backup og meta

ฉีดฟิลเลอร์ปาก ทำแล้วปากอวบอิ่มได้รูปทันใจ แล้วก่อนทำคุณควรรู้อะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/09/2020

    ฉีดฟิลเลอร์ปาก ทำแล้วปากอวบอิ่มได้รูปทันใจ แล้วก่อนทำคุณควรรู้อะไรบ้าง

    สมัยนี้ ริมฝีปากอวบอิ่ม เต่งตึง ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในหมู่สาว ๆ ยิ่งปัจจุบันมีลิปสติกวางขายมากมายหลากหลายยี่ห้อ แถมนางแบบของแบรนด์ลิปสติกส่วนใหญ่ ก็มักจะมีริมฝีปากอวบอิ่มได้รูป ทาปากสีไหนก็ดูสวยไปหมด จนสาว ๆ บางคนเห็นแล้วอาจมีริมฝีปากอวบอิ่มบ้าง จะได้ทาลิปสติกออกมาสวยเหมือนที่เห็นในรูปโฆษณา และหนึ่งในวิธีเพิ่มความอวบอิ่มให้กับริมฝีปากที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ก็คงหนีไม่พ้น การฉีดฟิลเลอร์ปาก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘การฉีดปาก’ นั่นเอง สำหรับใครที่กำลังสนใจจะ ฉีดฟิลเลอร์ปาก Hello คุณหมอ แนะนำให้คุณอ่านบทความนี้เลย รับรองว่าคุณจะเข้าใจการฉีดฟิลเลอร์ปากดียิ่งขึ้นแน่นอน

    การ ฉีดฟิลเลอร์ปาก คืออะไร

    การฉีดฟิลเลอร์ปาก หรือ การฉีดสารเติมเต็มที่ริมฝีปาก (Lip Augmentation)  คือ การฉีด กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) เข้าไปในชั้นผิวหนังหรือใต้ผิวหนังบริเวณริมฝีปาก เพื่อเติมเต็มผิวหนังในบริเวณนั้น ทำให้ริ้วรอยหรือร่องลึกบนผิวหนังตื้นขึ้นหรือจางลง นอกจากนี้ การฉีดฟิลเลอร์ที่ปาก ยังสามารถช่วยแก้ไขหรือปรับแต่งรูปร่างของริมฝีปากให้ได้ตามต้องการได้ด้วย

    การฉีดฟิลเลอร์ปากจะช่วยปรับเปลี่ยนรูปร่างหรือรูปทรงริมฝีปากของคุณให้เป็นอย่างที่คุณต้องการ หรือใกล้เคียงตามความต้องการของคุณที่สุด เมื่อคุณได้รับการฉีดฟิลเลอร์ที่บริเวณริมฝีปาก กรดไฮยาลูรอนิคจะจับตัวกับน้ำและพองขึ้นเป็นเจล และส่งผลต่อเนื้อเยื่อริมฝีปาก ในปัจจุบัน คนนิยมฉีดฟิลเลอร์ที่ปากกันมากขึ้น เนื่องจากฟิลเลอร์ช่วยทำให้ริมฝีปากของคุณดูอวบอิ่ม และเต่งตึงขึ้น ทั้งยังทำให้รอยย่นบนริมฝีปากดูจางลงด้วย

    นอกจากนี้ การฉีดฟิลเลอร์ที่ปาก ยังเป็นหัตถการที่ใช้เวลาไม่นาน ส่วนใหญ่แล้วใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที และให้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ ทั้งยังทำให้เกิดรอยช้ำไม่นานก็หาย จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน โดยปกติแล้ว ฟิลเลอร์ปากจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน และหากคุณต้องการให้ผลลัพธ์จากฟิลเลอร์ปากยังคงอยู่ ก็จำเป็นต้องฉีดฟิลเลอร์ปากซ้ำอีกรอบ หรือตามที่แพทย์แนะนำ

    วิธีดูแลริมฝีปากหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก

    สิ่งที่ควรทำหลัง ฉีดฟิลเลอร์ปาก

    • ประคบเย็นตรงบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง หรือเจลให้ความเย็น วิธีนี้จะช่วยลดอาการบวม อาการเจ็บปวด รอยแดง รอยช้ำ หรืออาการคันได้ แต่ห้ามใช้น้ำแข็งประคบที่ริมฝีปากโดยตรงเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ยิ่งเจ็บปวด หรือผลข้างเคียงรุนแรงกว่าเดิมได้
    • งดออกกำลังกายอย่างหนัก หรือออกกำลังกายในรูปแบบที่ต้องใช้แรงมากอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก เพราะการออกกำลังกายจะไปกระตุ้นอัตราการหายใจและความดันโลหิต จนทำให้อาการบวมหรือรอยช้ำยิ่งแย่ลงได้ หากอยากออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ แทน เช่น การเดิน
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทั้งยังช่วยให้ผลข้างเคียงหายเร็วขึ้นด้วย
    • บริโภคผักและผลไม้ฉ่ำน้ำ และหลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง เพราะอาจทำให้อาการบวมแย่ลงได้
    • ไม่อยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด เช่น ห้องซาวน่า ที่โล่งแจ้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก
    • ใช้ยาบรรเทาอาการปวด หากแพทย์อนุญาต คุณสามารถใช้ยาแก้ปวดได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
    • นอนหนุนหมอนสูง และพยายามอย่านอนตะแคง เลือดจะได้ไม่ไหลเวียนมาเลี้ยงบริเวณริมฝีปากมากเกินไป จนบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ยิ่งช้ำหรือบวมแดง
    • งดทาปากหลังฉีดฟิลเลอร์ หลีกเลี่ยงการทาปากอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

    สิ่งที่ไม่ควรทำหลัง ฉีดฟิลเลอร์ปาก

    • สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ และคุณไม่ควรอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย เพราะการได้รับควันบุหรี่มือสอง ก็ส่งผลเสียพอ ๆ กับการสูบบุหรี่เอง
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการอักเสบ เกิดรอยช้ำ หรือมีอาการบวมอย่างรุนแรงได้ด้วย คุณควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังฉีดฟิลเลอร์ และถ้าจะให้ดี ก็ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนฉีดฟิลเลอร์ 2-3 วันด้วย
    • โดยสารเครื่องบิน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หลังฉีดฟิลเลอร์ คุณควรรออย่างน้อย 1 สัปดาห์จึงเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะความกดอากาศบนเครื่องบินอาจทำให้อาการบวม และรอยช้ำแย่ลง

    ผลข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์ปาก

    การฉีดฟิลเลอร์ปาก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

    • ผิวหนังบวม แดง หรือกดเจ็บ
    • มีรอยช้ำ

    ผลข้างเคียงข้างต้นสามารถพบได้ทั่วไป แต่บางคนก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงกว่าได้ เช่น

    • เกิดจุดด่างดำ หรือมีภาวะผิวสีเข้มขึ้น (Hyperpigmentation) ในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์หรือบริเวณโดยรอบ
    • ติดเชื้อที่ผิวหนัง
    • เกิดเนื้อตาย (Necrosis)
    • เกิดแผลเป็น

    ฉีดฟิลเลอร์ปากมาแล้วเป็นแบบนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

    โดยปกติแล้ว ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์หลังฉีดฟิลเลอร์ปาก แต่ทั้งนี้ระยะเวลาก็อาจช้าหรือเร็วกว่านั้นได้ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ หากเป็นบริเวณขอบปาก ผลข้างเคียงมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นการฉีดฟิลเลอร์ที่ปากเพื่อทำให้ปากอวบอิ่มขึ้น ก็อาจต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์กว่าอาการจะหายเป็นปกติ แต่หากคุณเกิดผลข้างเคียงรุนแรงดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบคุณหมอทันที

    มีอาการบวมหรือช้ำรุนแรง

    หากคุณมีอาการริมฝีปากและบริเวณโดยรวมบวมหรือช้ำรุนแรงนานเกิน 1 สัปดาห์หลังฉีดฟิลเลอร์ปาก ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่พบได้ยาก อย่างอาการแพ้กรดไฮยารูลอนิคก็ได้

    หลอดเลือดอุดตัน

    หากแพทย์ฉีดฟิลเลอร์เข้าไปในหลอดเลือด หรือในบริเวณโดยรอบ จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี หรือหยุดไหลเวียน จนส่งผลให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อในบริเวณโดยรอบเริ่มตาย เพราะมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ

    หากอยู่ ๆ คุณก็รู้สึกเจ็บปวดที่ริมฝีปากหรือบริเวณโดยรอบอย่างรุนแรง หรือผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนสีกะทันหัน เช่น เป็นจุดขาว เป็นตุ่ม นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังมีภาวะหลอดเลือดอุดตันหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก และควรปรึกษาแพทย์ทันที

    เป็นเริมที่ปาก

    หากคุณเป็นคนที่เสี่ยงเกิดเริมที่ปากได้ง่าย หรือมีเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 หรือ เอชเอสวี-1 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-1) อยู่แล้ว การฉีดฟิลเลอร์ปากก็อาจไปกระตุ้นให้เกิดเริมที่ปากได้ และหากคุณคิดว่าตัวเองเป็นเริมที่ปาก ก็ควรรีบเข้ารับการรักษาทันที เพราะคุณอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัส

    หากใครเคยมีเริมที่ปากหลังฉีดฟิลเลอร์ปากมาก่อน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ด้วย แพทย์จะได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา