backup og meta

กินยาคุมมีโอกาสท้องไหม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    กินยาคุมมีโอกาสท้องไหม

    กินยาคุมมีโอกาสท้องไหม ผู้หญิงหลายคนที่กินยาคุมแล้วมีเพศสัมพันธ์ อาจยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาคุมในการป้องกันการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การกินยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดแต่ละชนิดอาจมีปริมาณฮอร์โมนที่ไม่เท่ากัน มีวิธีการกินต่างกัน และอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดแตกต่างกันไปในแต่ละคน นอกจากนี้ยังอาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง เช่น กินยาไม่ถูกต้อง ลืมกินยาหรือกินผิดเวลา อาเจียนหรือท้องเสีย การใช้ยาและสมุนไพรบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    กินยาคุมมีโอกาสท้องไหม

    การกินยาคุมกำเนิดอาจยังมีโอกาสท้องได้ หากกินไม่ถูกวิธี เช่น กินยาไม่ตรงเวลา ลืมกินยา กินยาไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเลือกกินยาคุมกำเนิดให้เหมาะสมกับตัวเองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เนื่องจาก ยาคุมกำเนิดแต่ละชนิดมีปริมาณฮอร์โมนไม่เท่ากัน จึงอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน ดังนั้น ก่อนกินยาคุมควรศึกษาถึงข้อจำกัดในการใช้ฮอร์โมน ภาวะสุขภาพของตัวเอง โรคประจำตัว ระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด รวมถึงยาหรือสมุนไพรที่กำลังกินอยู่ โดยอาจเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ

    ประเภทของยาคุมกำเนิด

    ยาคุมกำเนิดมีทั้งชนิดฮอร์โมนรวมและฮอร์โมนเดี่ยว ดังนี้

    • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สังเคราะห์ โดย 1 แผง จะมีทั้งหมด 21 หรือ 28 เม็ด ซึ่งต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
    • ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) เพียงชนิดเดียว เหมาะกับผู้ที่มีอาการแพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน โดย 1 แผงจะมีทั้งหมด 28 เม็ด ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
    • ยาคุมฉุกเฉิน ใช้สำหรับการคุมกำเนิดในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ลืมกินยาคุมกำเนิดแบบปกติ สามารถใช้คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อใช้อย่างถูกต้อง โดยควรกินยาคุมฉุกเฉินทันทีหรือไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

    ยาคุมกำเนิดมีความปลอดภัยและสามารถใช้คุมกำเนิดได้มีประสิทธิภาพเมื่อใช้อย่างถูกต้อง แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ในขณะเดียวกันหากใช้ยาคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง เช่น ลืมกินยา กินยาผิดเวลา อาจทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ในระหว่างนี้จึงควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์จนกว่าจะเริ่มยาแผงใหม่

    สาเหตุที่กินยาคุมแล้วตั้งท้อง

    ยาคุมกำเนิดอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่อาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้ยาคุมกำเนิดไม่ได้ผล ดังนี้

    • การเริ่มต้นกินยาไม่ถูกต้อง ผู้หญิงหลายคนอาจเริ่มกินยาผิดวันหรือไม่เข้าใจในขั้นตอนการกินยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง จึงอาจทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิด โดยควรเริ่มกินยาคุมกำเนิดเม็ดแรกในวันที่ประจำเดือนมาวันแรกหรือไม่เกิน 5 วัน นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือน และควรรออย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้ยาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยาง สำหรับยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ดเมื่อกินครบแล้วให้หยุดกินไป 7 วัน และเริ่มแผงใหม่ในวันที่ 8 ส่วนยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ด สามารถกินต่อเนื่องได้เลยโดยไม่ต้องหยุดยา
    • การลืมกินยา การลืมกินยาคุมกำเนิดเพียงแค่เม็ดเดียวก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ลดลงและเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น หากลืมกินยาคุมกำเนิดหรือกินยาผิดเวลา ให้กินยาทันทีที่นึกได้และกินยาเม็ดต่อไปตามเวลาปกติ แต่หากลืมกินยาคุมกำเนิดนานกว่า 3 วันขึ้นไป ควรหยุดใช้ยาแผงนั้น และควรใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์จนกว่าจะมีรอบเดือนมา แล้วค่อยเริ่มยาแผงใหม่
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะไม่ลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ขาดสติจนลืมกินยาคุมกำเนิดได้ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะหากอาเจียนหลังจากกินยาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง อาจทำให้ยาคุมกำเนิดออกมาพร้อมกับอาเจียนได้ นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อกระบวนการดูดซึมของร่างกายทำให้ร่างกายดูดซึมยาคุมกำเนิดได้ช้าลง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด
    • การใช้ยาและสมุนไพรบางชนิด เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยารักษาซึมเศร้า ยารักษาโรคลมบ้าหมู ยาต้านไวรัสเอชไอวี อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดและทำให้ประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น ก่อนจะกินยาหรือสมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกายหรือรักษาโรค ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ เพื่อเลือกชนิดยาที่ไม่กระทบต่อประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด
    • การอาเจียนหรือท้องเสียที่เกิดขึ้นนานกว่า 48 ชั่วโมง เนื่องจากยาคุมกำเนิดอาจยังไม่ดูดซึมเข้าร่างกายอย่างเต็มที่แต่ถูกขับออกมาทางอุจจาระหรือการอาเจียน อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาในการคุมกำเนิดลดลงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา