backup og meta

ลูกดิ้นน้อย เป็นเพราะอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    ลูกดิ้นน้อย เป็นเพราะอะไร

    ลูกดิ้นน้อย อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันไปหลายประการ เช่น ตำแหน่งของทารกอยู่ห่างจากส่วนหน้าของมดลูก ทำให้คุณแม่อาจสังเกตเห็นการเคลื่อนไหวของทารกได้ไม่ชัด หรืออาจอยู่ในช่วงใกล้คลอด ซึ่งทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นจนอาจทำให้ดิ้นได้น้อยลง หรืออาจเกิดจากปัญหาการตั้งครรภ์ เช่น ทารกเจริญเติบโตช้า ความผิดปกติของมดลูกและรก ทารกในครรภ์มีภาวะเครียดหรือสุขภาพมีปัญหา ซึ่งอาจต้องได้รับการตรวจสอบจากคุณหมอเพื่อความแน่ชัด

    การดิ้นของลูกเกิดขึ้นอย่างไร

    ทารกในครรภ์จะเริ่มดิ้นมากขึ้นซึ่งแสดงถึงพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารก คุณแม่อาจรู้สึกถึงการเตะ ต่อย กลิ้งตัวที่ชัดเจนและบ่อยขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 16-24 คุณแม่อาจสังเกตเห็นการดิ้นได้ง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนราบ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ทารกอาจดิ้นบ่อยขึ้นและแรงขึ้น บางครั้งเมื่อลูกตัวใหญ่ขึ้นอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บซี่โครงในขณะที่ลูกดิ้นได้

    สาเหตุที่ลูกดิ้นน้อย

    ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ดังนี้

    • ตำแหน่งของทารก หากทารกอยู่ไกลจากด้านหน้าของมดลูกหรือทารกหันหลังไปฝั่งตรงข้ามกับหน้าท้อง หรือรกเกาะทางด้านหน้าของมดลูก อาจทำให้คุณแม่สัมผัสถึงการเคลื่นไหวของทารกได้น้อยลง
    • อายุครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์ ทารกจะดิ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงเวลาคลอด แต่บางครั้งขนาดตัวของทารกที่ใหญ่อาจทำให้ทารกดิ้นได้น้อยลงเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด และทารกอาจเริ่มกลับหัวเพื่อเตรียมการคลอด
    • ความผิดปกติบางประการ อาจเป็นสัญญาณอาการป่วยของทารกในครรภ์ การเจริญเติบโตของทารกที่ช้าลง ความผิดปกติของรกหรือความผิดปกติของมดลูก ในบางกรณีสายสะดืออาจพันรอบคอทารก ความผิดปกติเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมจากคุณหมอ

    ควรทำอย่างไรถ้าลูกไม่ดิ้น

    คุณแม่ควรสังเกตรูปแบบการดิ้นของลูกในครรภ์อยู่เสมอ เพื่อติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

    อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์

    หากตั้งครรภ์แล้ว 24 สัปดาห์ แต่ยังไม่เห็นหรือสัมผัสได้ถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ หรือลูกดิ้นน้อยลงกว่าที่เคยเป็น ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อรับการอัลตราซาวด์และตรวจสุขภาพของทารก

    อายุครรภ์ระหว่างสัปดาห์ที่ 24-28

    หากลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง คุณหมอจะตรวจอย่างเต็มรูปแบบรวมถึงการตรวจขนาดมดลูก วัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะเพื่อหาโปรตีน หากพบว่ามดลูกมีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าปกติ คุณหมออาจสแกนอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์

    อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์

    หากลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น คุณแม่จะได้รับการตรวจหาการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ และอาจสแกนอัลตราซาวด์เพิ่มเติมหากคุณหมอพบความผิดปกติบางอย่าง เช่น มดลูกเล็กหรือใหญ่กว่าปกติ ลูกดิ้นน้อยลงมากหรือไม่ดิ้น มีความเสี่ยงแท้งบุตร รวมกับมีการตรวจสุขภาพของทารกโดยใช้เครื่อง CTG ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์และการหดตัวของมดลูก

    สำหรับการบันทึกการเคลื่อนไหวของทารก คุณแม่อาจนับการเคลื่อนไหวของทารกด้วยการนับ 10 โดยคุณแม่อาจอยู่ในท่านอนราบเพื่อให้สัมผัสกับการเคลื่อนไหวของลูกได้มากขึ้นและเริ่มนับการเคลื่อนไหวของทารก หากลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ในระยะเวลา 3-4 ชั่วโมง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา