ยาคุม เป็นยาเม็ดรับประทานช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ หากรับประทานยาอย่างถูกต้องอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ยังไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ 100% และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานยาคุมควรทราบถึงข้อดี และ ผลข้างเคียงของยาคุม เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจรับประทาน
[embed-health-tool-ovulation]
ยาคุม คืออะไร
ยาคุม คือ ยาคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ยาคุมกำเนิดแบบผสม ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestins) ส่วนยาคุมแบบมินิพิล (Minipill) จะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสตินเท่านั้น และมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่ายาคุมกำเนิดแบบผสม โดยยาคุมกำเนิดแต่ละชนิดอาจมีรูปแบบ และวิธีการรับประทานแตกต่างกัน เช่น ยาคุมบางชุดอาจมีทั้งแบบ 21 และ 28 เม็ด ประกอบด้วยยาออกฤทธิ์ 21 เม็ด แต่สำหรับชุดยา 28 เม็ด อาจมียาหลอกร่วมประมาณ 7 เม็ด
การรับประทานยาคุมกำเนิดควรรับประทานวันแรกที่รอบเดือนมา วันละ 1 เม็ด และรับประทานในช่วงเวลาที่ตรงกันทุกวัน เพื่อง่ายต่อการจดจำ หากกรณีลืมรับประทานให้รีบรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากลืมรับประทานยาคุมจนเข้าสู่วันที่ 2 ควรรับประทาน 2 เม็ดทั้งในวันที่จำได้ และในวันถัดไป ก่อนจะกลับเข้าสู่การรับประทานวันละ 1 เม็ดดังเดิม หากนานกว่า 2 วันไปแล้ว ควรทิ้งยาชุดเก่า และเริ่มรับประทานยาคุมแผงใหม่แทน หรืออาจเข้าขอรับคำปรึกษาจากคุณหมออีกครั้งก่อนเริ่มรับประทาน
ยาคุมกำเนิดไม่เหมาะกับใคร
ผู้หญิงส่วนใหญ่อาจรับประทานยาคุมกำเนิดได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไมเกรน โรคหัวใจ โรคตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก อาจขอคำปรึกษาจากคุณหมอถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม เพราะโรคเหล่านี้อาจเกิดปฏิกิริยากับยาคุมได้
ข้อดีของยาคุม
ข้อดึของยาคุมมีหลายประการด้วยกัน ดังนี้
- ป้องกันการตั้งครรภ์
โดยปกติแล้วหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ป้องกันด้วยวิธีใส่ถุงยางอนามัย ผู้ชายจะหลั่งอสุจิออกมาซึ่งอสุจินี้จะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ด้านในมดลูก และพัฒนาเป็นทารกตามระยะเวลา แต่หากรับประทานยาคุมกำเนิดถูกวิธียาคุมกำเนิดอาจทำให้มดลูกหนา จนอสุจิผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก
- รักษาสิว
ยาคุมกำเนิดบางชนิดอาจชะลอต่อมผลิตน้ำมันบนใบหน้า ที่เป็นสาเหตุให้หน้ามันและเป็นสิว แต่หากใช้ยาคุมสำหรับการรักษาสิวนี้ ควรปรึกษาคุณหมอถึงการรักษาสิวโดยตรง เพราะอาจมีวิธีอื่น ๆ ที่คุณหมอแนะนำให้ทำควบคู่กับการรับประทานยาคุม เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาล เป็นต้น
- หน้าอกขยาย
เนื่องจาก ยาคุมมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินซึ่งเป็นส่วนประกอบภายในเม็ดยา ทำให้เมื่อรับประทานยาคุมเข้าไปอาจเกิดการสะสมของเหลวในเต้านม และทำให้เนื้อเยื่อเต้านมเจริญเติบโต แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากเลิกรับประทานยาคุม อาจทำให้หน้าอกกลับมามีขนาดดังเดิม
ผลข้างเคียงของยาคุม
ผลข้างเคียงของยาคุม ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้
- คลื่นไส้ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เมื่อรับประทานยาคุมกำเนิดครั้งแรก แต่โดยปกติอาการเหล่านี้อาจหายเองได้ หากยังมีอาการคลื่นไส้ตลอดเวลา หรือเป็นเวลานานหลายเดือน ควรเข้าพบคุณหมอทันที
- ปวดศีรษะเป็นไมเกรน ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในยาคุมกำเนิดอาจเข้าไปกระตุ้นอาการปวดศีรษะ และทำให้เป็นไมเกรนได้
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากการรับประทานยาคุมอาจทำให้กระจกตาหนาขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
- เจ็บเต้านม การรับประทานยาคุมอาจทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก หรือทำให้หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น หากมีอาการดังกล่าวควรปรับพฤติกรรมด้วยการเลือกสวมใส่เสื้อชั้นในที่ลดการกดหน้าอก และสังเกตหน้าอกของตัวเอง หากมีการเปลี่ยนเป็นก้อนในเต้านม หรือมีอาการปวดรุนแรงควรเข้าพบคุณหมอในทันที
- น้ำหนักเพิ่ม ยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยันได้ว่ายาคุมกำเนิดอาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม แต่ตามกระบวนการทำงานของยาคุมแล้ว ยาคุมกำเนิดอาจทำให้มีการสะสมของเหลวในร่างกายมากขึ้น รวมถึงไขมันและมวลกล้ามเนื้อที่อาจเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
- อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนในยาคุมกำเนิดอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า
- ประจำเดือนขาด การรับประทานยาคุมกำเนิดอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ หรือประจำเดือนขาด และอาจก่อให้เกิดความเครียด ความกังวลใจถึงการตั้งครรภ์ หากสังเกตตัวเองว่าประจำเดือนมาช้าจนเกินไป อาจเข้ารับการทดสอบการตั้งครรภ์ หรือพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา
- ประจำเดือนกะปริบกะปรอย เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานยาคุมกำเนิด เนื่องจากร่างกายกำลังปรับฮอร์โมน ซึ่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวันอาจลดความเสี่ยงประจำเดือนกะปริบกะปรอยได้
- ตกขาว ปริมาณของตกขาวอาจเพิ่มขึ้น หรือลดลง ซึ่งอาจไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากตกขาวมีกลิ่นหรือมีตกขาวมีสีเหลือง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการรักษา
- อารมณ์ทางเพศลดลง ยาคุมกำเนิดอาจทำให้อารมณ์ทางเพศลดลง เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในยาคุม