backup og meta

DKA คือ ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานที่ควรรู้

DKA คือ ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานที่ควรรู้

DKA คือ ภาวะเลือดเป็นกรดจากน้ำตาลในเลือดสูง พบในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน่ำตาลได้ไม่ดี อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ง่ายกว่า เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ตามปกติ ภาวะ DKA นี้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง แต่กลับไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ เนื่องจากขาดอินซูลิน ร่างกายจึงต้องหันมาเผาผลาญไขมันใช้เป็นพลังงานแทน กระบวนการเผาผลาญไขมันนี้จะเกิดสารคีโตน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จึงทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดตามมาได้ ทั้งนี้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น สมองบวม น้ำท่วมปอด ไตวาย หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานมีอาการที่เข้าข่ายภาวะ DKA เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmr]

DKA คือ อะไร

ภาวะไดอะเบติกคีโตอะซิโดซิส หรือ Diabetic ketoacidosis หรือ DKA คือ ภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเเละอันตรายของโรคเบาหวาน ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ควรได้รับการรักษาโดยทันที เพราะอาจนำไปสู่อาการรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุของ DKA คือ อะไร

ภาวะ DKA อาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ทำหน้าที่ช่วยให้เซลล์ในร่างกายน้ำตาลในกระเเสเลือดไปเผาผลาญเป็นพลังงาน เเต่หากเมื่อร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ หรือ ร่วมกับมีการเจ็บป่วยอื่น ๆ เเทรกซ้อนร่วมด้วย อาจทำให้ตับอ่อนไม่สามารถหลั่งอินซูลินได้ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาล จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานเเทน กระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตน (Ketones) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้นเมื่อมีคีโตนปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดตามมาด้วย โดยภาวะ DKA อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทุกชนิด แต่มักพบในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้บ่อยกว่า เนื่องจากตับอ่อนของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพออยู่ก่อนเเล้ว

ผู้ป่วยเบาหวานสามารถตรวจสารคีโตนในร่างกายได้โดยการใช้ชุดตรวจสารคีโตนในปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยบอกถึงระดับคีโตนในร่างกายเบื้องต้นได้ โดยแนะนำให้ผู้ป่วยทำการตรวจเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือด 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ร่วมกับเมื่ออาการเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ช่น มีไข้ อ่อนเพลีย/ไม่มีแรง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง

ในบุคคลคนทั่วไปอาจตรวจพบมีคีโตนในปัสสาวะ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ไม่เกิน 0.6 มิลลิโมล/ลิตร) ส่วนระดับของคีโตนที่พบในปัสสาวะของผู้ป่วยเบาหวาน อาจแบ่งตามระดับความรุนเเรงได้ดังนี้

  • คีโตนในปัสสาวะต่ำกว่า 20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่า มีคีโตนในระดับเล็กน้อย
  • คีโตในปัสสาวะ 30-40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่า มีคีโตนในระดับปานกลาง
  • คีโตนในปัสสาวะสูงกว่า 80 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่า มีคีโตนในระดับสูง

อาการของ DKA

อาการเริ่มต้นของ DKA อาจมีดังนี้

  • ปากแห้ง
  • ผิวแห้ง
  • รู้สึกกระหายน้ำมาก
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • หากตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจะพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (มากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)

นอกจากนี้ อาการที่เป็นสัญญาณว่าร่างกายมีคีโตนในระดับปานกลางถึงสูง ซึ่งผู้ป่วยรีบควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผลไม้
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเเรง อ่อนล้า หรือวิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการเหนื่อย หอบ/หายใจเร็ว

วิธีรักษา DKA

การรักษา DKA อาจแตกต่างไปตามอาการของผู้ป่วย หากตรวจว่าเริ่มมีคีโตนในร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ (ยังสูงไม่ถึงเกณฑ์ DKA) เเละ ยังไม่มีอาการรุนเเรง คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองเบื้องต้นที่บ้านได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ใช้อินซูลินหรือยารักษา ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
  • หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดตามที่คุณหมอเเนะนำ ผู้ป่วยควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าวิธีรักษาที่ใช้อยู่ได้ผลดี และระดับน้ำตาลในเลือดค่อย ๆ ลดลงจนกลับไปอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ตรวจวัดระดับคีโตน ใช้ที่ตรวจปัสสาวะหรือที่ตรวจคีโตนในลือด เพื่อตรวจวัดระดับคีโตนเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าระดับคีโตนลดลง ซึ่งหากระดับคีโตนไม่ลดลง หรือ สูงขึ้น ควรรีบไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลทันที
  • ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำเปล่า เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรู้สึกไม่สบายใจหรือมีการอาเจียน
  • รับประทานอาหารตามปกติ ผู้ป่วยควรพยามรับประทานอาหาร ไม่ควรอดอาหาร โดยเฉพาะเมื่อไม่สบาย เพื่อให้ร่างกายยังคงมีพลังงานเพียงพอ (ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้ ร่างกายต้องเผาผลาญไขมันมาทดเเทน ซึ่งจะทำให้เกิดสารคีโตนขึ้น) หากผู้ป่วยใช้อินซูลินอยู่ ควรใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม เนื่องจากการออกเเรงมาก ๆ หรือออกกำลังกายที่มีความเหนื่อยระดับสูง ( High intensity ) อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่หลั่งขณะออกกำลังกายจะออกฤทธิ์เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยกระตุ้นให้ตับผลิตน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระเเสเลือด ซึ่งหากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี อาจนำไปสู่ภาวะ DKA ได้

สำหรับผู้ที่มีอาการของภาวะ DKA หรือมีอาการรุนแรงควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็ว ซึ่งคุณหมออาจรักษาภาวะนี้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การให้น้ำเกลือ เพื่อรักษาบรรเทาอาการขาดน้ำ และช่วยให้ร่างกายกำจัดคีโตนทิ้งทางปัสสาวะได้เร็วขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายให้เป็นปกติ
  • การให้อินซูลิน คุณหมออาจให้อินซูลินแก่ผู้ป่วยทางเส้นเลือดเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยเร็ว
  • การรักษาอื่น ๆ คุณหมออาจให้รักษาอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยอาจต่างกันออกไปในเเต่ละราย ขึ้นกับอาการเเละความรุนเเรงของภาวะ DKA

การป้องกัน DKA

การป้องกัน DKA อาจทำได้ดังนี้

  • หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไม่สบายหรือเจ็บป่วย
  • รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย ด้วยการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • รับประทานยารักษาเบาหวาน หรือ ฉีดยาอินซูลิน ตามที่คุณหมอเเนะนำอย่างเคร่งครัด

ไปพบคุณหมอตามนัดหมาย เพื่อปรับแผนการรักษาเบาหวานให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพเเละสอดคล้องกับสุขภาพ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetic Ketoacidosis. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/diabetic-ketoacidosis.html#:~:text=Diabetic%20ketoacidosis%20(DKA)%20is%20a,cells%20for%20use%20as%20energy. Accessed April 4, 2023

Diabetic ketoacidosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetic-ketoacidosis/symptoms-causes/syc-20371551. Accessed April 4, 2023

Diabetes & DKA (Ketoacidosis). https://diabetes.org/diabetes/dka-ketoacidosis-ketones. Accessed April 4, 2023

Diabetic Ketoacidosis. https://www.webmd.com/diabetes/ketoacidosis. Accessed April 4, 2023

Diabetes-Related Ketoacidosis (DKA). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21945-diabetic-ketoacidosis-dka. Accessed April 4, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือดเป็นกรด ในผู้ป่วยเบาหวาน สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง

DKA (ภาวะเลือดเป็นกรด) อาการ ความเสี่ยง การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา