เมื่อพูดถึงอาการของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เราอาจจะนึกถึงอาการอยู่ไม่กี่อย่าง คือ อาการไอ เป็นไข้สูง อ่อนเพลีย หายใจลำบาก หรือมีอาการปอดอักเสบ แต่ล่าสุด แพทย์ได้ออกมาเตือนว่า การจะจำแนกผู้ป่วยโควิด-19 ในผู้สูงอายุจากอาการเบื้องต้นเหล่านั้น น่าจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก อาการของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นอาจจะมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป และเพิ่มความซับซ้อนในการวินิจฉัยโรคให้มากขึ้นไปอีก
อาการของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้น
หากกล่าวถึงอาการของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 พบว่า หนึ่งในอาการที่แสดงให้เห็นได้มากในผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 คือลักษณะพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ดูไม่เป็นตัวของตัวเอง” โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะสังเกตพบลักษณะพฤติกรรมที่ผิดปกติไป เช่น
- นอนนานขึ้น
- เบื่ออาหาร
- อาการสับสน
- เฉยเมย หรือไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้างมากขึ้น
- อาการวิงเวียนและหมดสติได้ในบางราย
อาการที่ผิดปกติเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการที่ร่างกายของผู้สูงอายุตอบสนองต่ออาการป่วยและการติดเชื้อ เนื่องจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุนั้นลดลง อีกทั้งความสามารถในการปรับอุณหภูมิของร่างกายก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็มักจะมีปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของอาการติดเชื้อได้ เช่น โรคประจำตัว หรือปัญหาทางระบบประสาทเนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงการแสดงอาการของร่างกาย เช่น การไอ เป็นต้น
ผู้สูงอายุบางรายอาจจะมีความรู้สึกหนาว และมีอาการสับสน บ้างก็สูญเสียความสามารถในการคิด และสูญเสียความทรงจำ บางคนก็อาจจะมีอาการเพ้อ เซื่องซึม และง่วงนอน อีกทั้งยังอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย แต่ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ก็ไม่มีอาการทั่วไปของโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอาการไข้ ไอ หรือหายใจลำบากแต่อย่างใด
กรณีหนึ่งที่พบ คือ ผู้ป่วยชายอายุ 80 ปี รายหนึ่งในแอตแลนต้า เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการเดินไม่ได้ มีสติปัญญาบกพร่อง และกลายเป็นคนเซื่องซึม แต่ไม่มีอาการไข้หวัดหรือว่าไอแต่อย่างใด มีเพียงแค่อาการจามเป็นครั้งคราวเท่านั้น เมื่อแพทย์ทำการตรวจก็พบว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อโควิด-19 แต่เมื่อผู้ป่วยนั้นไม่ได้แสดงอาการของโรคโควิด-19 ที่เรารู้จัก จึงทำให้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยไม่ได้ทำการป้องกัน และติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
สิ่งสำคัญคือการที่เราจะต้องตระหนักถึงสัญญาณของโรคโควิด-19 ที่แตกต่างออกไปในผู้สูงอายุนี้ให้ได้ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทำการรักษาผู้สูงอายุให้เร็วที่สุด เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอันตรายมากที่สุดหากติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งยังสามารถช่วยลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อโรคอย่างไม่ได้ตั้งใจ ของผู้สูงอายุที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่ได้แสดงอาการอย่างที่เรากำลังเฝ้าระวังกันได้อีกด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด