โรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง หมายถึงทั้งโรค Myasthenia Gravis และ Amyotrophic Lateral Sclerosis ซึ่งเมื่อเป็นแล้วทำให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง ส่งผลให้สะดุดล้มบ่อย พูดไม่ชัด กระทั่งดำเนินชีวิตได้ยากขึ้นหรือไม่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกเรียกด้วยชื่อเดียวกัน แต่โรคทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะที่ต่างกัน และมีโอกาสน้อยมากที่จะพบร่วมกัน
[embed-health-tool-heart-rate]
กล้ามเนื้ออ่อนแรง MG และ ALS คืออะไร
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นคำที่ใช้เรียก Myasthenia Gravis หรือ MG ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองชนิดเรื้อรัง โดยเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อขาดการติดต่อระหว่างกัน หรือส่งสัญญาณระหว่างกันได้ไม่ดี ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ปกติแล้ว โรค MG พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในเพศชายอายุมากกว่า 60 ปี และผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี
นอกจากนั้น Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือ ALS ยังเป็นอีกโรคที่ในภาษาไทยเรียกว่า “กล้ามเนื้ออ่อนแรง” เหมือนกัน โดยเมื่อเป็นโรคนี้ เซลล์ประสาทสั่งการ (Motor Neurons) ที่คอยรับคำสั่งจากสมองไปควบคุมอวัยวะต่าง ๆ จะเสื่อมและตายลง ทำให้ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ จนทำให้ดำเนินชีวิตได้ลำบากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ MG และ ALS จะเป็นโรคที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่อาจมีผู้ป่วยที่เป็นโรคทั้ง 2 ชนิดในเวลาเดียวกัน ซึ่งพบได้ไม่บ่อย
กล้ามเนื้ออ่อนแรงมีอาการอย่างไร
เมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG กล้ามเนื้อของอวัยวะต่าง ๆ จะอ่อนแรงลงหรือหมดกำลังจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เช่น กล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อลำคอ กล้ามเนื้อแขนขา และอาจมีอาการป่วยดังต่อไปนี้
- หนังตาตก ข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
- เห็นภาพซ้อน
- พูดเสียงขึ้นจมูก หรือเสียงเบาลง
- กลืนอาหารลำบาก และสำลักอาหารได้ง่าย
- เคี้ยวอาหารแล้วรู้สึกเหนื่อยกล้ามเนื้อปาก
- การแสดงออกทางสีหน้าเปลี่ยนไป เช่น ยิ้มแล้วเหมือนกำลังแยกเขี้ยว
- คออ่อนแรง ทำให้คอเอียง
- ขาอ่อนแรง ทำให้เดินเหินได้ลำบาก
- การหายใจล้มเหลว เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแอ
ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS จะมีอาการอ่อนแรงจากมือ เท้า แขน ขา ก่อนจะพบอาการตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย
ทั้งนี้ อาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ได้แก่
- เดินหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ลำบาก
- สะดุดหรือล้มบ่อยกว่าคนทั่วไป
- มือไม่มีแรง จับวัตถุไม่อยู่
- พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
- กล้ามเนื้อกระตุกหรือเป็นตะคริวบริเวณแขน หัวไหล่ และลิ้น
- กลืนอาหารลำบาก
- ร้องไห้ หัวเราะ หรือหาว แบบผิดกาลเทศะ
กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดจากสาเหตุอะไร
ปัจจุบันนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรง MG และ ALS เกิดจากสาเหตุอะไร
อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่า ต่อมไทมัส (Thymus Gland) ที่อยู่บริเวณหน้าอกของมนุษย์ อาจสัมพันธ์กับการผลิตโปรตีนแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมา ขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณจากเส้นประสาทไปยังกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ MG และ ALS อาจติดต่อจากมารดาสู่บุตรในครรภ์ได้ แต่พบได้ไม่บ่อย
กล้ามเนื้ออ่อนแรง รักษาได้หรือไม่
เมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG หรือ ALS คุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้ เพื่อควบคุมหรือป้องกันอาการของโรครุนแรงขึ้นในอนาคต
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG
- จ่ายยาให้รับประทาน เช่น ยาไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานกันระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น
- ผ่าตัดต่อมไทมัส แม้บทบาทของต่อมไทมัสต่อโรคกล้ามเนื้ออักเสบ MG จะยังไม่ชัดเจน แต่การผ่าตัดต่อมไทมัสออกจากร่างกาย สามารถบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
- เปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองหรือพลาสมา (Plasmapheresis) เป็นการกรองน้ำเหลือง หรือส่วนที่เป็นของเหลวของเลือด เพื่อกำจัดแอนติบอดีที่ขัดขวางการทำงานระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
- ให้อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ทางหลอดเลือดดำ เป็นการให้อิมมูโนโกลบูลินหรือแอนติบอดี เพื่อปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยผลของการรักษาจะวิธีนี้จะคงอยู่ประมาณ 3-6 สัปดาห์
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS
- จ่ายยา เช่น เอดาราโวน (Edaravone) ทางปากหรือหลอดเลือด เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม ยานี้ไม่สามารถทำให้หายขาดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ได้
- ทำกายภาพบำบัด รวมทั้งให้ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ทำกิจวัตรชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อด้วย
- วางแผนเกี่ยวกับอาหาร เพื่อป้องกันและรับมือกับอาการกลืนอาหารลำบาก นอกจากนี้ คุณหมออาจเลือกใส่สายอาหารทางหน้าท้องให้กับผู้ป่วยบางราย
- ทำอรรถบำบัด หรือการบำบัดทางการพูด เพื่อช่วยในการพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่นได้ แม้ว่ากล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูดจะอ่อนแรงลงก็ตาม