backup og meta

อินซูลิน เบาหวาน คืออะไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/10/2022

    อินซูลิน เบาหวาน คืออะไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

    อินซูลิน และ เบาหวาน มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจาก อินซูลิน เป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากร่างกายผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้ออินซูลินคือร่างากายไม่สามารถตอบสนองอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ซึ่งนอกจากการปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเอง เช่น เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกาย เเล้ว การรับประทานยาลดระดับน้ำตาล หรือ ในบางรายที่จำเป็นต้องใช้ยาอินซูลิน ก็จะช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น

    อินซูลิน และ เบาหวาน คืออะไร

  • อินซูลินคือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตับอ่อน มีหน้าที่หลักในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอินซูลินจะช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ดึงนำตาลในกระเเสเลือดมาเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงาน และช่วยนำน้ำตาลบางส่วนมาสำรองเก็บไว้ที่ตับ ดังนั้น หากร่างกายผลิตอินซูลินลดลงหรือไม่เพียงพอจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและนำไปสู่ภาวะเบาหวาน
  • เบาหวานคือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ นับเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ๆ 2 ประการ คือเกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ลดลง หรือ ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้เซลล์ไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้ตามปกติ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อยๆ เเละ เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร สูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป จะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน
  • ความสัมพันธ์ของ อินซูลิน และ เบาหวาน

    อินซูลิน และ เบาหวาน มีความพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจาก อินซูลินมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนน้ำตาลจากอาหารที่บริโภคเข้าร่างกายให้เป็นพลังงาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้น หากร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอหรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เเละนำไปสู่การเป็นเบาหวาน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา เท้าชา ผิวหนังติดเชื้อ ไตวาย โรคปลายประสาทเสื่อม โรคหัวใจ ซึ่งจัดเป็นภาวะเเทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง เเต่หากผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี จนมีระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมาก เช่น สูงเกินกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะเเทรกซ้อนชนิดฉับพลันที่รุนเเรง กลไกคร่าว ๆ ของภาวะนี้เกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ จึงจำเป็นต้องเผาผลาญไขมันแทนและกระบวนการเผาผลาญไขมันนี้จะทำให้เกิดสารคีโตน (Ketones) ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อมีคีโตนสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะเลือดเป็นกรดตามมา และอาจส่งผลให้ระบบอวัยวะภายในอื่น ๆ ล้มเหลวและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

    สำหรับคุณเเม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้มีปัญหาในระหว่างการคลอดบุตร รวมทั่งส่งผลต่อสุขภาพของทารก เช่น ทารกเสียชีวิตหลังคลอด ทารกตัวโตทำให้คลอดยาก หัวใจพิการแต่กำเนิด ทารกเสียชีวิตหลังคลอด อีกทั้งภายหลังยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคอ้วนให้บุตรได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

    ดังนั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานเเล้ว หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน จึงควรหันมาดูเเลสุขภาพร่างกายให้ดี เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวและอาหารที่มีน้ำตาลสูงในปริมาณมาก เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว คุกกี้ เค้ก เยลลี่ ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ร่วมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30 นาที ซึ่งจะช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้นด้วย

    วิธีการใช้ อินซูลิน เพื่อช่วยควบคุม เบาหวาน

    การใช้อินซูลิน ในการรักษาโรคเบาหวาน เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 (ที่มีข้อจำกัดไม่สามารถใช้ยารับประทานได้ หรือ ใช้ยารับประทานเเล้วยังควบคุมไม่ได้) รวมถึงคุณเเม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยวิธีการฉีดอินซูลิน จะเป็นการฉีดเข้าสู่ชั้นไขมันใต้ผิวหนังที่บริเวณ หน้าท้อง ต้นขา สะโพก และท้องแขน ทั้งนี้ จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากคุณหมอก่อนใช้ เนื่องจากอินซูลินแต่ละชนิดมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาทีหลังจากฉีด และออกฤทธิ์นาน 3-5 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 5-15 นาที เหมาะสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน
  • อินซูลินออกฤทธิ์ปกติ/สั้น (Regular or Short-acting Insulin) จะเริมออกออกฤทธิ์หลังฉีดภายใน 30 นาที และออกฤทธิ์นานประมาณ 5-8 ชั่วโมง จีงควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที เเละ เหมาะสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารเช่นกัน
  • อินซูลินออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) ออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์นาน 10-12 ชัวโมง จีงสามารถฉีดวันละ 1-2 ครั้ง มักใช้ฉีดร่วมกับอินซูลินออกฤทธิ์สั้น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย
  • อินซูลินออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนาน 24 ชั่วโมง จึงใช้ฉีดเพียงวันละ 1 ครั้ง เเละอาจใช้ร่วมกับอินซูลินออกฤทธิ์เร็วหรือบางครั้งใช้ร่วมกับยาเม็ดลดน้ำตาลได้เช่นกัน
  • อินซูลินแบบผสม (Premixed Insulin) เป็นอินซูลินรวมที่ผสมระหว่างอินซูลิน 2 ชนิดได้เเก่ ชนิดออกฤทธิ์เร็วหรือสั้นร่วมกับชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งหลังมื้ออาหารและระหว่างวัน ซี่งมักมีสัดส่วนเป็นตัวเลขเช่น 50/50 75/25 70/30 พ่วงตามหลังชื่อ โดยอินซูลินเเบบผสมนี้มักใช้วันละสองครั้ง คือ ก่อนอาหารมื้อเช้า เเละก่อนอาหารมื้อเย็น
  • คำแนะนำการใช้อินซูลิน รักษาเบาหวาน

    การใช้อินซูลิน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และก่อนฉีดอินซูลินทุกครั้งควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ฉีดแอลกอฮอล์ก่อนเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ หากมีโรคประจำตัวอื่น ๆ รวมถึงคุณเเม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรเเจ้งให้คุณหมอทราบ เพื่อเลือกชนิดเเละปรับขนาดยาอินซูลินให้เหมาะสม

    อีกทั้งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานยังควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ที่อาจเป็นอาการเเสดงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น รู้สึกหิวมากผิดปกติ เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ใจสั่น รู้สึกชาอ่อนเพลีย ตาพร่า ควรรีบรับประทานน้ำหวาน ลูกอม เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกลับมาสู่เกณฑ์ปลอดภัย เเล้วควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม เเละปรับลดขนาดยาอินซูลิน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา