ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงของเด็กส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรมและฮอร์โมนในร่างกาย เด็กมักหยุดสูงเมื่อสิ้นสุดช่วงวัยรุ่น หรือในช่วงอายุประมาณ 18-20 ปี จึงควรศึกษา วิธีเพิ่มความสูง ของเด็กเพื่อช่วยให้เด็กเติบโตและมีส่วนสูงที่เหมาะสมตามวัย ทั้งนี้ ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ความสูงของเด็กจะมีพัฒนาการก้าวกระโดดที่สุดและเป็นช่วงวัยที่สามารถเพิ่มความสูงด้วยวิธีต่าง ๆ ได้ เช่น ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อและกระดูก รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มนมเป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กมีส่วนสูงไม่สมวัย ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัยอาการ สาเหตุ และหาวิธีแก้ไขได้อย่างตรงจุดที่สุด
ปัจจัยที่มีผลต่อความสูง
ปัจจัยที่มีผลต่อความสูง อาจมีดังนี้
พันธุกรรม
เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อความสูงของเด็ก ส่วนใหญ่แล้ว ความสูงของเด็กขึ้นอยู่กับยีนที่ได้รับจากพ่อแม่ หากพ่อแม่สูงทั้งคู่ โอกาสที่เด็กจะมีส่วนสูงใกล้เคียงกับพ่อแม่ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความสูงของเด็กอาจแตกต่างจากพ่อแม่เป็นอย่างมากก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน และแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีคาดคะเนส่วนสูงของเด็กในอนาคตด้วยตัวเองได้อย่างแม่นยำ สูตรคำนวณความสูงพื้นฐาน ดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้ทราบส่วนสูงสุดท้ายคร่าว ๆ ของเด็ก เมื่อถึงวัยหยุดสูง หรือเมื่ออายุประมาณ 18-20 ปี และอาจช่วยให้สังเกตเห็นความผิดปกติด้านความสูงของเด็กได้ด้วย
- สำหรับเด็กผู้ชาย คือ (ความสูงของพ่อ + ความสูงของแม่ + 13) แล้วหารด้วย 2 จะได้ส่วนสูงสุดท้ายคร่าว ๆ ของเด็กผู้ชาย ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงบวกลบ 7-9 เซนติเมตร
- สำหรับเด็กผู้หญิง คือ (ความสูงของพ่อ + ความสูงของแม่ – 13) แล้วหารด้วย 2 จะได้ส่วนสูงสุดท้ายคร่าว ๆ ของเด็กผู้หญิง ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงบวกลบ 7-9 เซนติเมตร
อย่างไรก็ตาม หากต้องการทราบส่วนสูงที่แม่นยำและคลาดเคลื่อนน้อยกว่า อาจไปพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม เพื่อให้นำความสูงจากพันธุกรรมของพ่อแม่ มาคำนวณร่วมกับกราฟมาตรฐานของการเจริญเติบโตตามวัยของเด็กและภาพถ่ายเอกซเรย์กระดูกมือของเด็ก เพื่อให้ได้ค่าความสูงที่เป็นไปได้และใกล้เคียงความสูงสุดท้ายมากที่สุด
ฮอร์โมนในร่างกาย
ฮอร์โมนในร่างกายที่ส่งผลต่อความสูงของเด็กอาจมีดังนี้
- โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ฮอร์โมนที่ผลิตมาจากต่อมใต้สมอง เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของเด็ก หากร่างกายของเด็กหลั่งโกรทฮอร์โมนอย่างเป็นปกติ จะช่วยเพิ่มความสูงและช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ เติบโตไปตามช่วงวัยที่เหมาะสม มักจะทำงานในช่วงที่ร่างกายพักผ่อนในเวลากลางคืน
- ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormones) มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย และช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของกระดูก เมื่อร่างกายหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนตามปกติ จะช่วยให้เด็กมีส่วนสูงตามวัย
- ฮอร์โมนเพศ (Sex hormones) ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กในช่วงวัยเข้าสู่วัยรุ่นเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกาย เช่น ความสูง
วิธีเพิ่มความสูง ให้กับเด็กวัยกำลังโต
การเพิ่มความสูงให้กับเด็กวัยกำลังโต อาจทำได้ดังนี้
รับประทานอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน
โภชนาการที่ดีส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กเป็นอย่างมาก เด็กควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน อาหารไขมันสูง ผู้ที่ต้องการเพิ่มความสูงควรเน้นรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มาจากผักและผลไม้ เช่น ฟักทอง ผักบุ้ง ผักคะน้า กล้วย แอปเปิ้ล มะละกอ นอกจากนี้ ยังควรเสริมแคลเซียมให้กับเด็กเป็นประจำ ด้วยอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง โดยควรให้เด็กดื่มนมเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและช่วยให้กระดูกขยายตัว อย่างไรก็ตาม หากเด็กไม่สามารถบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมได้ ก็สามารถรับประทานอาหารที่มีไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและเพิ่มมวลของกระดูกได้เช่นกัน สารนี้พบได้ในผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง
นอนหลับให้เพียงพอ
ควรดูแลให้เด็กเข้านอนเป็นเวลาและนอนหลับอย่างเพียงพอ โดยจัดเตรียมห้องนอนของเด็กให้มีบรรยากาศเหมาะสมกับการนอนหลับพักผ่อน หรี่ไฟให้สลัวเมื่อถึงเวลาเข้านอน และอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อให้เด็กสามารถนอนได้สนิทตลอดทั้งคืนโดยไม่มีสิ่งรบกวน การนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยให้โกรทฮอร์โมนหลั่งอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กระตุ้นให้ร่างกายเจริญเติบโตและเพิ่มความสูงได้อย่างเต็มที่ ชั่วโมงในการนอนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย มีดังต่อไปนี้
- เด็ก 1-3 ขวบ ควรนอนประมาณ 12-14 ชั่วโมง/วัน
- เด็กวัย 3–6 ขวบ ควรนอนประมาณ 10-12 ชั่วโมง/วัน
- เด็กวัย 7– 12 ขวบ ควรนอนประมาณ 10-11 ชั่วโมง/วัน
- เด็กวัย 12– 18 ขวบ ควรนอนประมาณ 8-9 ชั่วโมง/วัน
ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้เลือดนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเป็นปกติ ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมอง ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ทั้งยังช่วยเสริมการทำงานของระบบขับถ่าย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำปริมาณน้ำที่ควรบริโภคสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย ดังต่อไปนี้
- เด็กเล็ก ควรดื่มน้ำหรือของเหลว (รวมนมด้วย) อย่างน้อย 1.3 ลิตร หรือ 5 แก้ว/วัน
- เด็กอายุ 3-8 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อย 1.7 ลิตร หรือ 6-7 แก้ว/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อย 2.1-2.4 ลิตร หรือ 9 แก้ว/วัน
- เด็กอายุ 14-18 ปี ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อย 3.3 ลิตร หรือ 13 แก้ว/วัน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและช่วยบริหารกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายแบบ Stretching (ยืดกล้ามเนื้อ) จะช่วยให้กระดูกสันหลังและกระดูกอ่อนตามส่วนต่าง ๆ ของเด็กยืดออกได้มากขึ้น เช่น การเล่นโยคะ การว่ายน้ำ การโหนบาร์ การกระโดดเชือก เมื่อเด็กออกกำลังกายในรูปแบบเหล่านี้เป็นประจำอาจช่วยเพิ่มความสูงให้เด็กได้ การออกกำลังกายที่มีแรงต่อข้อต่อ เช่น กีฬาที่มีการกระโดด ก็ช่วยกระตุ้นการยืดตัวของกระดูกชนิดยาว (long bone) ได้ดีเช่นกัน
[embed-health-tool-vaccination-tool]