำให้มึนงง หรือทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ยานพาหนะลดลง ดังนั้น หากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญอนุญาตให้กลับบ้านได้ ผู้ที่เข้ารับการฉีดปากสามารถขับรถได้ตามปกติ

การดูแลตัวเองหลังฉีดปากกระจับ

หลังฉีดปากกระจับ ริมฝีปากอาจบวมและช้ำ แต่อาการเหล่านี้มักหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง (ในบางกรณีอาจใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน) และระหว่างรอริมฝีปากหายเป็นปกติ ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ประคบริมฝีปากด้วยน้ำแข็งเป็นเวลาประมาณ 10 นาที เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ บวม หรือปวด
  • หลีกเลี่ยงการทาลิปสติก ลิปมัน หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ บนริมฝีปากเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสริมฝีปาก รวมถึงการใช้ริมฝีปากทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจูบ การดูดน้ำจากหลอด
  • งดการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง เพราะอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นระหว่างออกกำลังกาย จะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณริมฝีปาก ซึ่งอาจส่งผลให้ริมฝีปากบวมหรือช้ำมากขึ้น

ฉีดปากกระจับ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างไร

โดยปกติ การฉีดปากกระจับโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสถานพยาบาลหรือคลินิกที่สะอาดปลอดภัยและได้มาตรฐาน มักไม่เป็นอันตราย แต่หากฉีดปากกระจับโดยผู้ที่ไม่มีประสบการณ์หรือใช้ฟิลเลอร์ปลอมที่ไม่ผ่านการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือเสี่ยงต่อสุขภาพได้ ดังนี้

  • อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ริมฝีปากบวม ช้ำ แดง คัน
  • ทำให้ริมฝีปากไม่ได้ขนาดหรือรูปทรงตามที่ต้องการ
  • ทำให้ริมฝีปากแข็ง ผิวไม่เรียบเนียน หรือเป็นแผล
  • เพิ่มโอกาสติดเชื้อบริเวณริมฝีปาก เป็นหนอง เสี่ยงเป็นโรคเริมที่ริมฝีปาก
  • อาจทำให้ตาบอดได้หากเกิดการฉีดผิดพลาดเข้าเส้นเลือด
  • ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติบริเวณริมฝีปาก เช่น ปากบวมมากพร้อมมีอาการไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบคุณหมอในทันที

ฉีดปากกระจับ ให้ผลนานแค่ไหน

ปกติแล้ว การฉีดปากกระจับจะให้ผลนาน 8-12 เดือน โดยขึ้นอยู่กับสุขภาพและการดูแลตัวเองของแต่ละคน หากต้องการให้ริมฝีปากคงรูปสวย อวบอิ่ม อย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอเข้ารับการฉีดปากกระจับอย่างต่อเนื่องที่สถานพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lip Augmentation. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-procedures-lip-augmentation. Accessed September 7, 2022

Hyaluronic Acid – Uses, Side Effects, And More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1062/hyaluronic-acid. Accessed September 7, 2022

INJECTABLE FILLERS GUIDE. https://www.americanboardcosmeticsurgery.org/procedure-learning-center/non-surgical/injectable-fillers-guide/. Accessed September 7, 2022

Dermal Fillers Minimally Invasive Procedures. https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/dermal-fillers. Accessed September 7, 2022

Dermal Filler Do’s and Don’ts for Wrinkles, Lips and More. https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/dermal-filler-dos-and-donts-wrinkles-lips-and-more. Accessed September 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉีดฟิลเลอร์ปาก ทำแล้วปากอวบอิ่มได้รูปทันใจ แล้วก่อนทำคุณควรรู้อะไรบ้าง

การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา กับสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนเข้ารับการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา