backup og meta

ไข้สมองอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ไข้สมองอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ไข้สมองอักเสบ เป็นโรคที่เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อโพรงสมอง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส และอาจเกิดจากการอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ อาจมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือรุนแรงจนอาจมีอาการชักและหมดสติ ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโดยด่วน เพราะอาการอักเสบอาจทำให้สมองเสียหายและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

คำจำกัดความ

ไข้สมองอักเสบ คืออะไร

ไข้สมองอักเสบ คือการอักเสบในเนื้อเยื่อโพรงสมอง ซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรงที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดอาการชัก ขึ้นอยู่กับส่วนของสมองที่ติดเชื้อและอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถฟื้นตัวเป็นปกติได้หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ โอกาสการฟื้นตัวเป็นปกติของผู้ป่วยอาจขึ้นอยู่กับเชื้อไวรัสและความรุนแรงของอาการอักเสบด้วย

ไข้สมองอักเสบ พบบ่อยแค่ไหน

ไข้สมองอักเสบ เป็นโรคที่พบได้น้อย ประมาณ 1 ใน 200,000 คน/ปี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องมักมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคไข้สมองอักเสบ

อาการ

อาการไข้สมองอักเสบ

อาการของโรคไข้สมองอักเสบมักคล้ายคลึงกับอาการของไข้หวัดใหญ่ ดังนี้

  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • อ่อนเพลียและร่างกายอ่อนแรง
  • สับสน มึนงง หรือวิตกกังวล
  • เห็นภาพหลอน ความจำเสื่อม หรือบกพร่องทางสติปัญญา
  • พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป

อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • อาการชัก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การพูดหรือการได้ยินมีปัญหา
  • อัมพาตบนใบหน้าตามร่างกายบางส่วน
  • หมดสติ และมีอาการโคม่า

ในทารกและเด็กเล็กอาจมีอาการ ดังนี้

  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ไม่รับประทานอาหาร หรือนอนนานขึ้น
  • กะโหลกศีรษะของทารกบวมและนูน
  • ร่างกายแข็ง
  • ร้องไห้ งอแง และหงุดหงิดง่าย

การติดเชื้อบางชนิด อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

  • ไข้สมองอักเสบจากไวรัสเริมในระยะแรก อาจทำให้เกิดอาการความรู้สึกเหมือนเดจาวู เป็นอาการหวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต
  • โรคไข้สมองอักเสบจากภูมิต้านทานผิดปกติ อาจทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง การรับรู้ลดลง ใบหน้าและปากขยับผิดปกติ
  • สมองอักเสบจากแอนติบอดีต่อตัวรับ NMDA เกิดจากภาวะภูมิต้านทานตัวเอง มักทำให้มีอาการชักหรือการเคลื่อนไหวผิดปกติ

สาเหตุ

สาเหตุไข้สมองอักเสบ

ไข้สมองอักเสบ ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย และภาวะอักเสบที่ไม่ติดเชื้อก็อาจทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบได้ ซึ่งโรคไข้สมองอักเสบแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ไข้สมองอักเสบปฐมภูมิ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในสมองโดยตรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว หหรือเกิดขึ้นแบบแพร่กระจายก็ได้ และอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากอาการป่วยก่อนหน้า
  2. ไข้สมองอักเสบทุติยภูมิ เกิดจากความผิดพลาดของระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่ได้ทำลายเพียงเชื้อโรค แต่ทำลายเซลล์ปกติในสมองด้วย เรียกว่า โรคไข้สมองอักเสบหลังจากการติดเชื้อ มักเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์

สาเหตุที่เกิดจากไวรัสที่พบบ่อย

  • ไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ เช่น เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus หรือ WNV) ไวรัสอีอีอี (Eastern equine encephalitis หรือ EEE)  La Crosse St. Louis และ western equine ไวรัสเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยอาจมีอาการภายใน 2-3 วัน หรือ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ
  • ไวรัสที่มีเห็บเป็นพาหะ ไวรัสโพวาซัน (Powassan) ที่มาจากเห็บ ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบและ จะแสดงอาการหลังถูกเห็บที่ติดเชื้อกัดประมาณ 1 สัปดาห์
  • ไวรัสเริม (HSV) ทั้ง HSV ชนิด 1 และ 2 อาจทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบได้ และหากเกิดจาก HSV ชนิด 1 อาจส่งผลให้สมองเสียหายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ไข้สมองอักเสบอาจเกิดจากไวรัสเริมชนิดอื่น เช่น ไวรัส Epstein-Barr มักทำให้เกิดการติดเชื้อ โมโนนิวคลีโอสิส (Mononucleosis) และ วาริเซลลา (Varicella-zoster) มักทำให้เกิดโรคงูสวัดและอีสุกอีใส
  • เอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses) โปลิโอไวรัส (Poliovirus) และค็อกซากีไวรัส (Coxsackievirus) มักทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ตาอักเสบ ปวดท้อง
  • ไวรัสพิษสุนัขบ้า มักเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยและติดต่อเมื่อถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด และเชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็วทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ
  • การติดเชื้อในวัยเด็ก เช่น โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม ซึ่งโรคหัดเยอรมันมักเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของโรคไข้สมองอักเสบทุติยภูมิ สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูม

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงไข้สมองอักเสบ

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไข้สมองอักเสบ ดังนี้

  • ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือติดเชื้อเอชไอวี
  • อายุ ไข้สมองอักเสบส่วนใหญ่พบในเด็กและผู้สูงอายุ
  • ลักษณะที่อยู่อาศัย ไข้สมองอักเสบมีพาหะมาจากยุง หากที่อยู่อาศัยเอื้อต่อการวางไข่ของยุงอาจเพิ่มความเสี่ยงได้
  • ฤดูกาล ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนมักเป็นช่วงที่ยุงวางไข่และชุกชุม

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยไข้สมองอักเสบ

ในการวินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบ คุณหมออาจต้องประเมินอาการร่วมด้วย เช่น อาการไข้ อาการชัก ภาวะการรับรู้ที่ผิดปกติ พฤติกรรมและการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ พร้อมทำการทดสอบ ดังนี้

  • การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ
  • การสร้างภาพประสาท (Neuroimaging) เช่น การทำ MRI สมอง หรือ CT scan
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram หรือ EEG) เพื่อตรวจสอบการทำงานของไฟฟ้าในสมอง และตรวจหาอาการชัก
  • การเจาะไขสันหลัง เพื่อตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อในสมองหรือไขสันหลัง

คุณหมออาจใช้วิธีทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การเพาะเชื้อเสมหะ เพื่อทดสอบหาการติดเชื้อหรือ
  • การส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจเนื้อเยื่อสมองที่ติดเชื้อ
  • ตรวจความดันในกะโหลกศีรษะ เพื่อตรวจอาการบวมของสมอง

ผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบทันทีเพื่อลดความเสี่ยงเสียชีวิตที่อาจเกิดจากการอักเสบที่ส่งผลให้สมองบาดเจ็บ

การรักษาไข้สมองอักเสบ

การรักษาโรคไข้สมองอักเสบอาจขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของโรค ดังนี้

  • ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อรา เพื่อจัดการกับการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
  • ใช้ยาต้านไวรัส เพื่อจัดการกับการติดเชื้อไวรัสเริม ไวรัสอีสุกอีใส ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ
  • บำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน เช่น การอิมมูโนโกลบูลินในหลอดเลือดดำ (IVIg) การใช้สเตียรอยด์ หรือการเปลี่ยนพลาสมา เพื่อจัดการกับโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากภูมิต้านทานผิดปกติ
  • ผ่าตัดเพื่อหยุดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเนื้องอก หากไข้สมองอักเสบกระตุ้นการเติบโตของเนื้องอก

นอกจากนี้ ยังมีการยังมีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่

  • ใช้ยาแก้ปวด เพื่อลดอาการไม่สบายตัว หรือมีไข้
  • ใช้ยารักษาอาการชัก
  • ใช้ยาลดการสะสมของความดันภายในกะโหลกศีรษะ
  • ใช้ยาช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เพื่อลดอาการวิตกกังวลหรือกระวนกระวายใจ
  • อาจใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยควบคุมการหายใจให้เป็นปกติ

สำหรับการรักษาโรคไข้สมองอักเสบ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องอยู่ในห้องไอซียู เพื่อให้คุณหมอสามารถเฝ้าระวังสมองบวม อาการชัก การหายใจล้มเหลว หรือการเปลี่ยนแปลงของจังหวะการเต้นของหัวใจ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการเกล็ดเลือดต่ำ

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ สามารถทำได้ดังนี้

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ช้อนส้อม
  • ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยการแต่งตัวให้มิดชิดเมื่ออยู่ในบริวณที่เป็นป่าหรือหญ้าทึบ ใช้ยากันยุงเสมอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ยุงชุกชุม ซ่อมแซมบ้าน และปิดบ้านให้สนิทเพื่อไม่ให้ยุงเข้าบ้านได้ เทน้ำที่ขังออกเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ยุง และใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อไล่ยุงหรือแมลงที่เป็นพาหะเชื้อโรค
  • ฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่โรคไข้สมองอักเสบ เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม สำหรับนักเดินทางอาจฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis vaccine) วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากเห็บ (Tick-borne encephalitis vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Overview – Encephalitis. https://www.nhs.uk/conditions/encephalitis/. Accessed September 30, 2021

Encephalitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/encephalitis/symptoms-causes/syc-20356136. Accessed September 30, 2021

Encephalitis. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/encephalitis. Accessed September 30, 2021

Understanding Encephalitis — The Basics. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-encephalitis-basics. Accessed September 30, 2021

Treatment – Encephalitis. https://www.nhs.uk/conditions/encephalitis/treatment/. Accessed September 30, 2021

Complications – Encephalitis. https://www.nhs.uk/conditions/encephalitis/complications/. Accessed September 30, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/10/2021

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จักกับ เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์

ความแตกต่างและข้อควรรู้เกี่ยวกับ การติดเชื้อไวรัส กับ การติดเชื้อแบคทีเรีย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา