backup og meta

ชาปลายนิ้วมือ เบาหวาน เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    ชาปลายนิ้วมือ เบาหวาน เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

    ชาปลายนิ้ว เบาหวาน เป็นภาวะเเทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ปล่อยให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง ส่งผลให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของมือและเท้าเสียหายทำให้มีอาการชาและสูญเสียการรับความรู้สึกที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือ ปวดแปล๊บคล้ายไฟช๊อต ได้เช่นกัน การรักษาภาวะนี้ จะเน้นที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย ร่วมกับ คุณหมออาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เเละให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

    ชาปลายนิ้ว เบาหวานเกิดจากอะไร

    ชาปลายนิ้ว เบาหวาน เป็นอาการที่เกิดจากภาวะปลายประสาทเสื่อม (Peripheral neuropathy) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี เกิดจากเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน น้ำตาลส่วนเกินจะทำลายหลอดเลือดและเส้นประสาท จึงส่งผลให้เส้นประสาทรับความรู้สึกเสียหาย โดยมักเริ่มมีอาการกับเส้นประสาทส่วนปลายก่อน ส่งผลให้สูญเสียการรับความรู้สึกบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า

    อาการชาปลายนิ้ว เบาหวาน เป็นอย่างไร

    อาการชาปลายนิ้ว เบาหวาน และอาการอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมากจากภาวะปลายประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน อาจมีดังนี้

  • รู้สึกเสียวแปล๊บ คล้ายไฟช๊อต หรือ และชาที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า
  • ปวดและไม่สบาย ที่ มือเเละเท้า โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  • มีแผลโดยไม่ทันรู้ตัว เนื่องจากการรับความรู้สึกผิดปกติไป จึงไม่รู้สึกเจ็บ/ปวด เมื่อมีแผล
  • รู้สึกปวดแสบ/ร้อนตามปลายมือ เท้า
  • การรับรู้อุณหภูมิ ร้อน-เย็น ผิดปกติไป
  • เวียนศีรษะขณะยืน หรือ เปลี่ยนท่าท่าว
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
  • ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการ ชาปลายนิ้ว เบาหวาน

    ผู้ป่วยโรคเบาหวานล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดอาการชาปลายนิ้วมือ เบาหวาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อไปนี้ เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเส้นประสาทเสียหายได้

    • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาโรคเบาหวานอย่างเหมาะสม หรือ ยังไม่ปรับพฤติกรรมสุขภาพของตนให้ดี อาจทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน รวมไปถึงอาการชาปลายนิ้ว เบาหวาน ได้
    • ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเส้นประสาทเสียหาย โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายของตัวเองได้
    • เป็นโรคไตจากโรคเบาหวาน หากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมอย่างเรื้อรัง นอกจากจะทำให้เส้นประสาทได้รับความเสียหายเเล้ว ยังทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม หรือ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ จีงนับเป็นการเพิ่มคสามเสี่ยงของอาการชาปลายนิ้วได้
    • มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีน้ำหนักเกินหรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไปอาจเสี่ยงเกิดอาการชาปลายนิ้ว เบาหวาน ได้
    • สูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่ส่งผลทำให้หลอดเลือดแดงตีบและหนาขึ้น ลือดจึงไปหล่อเลี้ยงมือและเท้าได้น้อยลง จึงทำให้ทั้งเนื้อเยื่อเเละเส้นประสาทส่วนปลายขาดเลือด จนเกิดอาการชาได้

    วิธีรักษาอาการ ชาปลายนิ้วมือ เบาหวาน

    หากเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวานแล้วจะไม่รักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือจึงมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการที่เป็นอยู่และป้องกันมิให้เกิดอาการเพิ่มเติม ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมถึงการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วด้วยตนเองเป็นประจำเพื่อให้ทราบถึงระดับน้ำตาลของตนในชีวิตประจำวัน ซึ่งบ่งบอกถึงว่า การปรับพฤติกรรมสุขภาพ เเละ ยารักษาโรคเบาหวาน นั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้อาการชาที่เป็นอยู่ดีขึ้นบางส่วน และป้องกันมิให้เส้นประสาทเสียหายเพิ่มเติมได้

    ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชา ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษา เเละ คำเเนะนำเพิ่มเติมในการดูเเลสุขภาพนอกจากนี้คุณหมออาจแนะนำให้ดูแลสุขภาพองค์รวม ควบคุมระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตร่วมด้วย รวมทั้ง คุณหมอยังอาจสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากเส้นประสาทเสื่อมให้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา