เจ็บนม คัดเต้า เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายเพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารก โดยสังเกตได้จากสีผิวรอบหัวนมเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นและเต้านมขยาย คุณแม่สามารถรับมือกับอาการเจ็บนมได้โดยการสวมเสื้อชั้นในที่ลดการกดทับหน้าอก ประคบเย็น เป็นต้น
[embed-health-tool-due-date]
สาเหตุของอาการเจ็บนมขณะตั้งครรภ์
อาการเจ็บนมขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปที่เต้านมเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารก จนทำให้เกิดอาการคัดเต้า เต้านมขยายใหญ่ หัวนมเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น และเจ็บนมเมื่อสัมผัสหรือเสียดสี อาจมีอาการนานหลายสัปดาห์แล้วค่อยบรรเทาลง หรืออาจมีอาการยาวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงให้นมลูก
นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้เจ็บนม อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสุขภาพ ดังนี้
- เต้านมอักเสบ
- แรงกดทับจากการสวมเสื้อชั้นในที่มีโครง
- เคยกระดูกหักหรือซี่โครงอักเสบ
- ฝีที่เต้านม
- ซีสต์ที่เต้านม
- มะเร็งเต้านม
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) ที่ใช้เพื่อรักษาความผิดปกติทางจิต ยาออกซีเมโทโลน (Oxymetholone) ที่ใช้เพื่อรักษาภาวะโลหิตจาง ยาเมธิลโดปา (Methyldopa) ที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง
วิธีบรรเทาอาการเจ็บนม
วิธีบรรเทาอาการเจ็บนม อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หากอาการเจ็บนมไม่ดีขึ้นควรพบคุณหมอทันที
- สวมใส่เสื้อชั้นในที่สวมใส่สบาย หรือสปอร์ตบราแบบไร้โครง ที่โอบอุ้มเต้านมและกระชับ ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป เพื่อลดการกดทับ เนื่องจากขนาดหน้าอกที่ขยายใหญ่ขึ้นอาจทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส
- ประคบเย็นบริเวณเต้านมหรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด ๆ ประคบบริเวณหน้าอกไว้ ครั้งละ 15 นาที ทุก ๆ ชั่วโมง เพื่อช่วยให้หลอดเลือดบริเวณนั้นหดตัวลง และชะลอการไหลเวียนของเลือด ช่วยบรรเทาอาการอักเสบคัดตึง ลดอาการเจ็บนม
สำหรับหญิงที่ให้นมบุตรแล้วมีอาการเจ็บคัดเต้านมสามารถปั๊มนมออกมาแช่เก็บไว้ หรือให้ทารกกินนมจากเต้าบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก ๆ 2-3 ชั่วโม เพื่อช่วยลดปริมาณของน้ำนมภายในเต้านม หรือถ้ามีก้อนที่เต้านมแล้วมีอาการปวด อาจต้องระวังการอักเสบ หรือฝีหนองที่เต้านมด้วย
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
ควรพบคุณหมอทันทีหากสังเกตว่ามีอาการเจ็บนมอย่างรุนแรง สัมผัสพบก้อนแข็งใต้นม หรือก้อนใหญ่ในเต้านม หัวนมแบน ที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือท่อน้ำนมอุดตัน เพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป