พฤติกรรมการกินอาหารในปัจจุบัน ที่ส่งเสริมรสชาติให้โดดเด่น แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้เช่นกัน การรับประทานอาหารที่มีปริมาณของโซเดียมสูงจึงเสี่ยงต่อโรคไต ส่วนการรับประทานอาหารที่หวานจะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยทั้ง 2 โรค ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ โดยเลือก อาหาร โรคไต เบาหวาน ที่ดีต่อสุขภาพและควบคุมโรคเอาไว้ได้
[embed-health-tool-bmi]
ลักษณะของโรคไต
โรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไต ส่งผลให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย การรักษาความสมดุลของเกลือ และน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง โรคที่เกิดขึ้นกับไตมีอยู่หลายประเภท ประกอบด้วย
- ไตวายฉับพลัน
- ไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดจากโรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไตอักเสบ
- โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคถุงน้ำที่ไต
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยครั้ง หรือเกิดจากการอุดตัน เช่น นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูกไปกดเบียดท่อไต
อาการของโรคไต
โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้นจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่จะพบเมื่อมีอาการไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง เมื่อป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว การทำงานของไตจะเสื่อมลงจนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย สำหรับอาการของโรคไตที่พบได้บ่อย ได้แก่
- มีอาการซีด
- เพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้
- ปัสสาวะสีหรือกลิ่นผิดปกติ
- ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
- ปวดศีรษะ
- ตรวจพบความดันโลหิตสูง
- ตัวบวม เท้าบวม
- ปวดหลัง และปวดบั้นเอว
ลักษณะของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ได้ อาหารที่รับประทานจึงถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคส ทำให้น้ำตาลที่ร่างกายนำไปใช้ไม่หมดนั้นสะสมอยู่ในกระแสเลือด มากเข้าก็จะออกมาในปัสสาวะ โดยปกติแล้วตับอ่อนในร่างกายจะสร้างฮอร์โมนอินซูลิน แต่ถ้าตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอ หรืออินซูลินมีน้อย ออกฤกธิ์ได้ไม่ดี ร่างกายก็จะใช้กลูโคสไม่ได้ เมื่อการเผาผลาญของร่างกายมีปัญหา จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดโรคเบาหวานได้
อาการของโรคเบาหวาน
- ผู้ที่สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคเบาหวาน สามารถสังเกตอาการเบื้องต้น ได้ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย หรืออาจมีมดขึ้นบนปัสสาวะได้
- กระหายน้ำบ่อยและดื่มน้ำมาก
- รู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักลดลง และผอมลง ทั้ง ๆ ที่รับประทานอาหารมาก
- อาการแทรกซ้อนของเบาหวานอื่น ๆ ได้แก่ ตาพร่ามัว ชาตามปลายมือ ปลายเท้า แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย
- อาจพบโรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ร่วมด้วย
อาหาร โรคไต เบาหวาน แบบไหนดีต่อสุขภาพและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
สำหรับ อาหารโรคไตเบาหวาน นั้น ควรเลือกอาหารให้หลากหลาย รับประทานอาหารให้เป็นเวลา โดยคำนึงถึงสัดส่วนและความสมดุลของสารอาหาร ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต : ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรรับประทานข้าวหรือแป้งที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ส่วนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 6 ทัพพีต่อวัน
- โปรตีน : ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรเลือกทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย ไม่ติดมันและหนัง เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว และเต้าหู้ ส่วนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 1-3 บริโภคอาหารกลุ่มโปรตีนไม่เกิน 7 ช้อนโต๊ะต่อวัน และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 4-5 ไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน ได้แก่ ไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อไก่ และเนื้อหมูไม่ติดมัน
- ผักและผลไม้ : ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรเลือกรับประทานผักต้มสุก เน้นผักใบเขียว หลีกเลี่ยงข้าวโพด เผือก มัน ฟักทอง เนื่องจากให้แป้งสูง และหลีกเลี่ยงผลไม้น้ำตาลสูง ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงผักและผลไม้ที่มีโพแตสเซียมและฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ แครอท บล็อกโคลี ถั่วฝักยาว ฟักทอง มะเขือเทศ แก้วมังกร มะละกอ น้ำส้มคั้น และน้ำผลไม้รวม ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ใจผัก และหน่อไม้หน่อไม้ฝรั่ง
นอกจากนี้ อาหาร โรคไต เบาหวาน ไม่ควรปรุงรส ควรควบคุมการบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม และดื่มน้ำ 1.5 ลิตรต่อวัน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเฉพาะบุคคล